เปิดวิสัยทัศน์ อธิบดีสมชาย เจริญอำนวยสุข กับภารกิจในกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

Read Time:6 Minute, 54 Second

owf

กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ ที่มีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพสตรี ส่งเสริมความเสมอภาคหญิงและชาย และการสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว เป็นหน่วยงานหลักระดับชาติที่ต้องรับผิดชอบภารกิจดังกล่าวทั้งในการกำหนดนโยบายและแผนไปจนถึงการดูแล ประสานงาน และลงมือปฏิบัติ โดยสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เน้นการทำงานสร้างมาตรฐานและประสานความร่วมมือ

 

สิ่งที่ผมถือเป็นนโยบายสำคัญคือการพัฒนาคน
CIMG0164

สมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เปลี่ยนผ่านมาเป็นกรมทำให้การทำงานของสค.ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ตอนเป็นสำนักงานจะดูแลในเชิงวิชาการเป็นหลัก เป็นผู้กำหนดแผนนโยบาย และประสานงานให้คนอื่นทำ เราทำบ้างแค่นำร่องก่อนแล้วให้เขานำไปทำต่อขยายผล เมื่อเปลี่ยนมาเป็นกรมแล้วเรามีงานปฏิบัติอยู่ในเนื้องานเลย อาทิเช่น ศูนย์ฝึกอาชีพสตรี เปลี่ยนเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว นอกจากทำงานด้านฝึกอาชีพสตรีแล้วก็เพิ่มงานด้านครอบครัวเข้าไปด้วย คือไม่ทิ้งงานเดิม แต่มีงานใหม่เพิ่ม เราจึงต้องให้ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเขาเคยทำแต่ปฏิบัติ เราทำแต่วิชาการ ฉะนั้นต้องให้ความรู้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกันตรงกลาง โดยพยายามพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ จูนความรู้อบรมเข้าด้วยกัน เราจะทำเรื่อยๆ เพื่อสร้างความรู้ เพราะคนคือเครื่องจักรสำคัญ “สิ่งที่ผมถือเป็นนโยบายสำคัญคือเรื่องการพัฒนาคน” ถ้าคนไม่มีศักยภาพไม่มีประสิทธิภาพแล้วทำอะไรก็ไม่ก้าวหน้า ทุกอย่างอยู่ที่คน
ดังนั้นเราต้องพัฒนาคนของเรา นโยบายของ สค.คือ “ทำคนให้มีศักยภาพ ทำสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงาน และเครื่องมือเครื่องใช้ต้องอำนวยความสะดวกแก่คนทำงานได้อย่างเต็มที่” บุคลากรของ สค.ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งหมดนี้ต้องไปด้วยกัน เมื่อเราเพิ่มจำนวนข้าราชการไม่ได้ ไม่สามารถเพิ่มคน แต่สามารถเพิ่มอุปกรณ์ช่วยเราได้ เพราะฉะนั้นตัวช่วยที่ดีที่สุดคือพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่นการประชุมทางไกล การเวียนหนังสือทางอิเล็กทรอนิกส์ สั่งการผ่านทางไลน์ เมลล์ หรือเฟสบุ๊ค ผมไม่ยึดรูปแบบ แต่ยึดสาระเอาความรวดเร็วและถูกต้อง การใช้ไลน์รวดเร็วและถูกต้องเพราะว่ามีหลักฐาน เวลาส่งข้อมูลปรากฏเป็นหลักฐานอยู่แล้ว เครื่องของตัวเองลบได้แต่เครื่องของคนอื่นเราลบไม่ได้ ผมมีระบบทะเบียนประวัติ ระบบทะเบียนข้อมูลต่างๆ เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ผมใช้อิเล็กทรอนิกส์ทำหมด หรือระบบเวลาการทำงาน สค.ใช้แสกนนิ้วมือ เพื่อไม่ต้องมีคนมาคอยสำรวจ อิเล็กทรอนิกส์ไม่หลอกเราแต่ต้องมีระบบดีๆ สค.ใช้ระบบคีย์การ์ดเข้าห้องทุกห้อง เรื่องความปลอดภัยเป็นจุดประสงค์หนึ่งแต่ไม่ใช่อย่างเดียว การเตรียมความพร้อมคนในอนาคตเป็นเรื่องสำคัญกว่า ต้องเตรียมการสำหรับราชการรุ่นใหม่ในอนาคตจะได้คุ้นเคย เพราะทั่วโลกเขาพัฒนากันไปแล้ว ดังนั้นทุกหน่วยงานรัฐราชการต้องพัฒนาไปสู่จุดนี้

ความเสมอภาคและโอกาสเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับการพัฒนาคนในสังคม สค.ดูกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม คือสตรีและครอบครัว สตรีต้องมีศักยภาพ มีความเสมอภาค มีโอกาสในการเข้าถึงบริการทั้งหมดทุกคน ฉะนั้นความเสมอภาคและโอกาสเป็นเรื่องสำคัญ สค.มีหน้าที่สร้างโอกาสให้สตรี และพัฒนาศักยภาพ ถ้าเขามีโอกาสแต่ไม่มีศักยภาพก็เข้าไม่ถึงขณะเดียวกันเขามีศักยภาพแต่ไม่มีโอกาสก็เข้าไม่ถึง ฉะนั้นต้องมีสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกันมายืนยันว่าเขามีสิทธิ ฉะนั้นการพัฒนาคนในสังคมต้องมีกฎหมายรองรับ สค.ทำเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศเป็นเรื่องที่สตรีหรือบุรุษทุกคนควรจะได้ สค.ถือว่าเป็นความสำเร็จค่อนข้างสูงสุดชิ้นหนึ่งในเรื่องการผลักดันให้มีกฎหมายเท่าเทียมกันระหว่างเพศเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการไม่ล่วงละเมิดทางเพศ “เซ็กส์ชวล ฮะราสเมนท์” (Sexual Harassment) ที่ยังไม่ถึงขั้นผิดกฏหมาย ปัญหานี้เกิดขึ้นกับทั้งเด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย และเพศที่สาม ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่ชอบแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรพูดอย่างไร เช่น เพื่อนสนิทกันหรือผู้ใหญ่ไปแตะเนื้อต้องตัวหรือทำพฤติกรรมเอ็นดูที่ไม่เหมาะสม เรื่องเหล่านี้สังคมเราไม่เคยพูดถึง ไม่เคยมีมาตรฐาน เราพยายามทำมาตรฐานเหล่านี้ให้มีขึ้นในสังคมไทย ขณะนี้ทำสำเร็จแล้วจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กันยายน 2558 แต่ต้องผลักดันต่อไปอีก เพราะครม.ผ่านเห็นชอบบังคับใช้กับข้าราชการเท่านั้น ยังไม่ทั่วไป นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ยกตัวอย่างมา

CIMG0160การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทำให้งานบรรลุผล

ส่วนเรื่องครอบครัว สถานการณ์ครอบครัวไทยจากอดีตสู่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หลายคนบอกว่าวิกฤตเป็นยุคเสื่อมสลายของครอบครัวไทย แต่ผมมองว่าบนความเสื่อมสลายนั้นมีโอกาส คือ ขณะนี้เรามีข้อมูลเรื่องความรุนแรงในครอบครัวค่อนข้างชัดเจน ได้รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไรตรงไหนอย่างไร ทำให้เราสามารถจะเข้าไปจัดการกับปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น เพราะเรื่องในครอบครัวไม่มีใครอยากเปิดเผย เราทราบปัญหาเพราะคนเขาเริ่มไว้ใจถึงมาบอก ยอมเปิดเผย นี่แหละเป็นโอกาสให้เราทำอะไรได้หลายๆ เรื่อง เช่น กฎหมายที่เราเป็นเจ้าภาพ เป็นผู้รับผิดชอบ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ทุกคนบ่นว่ากฎหมายฉบับนี้ยากไม่เข้าใจ ผมบอกว่าคนที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีพนักงานเจ้าหน้าที่นักฎหมายตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยให้กฎหมายฉบับนี้เป็นผลออกมาได้ 3 คนนี้ต้องเข้าใจกฎหมายเป็นอย่างดี ขณะนี้อัยการใหม่ทุกคน ตำรวจตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนขึ้นไปต้องอบรมเรื่องความรุนแรงในครอบครัว สำนักงานตำรวจแห่งชาติผลิตพนักงานสอบสวนหญิงให้เราปีละห้าสิบหกสิบคน เดี๋ยวนี้เราทำ MOU กับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีเจ้าหน้าที่ของเราไปนั่งที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้คำปรึกษาช่วยเหลือดูแลความในครอบครัว หรือช่วยยื่นคำร้องขอคุ้มครองตามกฎหมายได้ทันที ความร่วมมือลักษณะนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์มากๆ One Stop Service เกิดขึ้นตรงนี้แต่ยังไม่ทั่วถึงมีแค่ในกทม.และส่วนกลาง เราต้องการขยายไปทุกจังหวัด แต่ต้องทำให้เห็นก่อนว่าทำได้และทำได้ดี ผมว่าการสร้างเครือข่ายความร่วมมือลักษณะนี้ ทำให้งานบรรลุผล เป็นงานที่ผมค่อนข้างภูมิใจ เป็นการทำงานเชิงรุกที่เราสามารถประสานความร่วมมือระหว่างตำรวจ อัยการ ศาลมารับรู้เรื่องความรุนแรงในครอบครัว เพราะคดีครอบครัวไม่เหมือนคดีทั่วไปต้องการผู้รู้จริง ระบบแบบนี้เป็นการเอื้อให้ประชาชนได้ประโยชน์

ดังนั้น สค.พยายามทำเรื่องทัศนคติระหว่างเพศให้มีทัศนคติที่ดี ที่ถูกต้อง ซึ่งความแตกต่างระหว่างเพศไม่ได้ทำให้สังคมแย่หรือดีขึ้น เพียงไม่ทำร้ายสังคม ทำประโยชน์ให้สังคมได้ และทัศนคติที่ว่าเธอเป็นช้างเท้าหลัง ฉันเป็นช้างเท้าหน้า เธอต้องอยู่ในครัว อยากให้ความคิดนี้หมดไปด้วย ความรุนแรงต่อผู้หญิง ต่อเด็ก ความรุนแรงในครอบครัวอาจจะลดน้อยลง เพราะคนคิดว่ามีความเท่าเทียมกันนึกถึงสิทธิมนุษยชนก็จะไม่ทำความรุนแรงต่อกัน

เรื่องล่าสุด การลดหนี้สินครัวเรือน อาจจะไม่ใช่ความรับผิดชอบโดยตรงของ สค. แต่ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยปัญหาเรื่องครอบครัวพบว่า เรื่องหนี้สินมาอันดับหนึ่ง ดังนั้น สค.จะทำอย่างไรให้ครอบครัวที่เราดูแลลดหนี้สินลงไป การลดหนี้สินครัวเรือนมีหลายวิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และทำแล้วได้ผล เราได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทีมวิทยากรหนี้สินครัวเรือนของแบ็งก์ชาติเข้ามาช่วย เราได้ทีมผู้รู้ในเรื่องการฝึกอาชีพ และอาชีพใหม่ๆ ที่สตรีควรจะรวมกลุ่มทำกัน ทำเรื่อง SME ผู้ประกอบการผู้หญิงโดยเฉพาะการเข้าสู่การเป็นอาเซียน พยายามสอนให้เขาได้รู้วิธีการขายทางอินเตอร์เน็ต ออนไลน์ และการทำแพ็กเกจ การสร้างแบรนด์ โดยมีภาคเอกชน เช่น ค่ายพีแอนด์จี ช่วยทำในเรื่องการหาตลาด ซึ่งขณะนี้ผู้หญิงไทยมีธุรกิจที่ขายทางออนไลน์ ส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมากขึ้น การทำงานลักษณะร่วมมือกันแบบนี้เราภูมิใจที่สามารถนำความร่วมมือภาคต่างๆ มาร่วมงานกัน

ปัจจุบันการพัฒนาศักยภาพสตรีและการดูแลครอบครัวได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายๆฝ่ายทังภาครัฐและเอกชน เพราะในอดีตภาพลักษณ์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกรมประชาสงเคราะห์แบบพี่มีแต่ให้คือทำงานเชิงรับ จัดสวัสดิการให้อย่างเดียว ซึ่งผมมองว่าคนเรามีสองมือ มือหนึ่งไปรับเขามา มือหนึ่งก็ต้องให้เขาด้วย มือหนึ่งให้เขามือหนึ่งก็ต้องไปแสวงหาเพื่อที่จะไม่ต้องให้เขามารับบ่อยๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ สค.ทำจะเห็นว่าเราทำงานเชิงรุก ไม่ได้ทำงานสงเคราะห์อย่างเดียว เราทำงานเชิงสร้างมาตรฐานเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคนในสังคมบนสิทธิพื้นฐานความเท่าเที่ยมกัน

Previous post กิจกรรมเฉลิมฉลอง ครบรอบ ๑๕๐ ปี การสถาปนาเมืองมหาสารคาม
Next post ศรีสะเกษ ดินแดนมหัศจรรย์ เปิด”เมืองใหม่ช่องสะงำ”
Social profiles