ร่วมสัมผัสมนต์เสน่ห์วิถี “น่าน”

Read Time:6 Minute, 23 Second

โครงการพัฒนาย่านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดย ททท. จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการคือสร้างและกระตุ้นการตลาดของ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทยให้เติบโต เพราะการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพ ที่กระตุ้นให้ เกิดการสร้างรายได้สู่ชุมชนในประเทศไทย โดยโครงการ Creative Tourism District จะสร้างต้นแบบทางการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ โดยเน้นการมีส่วนร่วมทางความคิดของภาคีสำคัญ คือคนในท้องถิ่น นักการตลาด และนักท่องเที่ยวเป้าหมาย โดยในปีพ.ศ.2560 นี้ ททท.ได้เลือกจังหวัดน่านเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาโครงการ และมีเป้าประสงค์จะขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไปในปี 2561 ตามบริบทของจังหวัดนั้น ๆ

โครงการ Creative Tourism District เป็นโครงการที่สร้างการเรียนรู้เพื่อให้เห็นคุณค่าของทุนวัฒนธรรมและฐาน ทรัพยากร ที่มีอยู่มานําเสนอให้น่าสนใจตอบโจทย์นักท่องเที่ยว โดย ททท เชื่อว่าการนําเสนอการท่องเที่ยวในรูปแบบของ Creative Tourism จะเป็นการส่งเสริมและนําเสนอคุณค่าใหม่ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ  และหนึ่งในทริปที่ทางเราได้สัมผัส ตามโจทย์ก็คือ Trip Design Handcraft เป็นการนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวที่วรนคร ปัว เน้นทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ และเกิดแรงบันดาลใจ ในการต่อยอดเชิงสร้างสรรค์ 

ทริปนี้เราได้ร่วมเดินทางไปกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ไปที่จังหวัดน่าน  จังหวัดที่มีแต่ผู้คนน่ารัก มีอัธยาศัยดี เราเดินทางจากกรุงเทพฯ มาขึ้นเครื่องของแอร์เอเชีย เที่ยว 7 โมงเช้า เราใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเศษ เท่านั้น อากาศที่นี่เย็นสบายดีเหลือเกิน ได้ห่างมาจากกรุงเทพฯ สักระยะ ถือเป็นการพักผ่อนได้ดีเลยทีเดียว

ที่แรกเราเดินทางไปที่ วัดภูเก็ต เห็นชื่อแล้วอาจจะแปลกใจกันเล็กน้อยว่าชื่อวัด น่าจะอยู่ในจังหวัดภูเก็ต แต่ทำไมมาอยู่ที่จังหวัดน่าน ซึ่งตามจริงแล้ววัดภูเก็ต ตั้งชื่อตามหมู่บ้านเก็ต แต่เนื่องด้วยเป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินสูงซึ่งทางเหนือเรียกว่า “ดอย” หรือ “ภู” จึงตั้งชื่อว่าวัดภูเก็ต หมายถึง วัดที่ตั้งอยู่บนภูบ้านเก็ต วัดภูเก็ตแห่งนี้ตั้งอยู่บนภูมหัศจรรย์ มีฮวงจุ้ยถูกหลักทักษาพยากรณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิประเทศสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดน่าน มีอุโบสถทรงล้านนาประยุกต์ จิตรกรรมฝาผนังสามมิติ เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อแสนปัว หรือหลวงพ่อพุทธเมตตา” องค์ศักดิ์สิทธิ์ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก เพ่งตรงไปยังอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ใต้เชิงดอย เป็นพื้นที่ทำนาของชาวบ้าน เมื่อถึงฤดูหนาวจะเกิดทะเลหมอกสุดแสนประทับใจ ข้างล่างเชิงเขามีแม่น้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นน้ำซับ ซึมมาจากใต้ดินไหลรินรวมกัน เป็นลำธารให้ฝูงปลาและสัตว์น้ำอยู่อาศัย เป็นเขตอภัยทาน

เราเดินลงมาอีกเพียงไม่ไกล ก็เจอกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเก็ต เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยมีป้าหลอม คอยต้อนรับผู้ที่มาเยือนอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส ผ้าทอที่นี่จะเป็นลวดลายแบบโบราณ มีทั้งผ้าปูโต๊ะ , ผ้าคลุมไหล่, หมอนอิง เป็นต้น ซึ่งที่นี่ป้าหลอมเล่าว่า มีเปิดสอนการทอผ้า และการย้อมผ้าสีธรรมชาติด้วย เราจึงถือโอกาสได้ลงไปทดลองทำกับเขาบ้างเหมือนกัน 

แวะชมตูบนาไทลื้อ & ตูบนากาแฟ ตั้งอยู่หน้าวัดภูเก็ต  เป็นทั้งที่พักด้วย ใช้ชื่อว่า ตูบนาไทลื้อ ส่วนร้านกาแฟตั้งอยู่ติดกับที่พัก ชื่อว่าตูบนากาแฟ  ในบรรยากาศริมทุ่งนา สามารถมาพักผ่อนนอนตูบบนไทลื้อ จิบกาแฟริมทุ่งนา  เดินเล่นบนสะพานไม้ไผ่ ให้อาหารปลา ทานข้าวแบบขันโตก พร้อมมีบริการให้เช่าชุดแต่งตัวแบบไทลื้อ ให้เราได้งามแต้ ๆ กันไปเลยเชียวค่ะ

ต่อจากนั้นเราเดินทางมาสักกาะระที่วัดพระธาตุเบ็งสกัด (ตั้งอยู่ที่ บ้านแก้ม หมู่ 5 ต.วรนคร อ.ปัว จ.น่าน)สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 1826  จากความเป็นมา พญาภูคา ผู้ครองเมืองย่าง ได้สร้างเมืองใหม่ให้บุตรบุญธรรม ชื่อ ขุนฟอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง ขนานนามว่า เมืองวรนคร พระองค์ได้พบบ่อมหัศจรรย์ เมื่อนำไม้ไปแหย่ลงในบ่อ จะทำให้ไม้ขาดเป็นท่อน ๆ พญาภูคาจึงให้ชาวเมืองก่อสร้างพระเจดีย์ครอบบ่อนั้น ให้มีความกว้าง 7 เมตร ทั้งสี่ด้าน สูง 20 เมตร และจัดพิธีเฉลิมฉลอง 7 วัน 7 คืน ในงานฉลองกลางคืน ก็เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น มีแสงสว่างเรืองรอง และมีรัศมีเหมือนพระจันทร์ทรงกลด พุ่งออกมาจากยอดพระธาตุ และวนเวียนไปมารอบ ๆ พระธาตุ ทำให้สว่างไสวทั่วบริเวณงาน พญาภูคา จึงได้ตั้งชื่อว่า “พระธาตุเบ็งสกัด”ปัจจุบันมีนมัสการสรงน้ำพระธาตุทุกปี ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 เหนือ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 )

เย็นแล้ว เราจึงต้องรีบเร่งไปต่อ มาจุดหมายสุดท้ายของวันนี้ที่ Cocoa Valley Resort  เราได้พบกับคุณมนูญ ทนะวัง เป็นเจ้าของที่นี่ เล่าให้ฟังว่า ตอนแรกตั้งใจกลับมาใช้ชีวิตที่อำเภอปัว ซึ่งเป็นบ้านเกิด ด้วยความที่ชื่นชอบโกโก้และช็อกโกแล็ต จึงทำให้เริ่มต้นปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างโกโก้ ที่ยังไม่ค่อยมีใครทำ และหวังว่าในอนาคต อาจกลายเป็นพืชท้องถิ่นที่บ้านไหนก็ปลูกกันได้ และนำผลผลิตจากต้นโกโก้ มาแปรรูป เป็นอาหาร ขนม ของใช้ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สบู่ช็อคโกแล็ต และเปลือกยังสามารถนำไปทำสีผ้าย้อมจากต้นโกโก้ เป็นต้น คุณมนูญพาเราไปดูวิธีทำสบู่ ดูไม่ยากอย่างที่คิด ทำให้เราเกิดไอเดียขึ้นมาแล้วล่ะ วันนี้เหนื่อยแล้ว เราจึงถือโอกาสพักผ่อนที่รีสอร์ทแห่งนี้เลยดีกว่า ห้องนอนน่าพักผ่อนเสียจริง ต้องรีบนอนชาร์จแบต แล้วพรุ่งนี้มาลุยกันต่อค่ะ

หลังจากที่ได้พักผ่อนไปเมื่อคืน ชาร์จแบตไปอย่างเต็มที่ พวกเรานัดหมายตื่นแต่เช้า เพื่อไปทำบุญใส่บาตรกัน ที่ตลาดสดเบาล ตำบลปัว อุตส่าห์มาต่างจังหวัดแล้วทั้งที ไหนเลยจะพลาดโอกาสยามเช้าได้ล่ะ  และก็ไม่ผิดหวัง ได้เก็บภาพบรรยากาศยามเช้ามาฝากด้วยล่ะ

พอสายลงหน่อย เราออกเดินทางไปที่ ศูนย์หัตถกรรมเครื่องเงิน “ดอยซิลเวอร์ แฟคตอรี่”  ที่นี่ถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่ได้มาตรฐานมากแห่งหนึ่ง ก่อตั้งขึ้นโดยคุณสมชาย และคุณพิมพ์พร รุ่งรัชตะวาณิชย์ ซึ่งเป็นกิจการต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ เป็นรุ่นที่ 4 ของตระกูล เริ่มมีการส่งออกเมื่อปี 2546 ด้วยเทคนิค และประสบการณ์มายาวนาน จึงทำให้แบรนด์ดังไปถึงอเมริกา บวกกับลวดลายที่ทันสมัย จนเป็นที่ถูกใจทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ในราคาที่เป็นกันเอง วันนี้คุณพิมพ์พร ให้โอกาสเราได้ลองใส่ชุดชนเผ่าอิ้วเมี่ยน ชุดนี้เป็นชุดแต่งงานของชนเผ่า ราคาหลักแสนเชียวล่ะค่ะ เราจึงนำภาพมาฝากให้ชมกัน บอกได้เลยว่า เงินหนักมากค่ะ

ต่อจากที่นี่ เราเดินทางไปที่ศูนย์ปั้นหม้อ เครื่องปั้นดินเผาชุมชนบ่อสวก เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน คนปั้นดิน ถิ่นฐานโบราณคดี ซึ่งลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เหมือนศรคันธนู ตามมาดูเลยค่ะ

ท้ายสุดนี้ต้องขอบคุณทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และทีมงานพีอาร์ทุกท่าน ที่นำพาทางทีมงานเรามาเที่ยวที่น่านแห่งนี้ สมกับที่กล่าวขานว่า “น่าน ยิ่งเที่ยว ยิ่งสนุก ยิ่งผูกพันธ์”

 

Previous post “เฟลิซิตี้ แอสเซท” ทุ่มงบ 2,500 ล้านบาท เปิดโรงแรมโมเดลแรกในไทย
Next post ยกระดับชุมชมแหลมสัก จ. กระบี่ กับกิจกรรม Village Tourism 4.0
Social profiles