ภาวะอ้วน-ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลต่อการเรียนรู้จดจำในเพศหญิง

Read Time:2 Minute, 36 Second

ทีมวิจัยดร.วาสนา ปรัชญาสกุล อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ภาวะอ้วนเนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินทั้งในเนื้อเยื่อส่วนปลายและในสมอง ทั้งยังทำให้เกิดการสูญเสียการทำงานของไมโตคอนเดรียซึ่งเป็นองค์ประกอบที่อยู่ในเซลล์และเป็นแหล่งสร้างพลังงานของเซลล์ ส่งผลให้เกิดการสูญเสียการเรียนรู้จดจำ นอกจากนี้การศึกษาที่ผ่านมายังพบว่าภาวะอ้วนเพียงอย่างเดียวหรือการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในเพศหญิงจากการตัดรังไข่หรือจากภาวะหมดประจำเดือนเพียงอย่างเดียวจะส่งผลทำให้เกิดการสูญเสียการเรียนรู้จดจำผ่านทางการสูญเสียการปรับเปลี่ยนที่จุดประสานประสาทในสมองส่วนฮิปโปแคมพัส ซึ่งเป็นสมองที่มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้จดจำ โดยในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ฮิปโปแคมพัสนับเป็นหนึ่งในบริเวณของสมองที่ถูกทำลาย ทำให้มีปัญหาด้านความจำและการกำหนดทิศทางในระยะแรกของโรค นอกจากนี้ฮิปโปแคมพัสอาจถูกทำลายได้จากภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย สมองอักเสบ หรือภาวะชักส่งผลให้ผู้ป่วยจะมีอาการสูญเสียการเรียนรู้จดจำได้
mitochondrialอย่างไรก็ตาม ผลของภาวะอ้วนร่วมกับการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อความไวของการทำงานของอินซูลินในเนื้อเยื่อส่วนปลายและในสมอง การทำงานของไมโตคอนเดรียในสมอง การปรับเปลี่ยนที่จุดประสานในสมองส่วนฮิปโปแคมพัส และการเรียนรู้จดจำ ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่ ดร.วาสนา ปรัชญาสกุล โดยมี ศ. ดร. ทพญ. สิริพร ฉัตรทิพากร เป็นนักวิจัยที่ปรึกษา ในโครงการ “ผลร่วมของการขาดเอสโตรเจนกับภาวะอ้วนจากการเหนี่ยวนำโดยการบริโภคอาหารไขมันสูงต่อภาวะดื้ออินซูลินในสมอง การปรับเปลี่ยนที่จุดประสานประสาท ความจดจำ ความเครียดออกซิเดชันในสมองและการทำงานของไมโตคอนเดรียในสมอง” โดยมีสมมติฐานว่าภาวะอ้วนจะเร่งการเกิดภาวะต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงเร่งการสูญเสียการเรียนรู้จดจำในกรณีที่มีขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจากการตัดรังไข่ โดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มผ่าตัดหลอก กับกลุ่มผ่าตัดรังไข่ แต่ละกลุ่มย่อยจะให้อาหารปกติหรืออาหารไขมันสูง เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ จากนั้นตัวอย่างเลือดจะถูกเก็บเพื่อตรวจตัวชี้วัดเมตาโบลิค การทดสอบการเรียนรู้จดจำจะถูกทำการทดสอบก่อนเก็บตัวอย่างสมอง จากนั้นตัวอย่างสมองจะถูกนำไปตรวจภาวะต่าง ๆ
ผลการศึกษาพบว่าภาวะดื้อต่ออินซูลินในเนื้อเยื่อส่วนปลาย ภาวะเครียดออกซิเดชัน การสูญเสียการปรับเปลี่ยนที่จุดประสานในสมองส่วนฮิปโปแคมพัสจะถูกตรวจพบตั้งแต่สัปดาห์ที่ 8 ในกลุ่มผ่าตัดรังไข่อย่างเดียว กลุ่มอ้วนอย่างเดียว และกลุ่มที่มีภาวะอ้วนร่วมกับการตัดรังไข่ แต่ผลเสียดังกล่าวจะแย่มากที่สุดในกลุ่มที่มีภาวะอ้วนร่วมกับการตัดรังไข่ ขณะที่ภาวะดื้อต่ออินซูลินในสมอง การสูญเสียการทำงานของไมโตคอนเดรียในสมอง และการสูญเสียการเรียนรู้จดจำจะถูกตรวจพบก่อนในกลุ่มที่มีอ้วนร่วมกับการตัดรังไข่ คือถูกตรวจพบตั้งแต่สัปดาห์ที่ 8 แต่ภาวะดังกล่าวจะถูกตรวจพบตามมาในกลุ่มผ่าตัดรังไข่อย่างเดียวหรือกลุ่มอ้วนอย่างเดียวในสัปดาห์ที่ 12 จึงสรุปได้ว่าภาวะอ้วนจะสามารถเร่งการสูญเสียการเรียนรู้จดจำในสภาวะขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนได้จากภาวะที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด ดังนั้นปัจจัยใดก็ตามที่มีผลต่อการลดภาวะอ้วน เช่น การจำกัดการรับประทานอาหาร หรือ การออกกำลังกาย จะสามารถช่วยลดอันตรายที่เกิดขึ้นจากภาวะอ้วนในสตรีที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนได้

Previous post ททท.พาสื่อมวลชน เที่ยวท่องล่องชมวิถีชุมชน @ คลองมหาสวัสดิ์
Next post กดนิ้วมือ ช่วยบริหารสมอง
Social profiles