หลายวันก่อนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม“I.T.C. Cooling Batt Building” หรือ “อาคารสำนักงานประหยัดคูลลิ่ง แบต” โดย กลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. ย่านซอยรามคำแหง 118 ซึ่งทางกลุ่มบริษัทไอ.ที.ซี. ได้ทุ่มงบประมาณ 120 ล้าน พัฒนานวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นอาคารประหยัดพลังงานหนึ่งเดียวในโลก
ว่ากันว่ากลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี.ได้คิดค้นออกแบบและพัฒนาระบบทำความเย็นเพื่อยกระดับวงการอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เปิดเผยอาคารสำนักงานประหยัดแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ “Cooling Batt Building by I.T.C” ถือเป็นอาคารที่มีแบตเตอรี่กักเก็บความเย็นหรือถังกักเก็บความเย็น นับเป็น “อาคารหนึ่งเดียวในโลก” ที่ติดตั้งระบบทำความเย็น “Cooling Batt” และชุดระบายความร้อน “Fanless Evaporative Condenser” นวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ไม่ต้องใช้พัดลมเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อเป็นอาคารต้นแบบรักษ์พลังงาน สำหรับการศึกษาและเรียนรู้เรื่องของการบริหารจัดพลังงานที่พิสูจน์ได้จริง เพื่อจะได้ต่อยอดไปสู่การจัดสรรการใช้พลังงานในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นที่ใช้สอยกว่า 3,000 ตร.ม. ภายใต้งบประมาณการก่อสร้างกว่า 120 ล้านบาท เป็นการจุดประกายให้คนไทยคิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยในการประหยัดพลังงานต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการปลุกจิตสำนึก เรื่องการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า
“เราสร้างออฟฟิศใหม่ แล้วเราก็อยู่ในวงการด้านระบบทำความเย็นอุตสาหกรรมมานาน เราเลยเอา STORY ที่เกี่ยวกับธุรกิจของเรา ทำอย่างไรในเรื่องลดโลกร้อน ทำอย่างไรให้พลังงานยั่งยืน มาทำเรื่องอาคารประหยัดพลังงาน เราต้องการให้ที่นี่เป็นแหล่งสาธิตการสะสมพลังงานแบบหนึ่ง ที่ทำได้จริง ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา”
วิศวกรไทยเจ้าของรางวัลระดับโลก อย่าง ดร.อภิชิต ล้ำเลิศพงศ์พนา และนายอภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา สองผู้บริหารกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. บอกเล่าสู่กันฟังถึงที่มาที่ไปของอาคารดังกล่าว
นายอภิชิต ล้ำเลิศพงศ์พนา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ตั้งใจสร้าง “Cooling Batt Building” เพื่อเป็นอาคารต้นแบบในการนำมาตอบโจทย์ของสังคมว่าแท้จริงแล้ว เราสามารถ กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ให้ปล่อยออกสู่บรรยากาศได้ โดยนำมาเป็นสารทำความเย็น ซึ่งมีราคาถูกกว่าและได้ผลไม่ต่างจากสารฟรีออนที่ใช้อยู่ในระบบปรับอากาศ สารฟรีออน เช่น CFC ก็เป็นตัวทำลาย O3 บน ชั้นบรรยากาศโอโซน ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลต และอินฟาเรดส่องผ่านลงมายังพื้นโลกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก๊าซเหล่านี้ก็กันรังสีไม่ให้ออกไปจากบรรยากาศโลก จึงทำให้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโลกร้อนขึ้นเช่นกัน
โดย “คูลลิ่ง แบต” (Cooling Batt) เป็นนิยามที่ทางกลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี.ตั้งขึ้นเพื่อเรียกอาคารสำนักงานแห่งใหม่ ถือเป็นอาคารที่มีแบตเตอรี่กักเก็บความเย็น หรือถังกักเก็บความเย็น โดยอาคารแห่งนี้นับเป็น “อาคารหนึ่งเดียวในโลก” ที่มีความพิเศษ 2 อยู่ประการ คือ นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มาใช้เป็นสารทำความเย็น ซึ่งสารตัวนี้หากอยู่ในสภาพของแข็งเราเรียกว่าน้ำแข็งแห้ง โดยกระบวนการทำความเย็นของอาคาร Cooling Batt แห่งนี้ มีหลักพื้นฐานเบื้องต้นไม่ต่างจากระบบปรับอากาศทั่วไปที่ใช้ฟรีออนเป็นสารทำความเย็นแต่ใช้ (CO2) นอกจากจะใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารทำความเย็นเป็นตึกเดียวในโลกแล้ว ยังมีนวัตกรรมใหม่ของชุดระบายความร้อนที่ไม่ใช้พัดลมในระบบปรับอากาศซึ่งสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 20% ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในการนำพาความร้อนออกไปจากระบบโดยใช้กฎเกณท์ของธรรมชาติ ลมบก ลมทะเล เรียกว่า Fanless Evaporative Condenser หรือ “Fanless Evap By ITC” โดยลมที่เย็นกว่ารอบๆ เครื่องจะเคลื่อนผ่านช่องที่ออกแบบพิเศษ ทำให้เกิดแรงดูดเพิ่มขึ้น ความเร็วลมจึงสูงขึ้น ช่วยผลักดันนำพาลมร้อนที่อยู่ในเครื่องออกไปได้เร็วขึ้น เป็นการระบายความร้อนที่ ไม่ใช้พัดลม จึงเป็นการใช้พลังงานที่น้อยลงมาก
ดร.อภิชัย ล้ำเลิศพงศ์พนา กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ไอ.ที.ซี. กล่าวเสริมว่า เมื่อนำสารทำความเย็น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มาผสมผสานกับวิทยาการของการสะสมพลังงานความเย็น ในเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือนมีอัตราการใช้ไฟฟ้าต่ำ ประกอบกับพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานน้ำเป็นพลังงาน ที่มีราคาถูกที่สุด และพลังงานน้ำถ้าทำงานได้เต็มที่ 24 ชั่วโมงก็จะเป็นพลังงานที่ไม่สูญเปล่า แทนที่เราจะ ปล่อยน้ำทิ้งจากเขื่อนโดยไม่มีการผลิตไฟฟ้าในเวลากลางคืน ปกติจะใช้ไฟฟ้าในเวลากลางคืนเพื่อการสร้าง สะสมพลังงานความเย็นโดยนำมาเก็บใน Cooling Batt นี้ สิ่งที่ได้คือ คาร์บอนไดออกไซด์จะอยู่ในระบบปิดของท่อ ไม่ถูกปล่อยไปในชั้นบรรยากาศให้เกิดภาวะโลกร้อน และสิ่งที่สองคือการจัดการบริหารพลังงานในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จัดสรรการใช้ไฟตลอด 24 ชั่วโมงได้อย่างถูกต้อง ลดการนำเข้าน้ำมัน และลดการสร้างเขื่อน ลดการทำลายป่า และลดการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ นั่นเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่จะมีส่วนช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงาน ที่หลายฝ่ายได้หันมาตระหนักและให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้
********************************************************************************