65 ปี สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. “เท่าทันความท้าทาย”

Read Time:2 Minute, 44 Second

ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งในยุคดิจิทัล เป็นความท้าทายของสังคมไทยที่ต้องปรับตัวและเท่าทันโลกยุคใหม่ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร ทั้งบุคลากรทั้งองค์กรต่าง ๆ ต้องเท่าทันความท้าทายเหล่านี้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงในการที่จะร่วมสร้างคุณค่าแก่สังคม    

ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตระหนักถึงความสำคัญถึงความท้าทายในสังคมปัจจุบันนี้ ในวาระโอกาส ‘วันสถาปนาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 65 ปี’  จึงจัดเสวนา ‘สิทธิและความเสมอภาค : ความท้าทายของสังคมไทยในกระแสการเปลี่ยนผ่าน’ โดยวิทยาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ อาทิ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการสำนักคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล ศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการเสวนา กล่าวว่า  

สังคมไทยมีพันธะหลายเรื่อง ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความด้อยโอกาส แต่จะทำอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำ ยิ่งนับวันจะมีคนรวยขึ้นอย่างที่ไม่สมควรจะรวย และมีคนจนลงอย่างไม่สมควรจะจน ดังนั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยเร่งทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น จนทำให้ละเลยสิทธิขั้นพื้นฐาน นั่นคือสิทธิในการมีชีวิต และสิทธิในการแสวงหาความสุขที่ทุกคนควรมีอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นวาระของคณะมาตลอด ดังนั้นสงเคราะห์สงเคราะห์จึงเป็นศาสตร์ที่ช่วยส่งเสริมช่วยกระตุ้นสังคม ให้มีสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน นั่นคือ ‘เสริมสร้างความเป็นธรรม เท่าทันการเปลี่ยนแปลง’ สำหรับ ‘สิทธิและความเสมอภาค’ ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย กมลชนก บุญเกตุวัฒนากุล, สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์, คัมภีร์ บัวติ๊บ, พิสิษฐ์พงษ์ ชูชมกลิ่น, เจษฎา นันใจวงษ์, ชัยพร อุโฆษจันทร์ และ ผศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ ผู้ดำเนินรายการเสวนา 

คนรุ่นใหม่ต่างสะท้อนมุมมองตามโลกที่เปลี่ยนไปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ผู้หญิง-ผู้ชายมีปัจจัยไม่เท่าเทียมกัน ผู้หญิงมักจะเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศได้ง่าย ทั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเอาเปรียบอีกด้วย และสิทธิในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ในเรื่องการตั้งครรภ์ โดยสามารถมีสิทธิเรียนหนังสือได้ตามกฎหมาย อีกทั้งสตรีที่มีฐานะยากจนทำให้ไม่มีการศึกษาต้องผันตัวเองเข้าสู่แรงงานทางเพศ เป็นต้น ดังนั้นอยากให้คนรุ่นใหม่ตื่นรู้ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง และปลูกจิตสำนึก พิทักษ์สิทธิของตนเอง เพื่อสู่สังคมความเท่าเทียม  

นอกจากนี้ ภายในงานมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการ-รางวัลนักวิจัยดีเด่น รางวัลศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันดีเด่น และรางวัลบุคลากรดีเด่น ประจำปี 2561 โดยงานนี้มีแขกผู้มีเกียรติ, ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมยินดีมากมาย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  

นี่คือความท้าทายสู่การเปลี่ยนแปลง มาร่วมกันการสร้างความสำเร็จทั้งองค์กรและสังคมให้เข้มแข็ง…ก้าวเท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

Previous post “เทรลล์”ดึงทีมคาร์ไลล์โม่ยู​ 19​ ปี   เตะทีมเกษตรศาสตร์-อัสสัมศรีฯ
Next post บลิ๊งค์ไทยปลื้มหนัก ซัมซุงดึง “ลิซ่า” ขึ้นแท่นพรีเซ็นเตอร์ กาแลคซี่ เอส 10
Social profiles