ต้นกล้าตากล้อง ท่องเที่ยวเมืองนราธิวาส

Read Time:7 Minute, 33 Second

ถ้าหากจะพูดถึงเรื่องของ การท่องเที่ยวในจังหวัดนราธิวาสแล้วอาจจะเป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยจะพูดถึงกันเท่าไหร่นัก คงจะเป็นเพราะจังหวัดนราธิวาสตั้งอยู่สุดเขตประเทศไทยทางด้านทิศใต้ ระยะทางห่างจากกรุงเทพฯ 1,149 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าไกลเอาการอยู่เหมือนกัน หรืออาจเป็นเพราะข่าวคราวความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สื่อต่าง ๆ พากันประโคมข่าวถึงความรุนแรงที่แว่วมาให้ได้ยินกันอยู่ทุกวัน ทำให้จังหวัดนราธิวาสไม่ต่างอะไรกับจังหวัดที่ถูกลืม โดยเฉพาะในเรื่องของการท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวอาจจะลืมคิดไปว่า จังหวัดนราธิวาสมีสิ่งที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่มากมาย พร้อมสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ที่รอเวลาแห่งการค้นพบ ซึ่งนอกจากสิ่งที่ซุกช่อนอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ใครจะรู้ว่า พระศรีนรารัฐราชกิริณีฯ ช้างพังเผือกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙  ก็มาจากเทือกเขากือซา ในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ขณะทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยือนพสกนิกรของพระองค์ทางภาคใต้ ภาพที่พระองค์ทรงพิงพระวรกายอยู่ที่ล้อรถจิ๊ปที่กำลังติดหล่มอยู่นั้น ก็ถ่ายที่จังหวัดนราธิวาสเช่นกัน และในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ผมได้รับการเชิญชวนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนราธิวาส และบริษัท มิราเคิล ดรีม (ไทยแลนด์) ให้เดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาส เพี่อร่วมโครงการ “ต้นกล้า ตากล้องท่องเมืองนราธิวาส

นักเรียนที่ได้รับรางวัลถ่ายรูปร่วมกับวิทยากรสำหรับการจัดโครงการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมปีท่องเที่ยววิถีไทย  2558 ให้กับเยาวชนนักเรียนในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยผ่านทางภาพถ่ายอาทิ เช่น ภาพวิถีชีวิต, วัฒนธรรม, ประเพณีไทย และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนและเยาวชนเกิดจิตสำนึกในการรักและหวงแหนวัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตแบบไทย ๆ ในท้องถิ่นของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความรู้ในเรื่องการถ่ายภาพ ให้แก่นักเรียนและเยาวชนในการถ่ายภาพวัฒนธรรมประเพณีไทยและวิถีชีวิต โดยผ่านทาง Social Network ซึ่งโครงการต้นหญ้าตากล้อง….ท่องเที่ยวไทยได้จัดมาเป็นครั้งที่ 22 แล้วครับ

สำหรับโครงการต้นหญ้าตากล้อง….ท่องเที่ยวไทยในครั้งนี้ ได้ถูกจัดขึ้นที่โรงเรียนนราสิกขาลัย ในอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมีนักเรียนและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จำนวน 46 คนด้วยกัน ในส่วนของกิจกรรมในตอนเช้า เริ่มต้นขึ้นด้วยการเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในการถ่ายภาพ มาให้ความรู้และเทคนิคในการถ่ายภาพอย่างไรให้สวย แก่นักเรียนและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ หลังจากนั้นในช่วงบ่ายก็นำนักเรียนและเยาวชนออกถ่ายรูปภาคสนาม ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในจังหวัดนราธิวาส อาทิเช่น
พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล– พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ที่ถือว่า เป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ขวายกจีบเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายวางหงาย ประดิษฐานกลางแจ้ง เป็นองค์ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยกระเบื้องโมเสกสีทองทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 17 เมตร สูงจากฐานถึงยอดพระเกศบัวตูม 9 เมตร สูงจากระดับดินรอบเนินเขาจดพระเกศบัวตูม 28.30 เมตร สร้างระหว่าง พ.ศ. 2509-2512 ประดิษฐาน ณ วัดเขากงมงคลมิ่งมิตรประดิษฐาราม ต.ลำภู อ.เมือง จ.นราธิวาส บนเนื้อที่ประมาณ 142 ไร่ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปตามถนนสายนราธิวาส-ระแงะ ประมาณ 9 กม
มิสยิดประจำจังหวัดนราธิวาส– มัสยิด300ปี (มัสยิดตะโละมาเนาะหรือ มัสยิดวาดีลอัลฮูเซ็น) ตั้งอยู่ที่บ้านตะโละมาเนาะ ตำบลลุโบะสาวอ ห่างจากจังหวัดนราธิวาส 25 กม. และห่างจากอำเภอบาเจาะ ประมาณ 4 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 42 มัสยิดแห่งนี้ สร้างจากไม้ตะเคียนทั้งหลัง มีลักษณะพิเศษคือ สร้างแบบศิลปะไทยพื้นเมือง ผสมกับศิลปะแบบจีน และแบบมลายู เป็นอาคาร 2 หลังติดต่อกัน ส่วนที่เด่นที่สุดคือ ตัวหลังคาซึ่งเป็นศิลปะแบบจีน และแบบมลายูส่วนหลังคาหลังที่ 2 จะมีจั่วอยู่บนหลังคา และมีฐานบัวหงายรองจั่ว อยู่บนหลังคาอีกชั้นหนึ่ง ส่วนฝาผนังจะเป็นแบบไทยพื้นเมือง ใช้ไม้ทั้งแผ่นเป็นฝา แล้วเจาะฝาเป็นหน้าต่าง และช่องลมมีลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปใบไม้และดอกไม้สลับกับลายจีน นับว่าเป็นความสามารถ ของจิตรกรผู้ออกแบบ ที่สามารถประยุกต์ศิลปะ 3 ชาติเข้าด้วยกันอย่างงดงาม

 – องค์พระศรีคเณศ พระพิฆเนศ ณ นราธิวาส ใช้เวลาในการก่อสร้างนานกว่า 9 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2546 – 2555 โดยการนำของคุณอินดาร์แซล บุศรี นายห้างเจ้าของกิจการ “ร้านดีวรรณพาณิชย์” ผู้จำหน่ายผ้ารายใหญ่ ในเมืองนราธิวาส ที่สร้างจากความเลื่อมใสศรัทธา และเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไทย โดยมีขนาดหน้าตักกว้าง 7 เมตร สูงถึง 16 เมตร องค์พระพิฆเนศ นราธิวาส ประทับนั่งในท่าลลิตาสนะ สวมศิลาภรณ์ (มงกุฎ) ประดับโมเสดแก้วหลากสี งวงเยื้องไปทางขวาและกลับเวียนมาทางซ้ายขององค์พระ เหนือพระนาคี มีสายธุรำ เป็นงูแผ่พังพานอยู่ใต้พระถันซ้ายมี 4 กร พระหัตถ์ขวาบนถือดอกบัว พระหัตถ์ด้านขวาล่างแสดงท่าประทานพร พระหัตถ์ซ้ายบนถือปรศุ (ขวาน) พระหัตถ์ซ้ายล่างถือชามขนมโมทกะ งอพระชานุซ้ายวางราบบนพระเพลา ห้อยพระบาทขวาลงสู่เบื้องล่างบนฐานดอกบัว ห่มพัสตราภรณ์ลักษณะนุ่งแบบอินเดีย มีแท่นประทับอยู่บนดอกบัวภายในบริเวณเทวสถานยังมีวิหารหนุมาน และวิหารไสบาบา ออกแบบและดูแลงานก่อสร้างโดย ผศ.เจริญชัย ตันครองจันทร์
ชายหาดนราทัศน์แม่นำบางนราที่เห็นอยู่ลิบๆคือมัสยิดประจดจังหวัดนราธิวาส– หาดนราทัศน์ เป็นหาดทรายขาวสะอาดยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ไปสิ้นสุดที่ปลายแหลม ด้านปากแม่น้ำบางนรา ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันเรือกอ และที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แนวต้นสนทะเล ทำให้บรรยากาศริมทะเลร่มรื่นมากขึ้น ชาวบ้านนิยมมาพักผ่อนหย่อนใจกันที่นี่ ใกล้ ๆ กันมีหมู่บ้านชาวประมงตั้งกระจัดกระจายตามริมแม่น้ำบางนรา และบริเวณเวิ้งอ่าวมีเรือกอ ของชาวประมงจอดอยู่มากมาย
วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย– วัดชลธาราสิงเห หรือ วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่หมู่ 3 ตำบลเจ๊ะเห ห่างจากตลาดอำเภอตากใบ แยกซ้ายประมาณ 100 เมตร สร้างในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนตั้งอำเภอตากใบ 49 ปี ในสมัยดินแดนตากใบยังเป็นของรัฐกลันตัน ท่านพระครูโอภาสพุทธคุณ (พุด) เป็นผู้เริ่มก่อตั้งวัดนี้ขึ้น และต้องไปขอที่ดินเพื่อที่จะสร้างวัดจากพระยากลันตัน วัดนี้ยังมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับดินแดนตากใบตอนแบ่งแยกดินแดนระหว่างประเทศสยาม กับประเทศมลายู ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษในขณะนั้น โดยฝ่ายไทยได้มีการยกเอาพระพุทธศาสนาวัด และศิลปะในวัด เป็นเครื่องต่อรองอังกฤษจึงยอมรับเหตุผล โดยกำหนดเอาแม่น้ำตากใบ และแม่น้ำสุไหงโก-ลก เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ในบริเวณวัดชลธาราสิงเห มีสิ่งก่อสะพานคอย100ปีข้ามไปเกาะยาวในอ.ตากใบสร้างทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศิลปะแบบไทยทางภาคใต้ เป็นจุดเด่นและงดงามหลายชิ้นอยู่ในโบสถ์เก่าซึ่งสร้างขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา ภาพเหล่านั้นได้ถ่ายทอดรูปแบบชีวิตวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ท้องถิ่นภาคใต้ไว้เด่นชัด เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีศาลาธรรมอีกหลังหนึ่ง เป็นศิลปะแบบใต้ผสมกับสถาปัตยกรรมแบบจีนแปลกตา และในวิหารเก่าด้านหลังวัดยังมีประติมากรรม รูปปั้นรูปพระนารายณ์ 4 กร พระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีพญานาคอีก 2 ตน อยู่ใกล้ ๆ ประติมากรรมดังกล่าว ซึ่งยังกำหนดยุคและสมัยที่เริ่มก่อสร้างไม่ได้แน่ชัด และจากวัดชลธาราสิงเหเลยไปอีก 150 เมตรมีสะพานปูนใหม่ และสะพานไม้เก่าความยาว 345 เมตรชื่อ “สะพานคอย 100 ปี” ทอดข้ามแม่น้ำตากใบไปยังเกาะยาว ซึ่งทางด้านตะวันออกของเกาะจะติดกับทะเล มีหาดทรายสวยงามความยาวหลาย 100 เมตร บรรยากาศเงียบสงบภายในหมู่บ้านมีมัสยิดสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนากำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง ชาวบ้านบนเกาะยาวเป็นชาวไทยมุสลิมประกอบอาชีพประมงและสวนมะพร้าวเป็นอาชีพหลัก
– อ่าวมะนาว เป็นชายหาดที่ยาวต่อเนื่องจากชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของจังหวัดปัตตานี เป็นโค้งอ่าวเชื่อมต่อกัน ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร มีโขดหินคั่นสลับโค้งหาดเป็นระยะ ด้านหนึ่งติดพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ บริเวณริมหาดมีสวนรุกขชาติ และทิวสนร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายหาด (beach forest) ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร พันธุ์ไม้ที่พบจะเป็นไม้ที่ชอบความแห้งแล้ง เช่น จักทะเล, มะนาวผี, เตยทะเล (ผลมีหน้าตาคล้ายสับปะรด) เป็นต้น หากใครอยากพักค้างคืนมีบ้านพักของเอกชนในบริเวณใกล้เคียงให้บริการอีกด้วย

ยิ้มน้อยๆของนักเรียนมัธยมในอ.ตากใบจากนั้นในเช้าของวันรุ่งขึ้นเดินทางกลับมายังโรงเรียนนราสิกขาลัย เพื่อให้คณะกรรมการทำการตัดสินภาพถ่าย ที่เหล่านักเรียนและเยาวชนเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ส่งเข้าประกวด หลังจากที่คณะกรรมการได้ทำการพิจารณาภาพถ่าย พร้อมตัดสินภาพที่ได้รับรางวัล จากนั้นได้ทำการมอบรางวัลชนะเลิศและรางวัลที่ 1, 2, 3 ให้กับเหล่าเยาวชนนักเรียนตามลำดับ สร้างความประทับใจ และพร้อมกับปลุกจิตสำนึกเยาวชนให้รักและหวงแหนในถิ่นฐานของตนเองอีกด้วยครับ

สำหรับโครงการต้นหญ้าตากล้อง….ท่องเที่ยวไทยได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน โรงเรียนใดสนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยถนนเพชรบุรีตัดใหม่และบริษัท มิราเคิล ดรีม(ไทยแลนด์)โทรศัพท์ 080-557-1976
ขอขอบคุณผู้ที่ให้การสนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้
– ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนราธิวาสและบริษัท มิราเคิล ดรีม(ไทยแลนด์)โทรศัพท์ 080-557-1976
– Biz2s ขอขอบคุณผู้เอื้อเฟื้อข้อมูล คุณสุเทพ พวงมะโหด ผู้บันทึกเรื่องและภาพ

Previous post เปิดประตูสู่ AEC ท่องเที่ยวบนเส้นทาง กาญจนบุรี- ทวาย
Next post คริสตัล ลากูนส์ นำประสบการณ์ครั้งใหม่มาสู่วงการอสังหาริมทรัพย์ไทย
Social profiles