Eye Excellence Center บำรุงราษฎร์ ก้าวสู่ Smart Hospital 5.0 ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีการผ่าตัดตาครบวงจร

Read Time:8 Minute, 49 Second

จากการสำรวจระดับชาติในประเทศไทยล่าสุดเมื่อปี 2556 พบว่าความชุกของภาวะตาบอด อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากประชากรไทยทั้งหมด หรือประมาณ 360,000 ราย โดยเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุใน WHO VISION 2020 ต้องการให้ควบคุมอุบัติการณ์ของภาวะตาบอด น้อยกว่าร้อยละ 0.5 และรณรงค์ไม่ให้มีผู้ที่ตาบอดหลงเหลืออยู่ จากโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้

เนื่องด้วยประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง “อายุ” ถือเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน และจอประสาทตาเสื่อม มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้ยังเป็นสามอันดับแรกของโรคที่ก่อให้เกิดภาวะตาบอดหรือสายตาเลือนรางได้ ทั้งนี้ โรคตาเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย สำหรับโรคตาในเด็กยุคนี้ มักพบปัญหาเรื่องสายตาสั้นตั้งแต่อายุน้อยๆ และสั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปี จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขพบว่าจำนวนเด็กที่สายตาสั้นมีมากขึ้น ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี สายตาสั้นถึงร้อยละ 30 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้สายตาจ้องมองจอ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่เริ่มมีความรู้สึกผิดปกติเกี่ยวกับตา ควรมารับการตรวจเช็คสุขภาพตา เพื่อตรวจคัดกรองโรคตา และรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

รศ. พญ. สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง หัวหน้าศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้ตระหนักถึงอุบัติการณ์การเกิดใหม่เกี่ยวกับโรคตาที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี และได้มีการยกระดับศูนย์จักษุ เพื่อให้มีการดูแลรักษาอย่างครอบคลุมในทุกปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตา โดยการดำเนินงานของ Eye Excellence Center โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยองค์ความรู้ครบทั้ง 3 มิติ ได้แก่ 1. การให้บริการด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี และการตรวจรักษาที่ทันสมัย 2. การศึกษาวิจัยผลงานใหม่ๆ โดยทีมแพทย์ของบำรุงราษฎร์ มีการค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่มาใช้ในการรักษาและบริการ และ 3. การให้ความรู้ทางการแพทย์ โดยมีการจัดฝึกอบรม จัดประชุมวิชาการเป็นประจำ

สำหรับแนวโน้มในการรักษาโรคต่างๆ ทางการแพทย์ รวมถึงการรักษาเกี่ยวกับโรคตา นับว่ามีวิวัฒนาการที่รวดเร็วมาก ทั้งในด้านของการตรวจวินิจฉัยและการรักษา ในแต่ละปีทางโรงพยาบาลได้จัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ เข้ามาเป็นระยะ โดยแนวโน้มของเทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์ จะเน้นการรักษาผ่าตัดเปิดแผลเล็ก และมีการนำเลเซอร์เข้ามาใช้ร่วมในการรักษา นวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ระยะเวลารักษาไม่นาน ผลการรักษามีความแม่นยำตามที่ต้องการมากยิ่งขึ้น โอกาสเกิดผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดน้อยลง ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น ระยะพักฟื้นสั้นลง ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่าย

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีทีมจักษุแพทย์ จำนวน 49 ท่าน โดยจะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยตามความชำนาญและประสบการณ์ของแพทย์ ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน ศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสร้าง จอประสาทตา กระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา ม่านตาอักเสบ โรคตาเด็ก จักษุประสาท ศูนย์จักษุมีห้องตรวจตาพร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบครัน ซึ่งจะสามารถให้บริการตรวจรักษาครอบคลุมอย่างครบวงจร  เพื่อให้ผู้ป่วยโรคตามีความมั่นใจว่าท่านจะได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี”

นพ. สมบัติ ศรีสุวรรณภรณ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวถึงการรักษาโรคต้อกระจก ไม่มียารักษาให้หายได้ ถ้าจะให้เห็นดีขึ้น ผู้ป่วยจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีเดียว ซึ่งวิวัฒนาการทางการแพทย์ในการผ่าตัดต้อกระจก ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ในยุคแรกๆ เทคโนโลยียังไม่ดี จึงเป็นการผ่าตัดแบบไม่มีเลนส์ใส่ เรียกว่า Intracapsular Cataract Extraction (ICCE) เป็นการผ่าตัดดึงเอาเลนส์ตาออกทั้งถุงหุ้มเลนส์ เปิดแผลที่ขอบบนของตาดำ ประมาณ 12-15 มิลลิเมตร และต้องใส่แว่นขนมครก ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพขยายเกินจริงเยอะมาก บางอย่างจึงหลุดเฟรม พอยุคถัดมาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน มีการผ่าตัดด้วยวิธี Extracapsular Lens Extraction (ECCE) เริ่มมีการใส่เลนส์ แต่จะมีการเปิดแผลด้วยใบมีด โดยแผลจะกว้างและต้องเย็บแผลประมาณ 5-7 เข็ม ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมใช้วิธีรักษาทั้ง 2 แบบนี้แล้ว  

สำหรับเทคโนโลยีการผ่าตัดรักษาต้อกระจกที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การรักษาสลายต้อกระจกด้วยคลื่นความถี่สูงหรืออัลตราซาวน์ (Phacoemulsification) หรือ “Phacoe – เฟโค” วิธีนี้ช่วยให้จักษุแพทย์สามารถสลายส่วนของเลนส์ตาที่เป็นฝ้าหรือเสื่อมสภาพ แผลผ่าตัดจะเริ่มเล็กลงมาก ประมาณ 2-4 มิลลิเมตร จากนั้นจักษุแพทย์จะทำการฝังเลนส์แก้วตาเทียมลงไปแทนเลนส์ตาเดิมที่ขุ่นมัวหรือเสื่อมสภาพไป โดยเลนส์ตาเทียมจะอยู่ได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องเปลี่ยนซ้ำ หลังผ่าตัดช่วยให้การมองเห็นเร็วขึ้น และการผ่าตัดต้อกระจกและฝังเลนส์เทียมโดยใช้เลเซอร์ (Femtosecond laser) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Femto – เฟมโต” วิธีนี้ช่วยให้แพทย์เปิดแผลได้ตามขนาดที่ต้องการ ทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ใช้พลังงานน้อย ทำให้ความบอบช้ำของกระจกตามีน้อย การรักษาแบบ Femto จะใช้เทคโนโลยีเลเซอร์เข้ามาช่วยในการผ่าตัด แพทย์สามารถเปิดแผลได้อย่างแม่นยำและสามารถเปิดถุงหุ้มเลนส์ให้มีขนาดตามต้องการ ทำให้การวางตำแหน่งของเลนส์ได้ดีขึ้น หลังจากนั้น จะมีการตัดแบ่งเลนส์ต้อกระจกให้เป็นชิ้นเล็กลงได้ ก่อนจะใช้เครื่องสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ดูดเอาเลนส์ออก นับเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาต้อกระจก

รศ.นพ. ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยถึง “นวัตกรรมเทคโนโลยีของเครื่อง Femtosecond laser นับเป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุมการทำงาน และอาศัยเทคโนโลยีสามมิติในการสแกนดวงตาด้วยเครื่อง Optical Coherence Tomography ทำให้สามารถคำนวณการตัดเนื้อเยื่อได้อย่างละเอียดและแม่นยำ โดยเป็นระดับไมครอนนำมาคำนวณและวางแผนการผ่าตัดให้มีความถูกต้องและแม่นยำเพิ่มขึ้น

การรักษาในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่สลายต้อกระจกที่ขุ่นให้ใสเท่านั้น แต่จักษุแพทย์ยังมุ่งเน้นไปถึงการออกแบบสายตาให้ผู้ป่วยแต่ละคนให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ เช่น การมองไกลมองใกล้ จำนวนชั่วโมงที่ขับรถตอนกลางวัน ตอนกลางคืน การใช้มือถือหรือการใช้จอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งความต้องการในการเล่นกีฬาชนิดต่างๆ ซึ่งจักษุแพทย์จะพยายามออกแบบเลนส์แก้วตาเทียมชนิดที่เหมาะและแม่นยำให้กับผู้ป่วยแต่ละราย เรียกว่าเป็นการออกแบบเฉพาะบุคคล เพราะฉะนั้นผู้ป่วยแต่ละท่านอาจจะใช้เลนส์ไม่เหมือนกัน บางครั้งตาซ้ายกับตาขวาอาจจะใช้เลนส์คนละชนิดก็เป็นได้

ล่าสุดโรงพยาบาลได้นำเครื่อง ORA System ซึ่งเป็นนวัตกรรมในการช่วยผ่าตัดต้อกระจกให้มีความแม่นยำมากขึ้น เป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมในขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจกและฝังเลนส์เทียมโดยใช้เลเซอร์ (Femto) ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย ORA เป็นนวัตกรรมที่สามารถตรวจวัดค่าสายตาผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดแบบ Real-time ช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากการวัดแบบมาตรฐาน เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดทำเลสิกมาก่อน หรือการผ่าตัดใดๆของกระจกตา เช่น กรีดกระจกตามาก่อน ซึ่งการวัดแบบมาตรฐานทำได้ไม่แม่นยำเท่าการวัดด้วยเครื่อง ORA

โดยก่อนการผ่าตัดต้อกระจก แพทย์จะทำการวัดหาค่าเลนส์แก้วตาเทียมที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดย ORA เป็นเครื่องมือที่เสียบอยู่กับกล้องที่ใช้ในการผ่าตัด เมื่อแพทย์นำเลนส์ต้อกระจกออกจากตาของผู้ป่วยแล้ว เครื่องมือ ORA จะฉายไปที่ตาของผู้ป่วยเพื่อวัดยืนยันค่าสายตา ตำแหน่งของการใส่เลนส์ องศาของเลนส์และกำลังของเลนส์แก้วตาเทียมที่เหมาะสมของผู้ป่วยอีกครั้ง และเมื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแล้ว เครื่องมือ ORA ยังสามารถวัดได้อีกว่าเลนส์ที่ใส่เข้าไปมีค่าถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง แพทย์สามารถเปลี่ยนเลนส์ระหว่างการผ่าตัดได้ ดังนั้น การออกแบบและเลือกเลนส์ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นๆ ได้อย่างพอดิบพอดี นับเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และความชำนาญการของจักษุแพทย์ในการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ๆ นั่นคือความท้าทายมากที่สุดสำหรับทีมจักษุแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าเราทำได้ดี”

พญ. ฐาริณี กุลกำม์ธร แพทย์ผู้ชำนาญการด้านการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า “ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทในไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว ซึ่งพฤติกรรมการเพ่งหน้าจอเป็นระยะเวลานาน หรือการดูมือถือในที่แสงสว่างไม่เพียงพอนั้น ย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาสายตาได้ เช่น ปวดตา ตามัว ตาแห้ง สายตาล้า สายตาสั้นในเด็ก ส่งผลให้พบผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติในวัยเด็กเพิ่มขึ้น โดยเบื้องต้นแนะนำสำหรับการทำงานอยู่กับจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้ามือถือเป็นเวลานาน ให้ใช้หลัก 20 20 20 คือ ทุกๆ 20 นาที ของการมองใกล้ (มือถือ คอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ) ให้พักสายตาประมาณ 20 วินาที โดยมองไปที่ไกลประมาณ 20 ฟุต ในระยะ 20 ฟุต เพื่อคลายกล้ามเนื้อตา ทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่ปวดกล้ามเนื้อตา

สำหรับนวัตกรรม ReLEx SMILE เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ที่ต่อยอดมาจากเลสิก เป็นเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้นและเอียงด้วยเลเซอร์ที่มีความแม่นยำสูง มีแผลเปิดที่กระจกตาเล็กมาก ประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ทำให้รบกวนเส้นประสาทบริเวณกระจกตาน้อย เป็นผลให้อาการตาแห้งและระคายเคืองตาพบได้น้อย โดยที่ค่าสายตาหลังผ่าตัดคำนวณได้อย่างแม่นยำ ทำให้มองเห็นดีขึ้นและคงที่ในเวลาไม่นาน สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้อย่างคล่องตัว

การผ่าตัดรักษาภาวะสายตาสั้นและเอียงด้วยวิธี ReLEx SMILE ขณะที่เลเซอร์ทำงาน เครื่องมือจะแตะที่ผิวกระจกตาและใช้แรงกดน้อย  ผู้ป่วยจึงรู้สึกสบายตาขณะผ่าตัด หลังผ่าตัดมักพบการระคายเคืองและตาแห้งน้อย เนื่องจากแผลที่กระจกตามีขนาดเล็กมาก และหลังการรักษาจะได้ค่าสายตาที่มีความแม่นยำ โดยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่ไม่อยากใส่แว่น ไม่อยากใส่คอนแทคเลนส์ และผู้ที่มีสายตาสั้นถึง 1000 (-10.00 D) และสายตาเอียง 500 (-5.00 D) โดยเบื้องต้นแพทย์จะต้องตรวจวินิจฉัยตาก่อนที่จะทำการรักษาว่าเหมาะที่จะรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความหนาของกระจกตา และภาวะอื่นๆ ของตาร่วมด้วย เช่น ภาวะตาแห้งหรือไม่ ผู้ที่ทำการรักษาควรมีอายุ 20 ปีขึ้นไป และมีค่าสายตาคงที่อย่างน้อย 1 ปี และต้องไม่มีโรคที่เป็นข้อห้ามในการรักษา เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลยังไม่ดี สตรีมีครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินถึงความเหมาะสม”

Previous post พานาโซนิค เดินเครื่องรุกหนักตลาดเฟอร์นิเจอร์ชุดครัว ประเดิมจับมือ ดี.พี. เซรามิคส์ เจาะดีเวลลอปเปอร์ระดับบน
Next post ส.มวยไทยสมัครเล่น ร่วมอวยพรวันคล้ายวันเกิด “บิ๊กเหวี่ยง” ครบรอบ 81 ปี
Social profiles