สสว. แถลงความสําเร็จ ประกาศ 6 โมเดลต้นแบบ แก้ปัญหาความยากจนแม่ฮ่องสอน ยกระดับคุณภาพชีวิต

Read Time:6 Minute, 34 Second

สสว. จับมือ ส่วนราชการในพื้นที่ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน แถลงผลสําเร็จโครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัด แม่ฮ่องสอน หลังประสบความสําเร็จในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนเมืองสามหมอกให้ดีขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ผ่าน 6 โมเดลต้นแบบ รวม 7 กิจกรรม 10 กลุ่มวิสาหกิจ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมทั้งโครงการ ร่วม 30 ล้านบาท


นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง กลุ่มภารกิจด้านรายได้ กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีปิดโครงการต้นแบบ การแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่า โครงการนี้ มีจุดเริ่มจากคราวที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจราชการ ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 และ ได้สั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเน้นหน่วยงานภาครัฐบูรณาการความร่วมมือ เรื่องการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อความอยู่ดีมีสุขถ้วนหน้า รวมทั้งให้ช่วยส่งเสริมอาชีพหรือผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวแม่ฮ่องสอน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0


นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โครงการต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสําคัญและได้มอบหมายให้ สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารโครงการและสนับสนุนงบประมาณ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการ บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อดําเนินโครงการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมครอบคลุมทุกมิติทั้งใน ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ได้ตั้งเอาไว้

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลบางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าว ว่า สสว. ในฐานะหน่วยงานที่รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี จึงได้จัดทําโครงการต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงผ่าน 6 โมเดลต้นแบบ 7 กิจกรรม 10 กลุ่มวิสาหกิจ ได้แก่

 

1. ต้นแบบการส่งเสริมการรวมกลุ่มวิสาหกิจพร้อมนํางานวิจัยมาใช้แบบครบวงจร กิจกรรมส่งเสริมต้นแบบการรวมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อการปลูกบุกผสมผสานพืชอื่นโดยการนํางานวิจัยมาใช้ แบบครบวงจร แก่สมาชิกโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดําริฯ รวม 300 ครัวเรือน โดยสามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละไม่น้อยกว่า 28,500 บาท/ปี ในปีแรก และปีต่อไปเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 32,000 บาท / ปี และภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 8.55 ล้านบาท
2. ต้นแบบการพัฒนายกระดับการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า กิจกรรมพัฒนายกระดับการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่ากลุ่มโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามพระราชดําริฯ ณ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดําริ จำนวน 15 ครัวเรือน และ เครือข่ายผลผลิต จำนวน 200 ครัวเรือน สามารถเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนในกลุ่มผลิตสินค้าผ่านการจ้างงานเฉลี่ยครัวเรือนละไม่น้อยกว่า 79,000 บาท/ปี สร้างรายได้ให้เครือข่ายที่ขายผลผลิตครัวเรือนละ 4,200 บาท/ปี ในส่วนของการผลิตสินค้าจะมีรายได้ประมาณ 2.7 ล้านบาท/ปี จากการขายสินค้า ซึ่งสามารถใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการขยายการรับซื้อผลผลิตหรือจ้างงานเพิ่มในปีต่อๆ ไป และภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 4.98 ล้านบาท

 

3. ต้นแบบการเพิ่มศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร กิจกรรมเพิ่มศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ได้แก่ กลุ่มกาแฟบ้านแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จำนวน 25 ครัวเรือน และเครือข่าย 11 ครัวเรือน ยกระดับรายได้เพิ่มขึ้นจาก 150,00 บาท/ปี เป็น 172,500 บาท/ปี กลุ่มกาแฟบ้านสบป่อง อ.ปางมะผ้า จำนวน 25 ครัวเรือน ยกระดับรายได้เพิ่มขึ้นจาก 200,00 บาท/ปี เป็น 230,000 บาท/ปี กลุ่มกระเทียมบ้านนาปลาจาด อ.เมือง จำนวน 25 ครัวเรือน ยกระดับรายได้เพิ่มขึ้นจาก 220,000 บาท/ปี เป็น 253,000 บาท/ปี กลุ่มข้าวบ้านปางหมู อ.เมือง จำนวน 128 ครัวเรือน ยกระดับราคาข้าวจากเดิมประมารณ 7,500 บาท / ตัน เป็น 8,250 บาท/ตัน ซึ่ง 4 กลุ่มจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการผลักดันให้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพในการผลิต พร้อมด้วยการผ่านมาตรฐานที่จำเป็น เช่น อย. รวมถึงการใช้สื่อดิจิตอลมาเป็นช่องทางการค้า โดยภาพภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 4.18 ล้านบาท


4. ต้นแบบการนําผลผลิตจากวนเกษตรมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ กิจกรรมยกระดับการนําผลผลิตจากวนเกษตร (ไผ่) มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านแม่สะกึด บ้านห้วยเดื่อ บ้านป่าปุ๊ และบ้านผาบ่อง ต. ผาบ่อง อ.เมือง รวม 11 ครัวเรือน และเครือข่าย 14 ครัวเรือน มุ่งเน้นการถ่ายทอดทักษะในการผลิต ตลอดจนกรรมวิธีการผลิตและรูปแบบการผลิตใหม่ๆ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ทันสมัย กว่า 11 ผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ยกระดับรายได้ของกลุ่มเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 196,174 บาท/ปี และภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 2.35 ล้านบาท

5. ต้นแบบการเพิ่มศักยภาพผู้เลี้ยงไก่และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากแกะ กิจกรรมเพิ่มศักยภาพกลุ่มผลิตภัณฑ์จากแกะ แก่สมาชิกศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตาม พระราชดําริ จำนวน 20 ครัวเรือน มุ่งเน้นในการนำเครื่องมือเครื่องใช้สมัยใหม่มาใช้ยกระดับการผลิตให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตในมิติต่างๆ โดยสามารถเพิ่มรายได้จากเดิมเฉลี่ยครัวเรือนละ 84,350 บาท/ปี เป็นมีรายได้เฉลี่ยเป็น 97,200 บาท / ปี และภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 1.16 ล้านบาท
กิจกรรมเพิ่มศักยภาพกลุ่มผู้เลี้ยงไก่แม่ฮ่องสอน ตามแนวพระราชดําริ บ้านต่อแพ อ.ขุนยวม จำนวน 39 ครัวเรือน มุ่งเน้นการนำมาตรฐาน GFM (Good Farming Management) มาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เพิ่มให้ครัวเรือน 33,600 บาท /ปี พร้อมผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดต้นทุนประกอบด้วยการสร้างเครือข่ายผลิตอาหารไก่ต้นทุนต่ำ และเครือข่ายจำหน่ายผลผลิตไก่ รวมถึงสร้างช่องทางการค้าใหม่ ภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 3.18 ล้านบาท


6. ต้นแบบการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า พร้อมพัฒนาช่องทางตลาด กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า กลุ่มสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใน พระบรมราชูปถัมภ์ รวม 350 ราย พร้อมจัดทําสื่อมัลติมีเดียออนไลน์เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ครอบคลุม 7 อําเภอ มุ่งเน้นการ ยกระดับฝีมือและทักษะในการผลิตสินค้า รวมทั้งเสริมสร้างแนวคิดใหม่ๆ ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ จำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พร้อมสร้างช่องทางตลาดไปในตัว โดยมีผู้เข้าไปเยี่ยมชมแล้วกว่า 1,440 ราย ภาพรวมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประมาณ 4.81 ล้านบาท

นายสุวรรณชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมอาชีพแล้ว สิ่งสำคัญคือ วิสาหกิจชุมชนยังได้รับความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าของตนเอง เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานตามหลักสากล พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการจัดจําหน่ายสินค้าผ่าน ทางเว็บไซต์ทําให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น

Previous post เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ผนึก ธ.กรุงศรีอยุธยา จัดประกวดคลิปวีดีโอชวนดูหนัง ชิงเงินรางวัลและแพ็คเก็จท่องเที่ยวสิงคโปร์ รวมมูลค่ากว่า 3 แสนบาท
Next post Thailand Brew Fest 4 กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว สวรรค์นักดื่ม ภายใต้สีสัน “จิ๊กโก๋ย้อนยุค”
Social profiles