นักวิชาการ-ภาคเอกชน ชี้ 5จี พลิกอุตสาหกรรม สามมิตร เอสซีจี เดินหน้าติดอาวุธ

Read Time:5 Minute, 14 Second

นักวิชาการ ชี้ 5 จี พลิกอุตสาหกรรม แนะเอกชนเร่งปรับตัวรับเทคโนโลยี 5 จี เพื่อความอยู่รอด สามมิตร-เอสซีจี ผู้นำด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ขานรับเทรนด์อุตสาหกรรมใหม่เดินหน้าติดอาวุธปรับตัวพร้อมรับมือ 5 จี ด้านเอไอเอส ประกาศพร้อมผนึกกำลังร่วมกับทุกอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับระบบนิเวศน์ในโลกดิจิตอลที่สมบูรณ์แบบ

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี นักวิชาการด้านการจัดการเทคโนโลยี และนวัตกรรม วิทยากาการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกองค์กรและภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนภาคธุรกิจทั้งในระดับประเทศ และระดับเวทีโลก ซึ่งส่งผลต่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องรับปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบางองค์กรเริ่มทำงานกับสตาร์ทอัพ เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆจากภายนอก เข้ามาเสริมในส่วนที่ธุรกิจยังขาดอยู่ รวมทั้งบางครั้งอาจจะมีการออกแบบใช้พื้นที่หรือช่วงเวลาในการทดลองนวัตกรรม เพื่อทดสอบแนวคิดใหม่ๆเหล่านั้น พร้อมทั้งประเมินผลกระทบ ก่อนจะนำมาดำเนินการวางแผนในรายละเอียด หรือกำหนดเป็นนโยบายต่อไป

“เมื่อไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ สิ่งที่ควรจะทำ คือการตระหนักให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง และวางแผนรับมือเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดในยุคสมัยรอยต่อแห่งการเปลี่ยนแปลง เมื่อ IoT เข้ามามีบทบาทมากขึ้นก็จะมีคำพูดที่ว่า Data is the new oil  เปรียบเสมือนข้อมูลคือบ่อน้ำมันแห่งใหม่ ทำให้หลายธุรกิจมีการเก็บข้อมูลและพฤติกรรมผู้บริโภค รวมไปถึงเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเพื่อนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์และการทำตลาดต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสิทธิ์ กล่าว

ด้านนางรัตนา สถิรมน กรรมการบริหาร บริษัท สามมิตร กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา กลุ่มสามมิตรได้จับมือพันธมิตรและกลุ่มสตาร์ทอัพ เพื่อปรับองค์กรและพัฒนาธุรกิจจากผู้ผลิตเพื่อก้าวสู่ผู้ให้บริการในยุคดิจิทัล ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ สามมิตรไม่ได้มุ่งหวังเพียงเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญ คือ การสร้างแบรนด์สามมิตรให้เป็นที่รู้จักของคนในสังคมทำให้ผู้คนนึกถึงโดยอัตโนมัติและยังเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ ให้กับอุตสหากรรมโลจิสติกส์ดีขึ้นและเกิดความยั่งยืน

“สามมิตรวันนี้เราต้องเปลี่ยนและปรับ โดยการนำ IoT เข้ามาเชื่อมต่อสินค้าและบริการ แบบ ออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์และเชื่อมโยงข้อมูลไปถึงลูกค้า พันธมิตร ที่ครบวงจร โดยมีแรงขับเคลื่อนจากสามมิตร สมาร์ท โมบิลิตี้ ดิจิทัลแพลทฟอร์ม (SSM Digital Platform) ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งคนและสินค้า อาทิ การติดตามยานพาหนะ การบำรุงรักษารถ การใช้งาน รวมถึงพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับรถ ทั้งนี้เพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย สร้างความปลอดภัยให้เกิดกับท้องถนน ” นางรัตนา กล่าว

นายไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าว่าเมื่อดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสารสนเทศทางธุรกิจ ที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้บริษัทฯ ได้วางแผนการทำงานในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเน้นการทำงานอยู่ใน 3 แพลตฟอร์มหลัก คือ  ธุรกิจไปสู่ธุรกิจ (B2B) ธุรกิจไปสู่ผู้บริโภค (B2C) และดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น โดยการนำดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อให้เกิดรายได้ใหม่และนำพาเอสซีจี โลจิสติกส์ ให้เติบโตกว่า 2 เท่าภายใน 5 ปี

“เพื่อรองรับตลาดที่โต เอสซีจี โลจิสติกส์ ได้ร่วมกับพันธมิตรในเรื่องของการเชื่อมต่อสัญญาณ 5จี เข้ากับระบบการบริการ ขณะเดียวกันได้วางแผนเพิ่มจำนวนรถบรรทุก โดยอาศัยพันธมิตร อย่างกลุ่มบริษัทสามมิตรมอเตอร์ส ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่นด้านการใช้นวัตกรรมใหม่เช่นการใช้เหล็กพิเศษ “ไฮ เทนไซล์” เจ้าเดียวในตลาด เพิ่มความแข็งแรงทนทาน แต่น้ำหนักเบาลงถึง 2 ตันหรือการใช้วัสดุที่เป็นที่มีน้ำหนักเบา สามารถขนของได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยลดลง และสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้กลุ่มสามมิตร ยังมีบริษัทสามมิตรพีทีจี PRO TRUCK ศูนย์บริการรถบรรทุกและรถพ่วงที่ครบวงจรและมีเครือข่ายทั่วประเทศ มีอะไหล่และช่างที่มีมาตรฐาน สามารถดูแลรักษารถบรรทุกและรถเทรเลอร์เพื่อให้รถพร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวมถึงการเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยให้สามารถแข่งขันได้อีกด้วย

ขณะที่นางสาวอัศนีย์ วิภาตเวทย์ หัวหน้าส่วนงานผลิตภัณฑ์ลูกค้าองค์กร และบริการระหว่างประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  เอไอเอส ในฐานะเซอร์วิส ไพรไวเดอร์  พร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจไทย ด้วยโครงข่ายและดิจิทัลแพลตฟอร์ม พร้อมระบบนิเวศน์ธุรกิจ ตอบสนองการพัฒนาโซลูชันที่เหมาะสมให้แต่ละกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ยานยนต์ที่พบกับความท้าทายจากสภาพธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการ ทั้งการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงาน ตลอดจนการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดสมาร์ทไลฟ์สไตล์ต่างๆ กับผู้ใช้งานทั่วไป ทั้งรูปแบบการใช้ชีวิต สุขภาพ การคมนาคม การขนส่ง ส่วนภาคธุรกิจนั้น จะต้องอาศัยการพัฒนาร่วมกันของทุกภาคส่วน พร้อมการสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐ เพื่อผลักดันแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานและโซลูชัน ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดค่าใช้จ่าย โดยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยผู้ประกอบการในการทำฐานข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น  อาทิ การติดตั้งอุปกรณ์อัตโนมัติ หรือ ระบบเซ็นเซอร์ประเภทต่างๆ ในรถยนต์หรือรถบรรทุก เพื่อส่งข้อมูล เช่น ตำแหน่งพิกัด ข้อมูลความเร็วหรือพฤติกรรมการขับขี่ ข้อมูลการทำงานของเครื่องยนต์ เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ และสร้างข้อมูลเชิงลึกทำให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ทั้งระบบอย่างเป็นขั้นตอน   มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป

Previous post ศิลปศาสตร์ ม.รังสิต จัดกิจกรรมกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์อาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า
Next post ทีเส็บ เปิดโครงการใหม่ ‘Meetings and Incentives Market Champion’
Social profiles