“ชัยชนะ” คนล่าฝันสู่ความสำเร็จในวงการศิลปะระดับภูมิภาค

Read Time:4 Minute, 20 Second

เวทีการประกวดเป็นเหมือนทางด่วนไปสู่ความสำเร็จ เงินรางวัล และชื่อเสียงอย่างรวดเร็ว จึงดึงดูดเหล่า “นักล่า” ที่มีความสามารถ ความสร้างสรรค์ และความกล้าให้หลั่งไหลเข้ามา ท่ามกลางผลงานเข้าประกวดจิตรกรรมยูโอบีครั้งที่ 10 จำนวนมากกว่า 600 ชิ้น มีสองผลงานของสองนักล่าฝันที่คว้ารางวัลชนะเลิศได้กลายเป็นดาวเด่นประจำปี 2562  

แบงค์ ชัยชนะ ลือตระกูล อายุ 28 ปี ศิลปินเจ้าของผลงานที่มีชื่อว่า “Wastescape” ผู้ชนะการประกวดประเภทศิลปินอาชีพ คว้าเงินรางวัล 750,000 บาท และเต่า สมชาย สีดำอ่อน อายุ 23 ปี ศิลปินผู้ชนะเลิศในประเภทศิลปินใหม่หรือสมัครเล่น จากผลงานสื่อผสมบนแผ่นไม้ ที่มีชื่อว่า “ภาพลักษณ์ของชีวิตจากใบหน้า หมายเลข 2 รับเงินรางวัล 90,000 บาทพร้อมของวัลและโลห์ประกาศเกียรติคุณ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับแบงค์ ชัยชนะ ที่ได้แสดงงานและได้กวาดรางวัลจากเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบี เพราะแบงค์คือ ศิลปินคนล่าฝันที่ชนะเลิศประเภทศิลปินใหม่ในปีที่แล้ว โดยได้มีโอกาสไปดูงานและแสดงงานที่สิงคโปร์บนเวทีการประกวดจิตรกรรมยูโอบีระดับภูมิภาค UOB Southeast Asian Painting of the Year เมื่อปี 2561 “สำหรับผมนั้น พูดได้เต็มปากว่าผมคือ ‘นักล่าฝันด้านงานศิลปะ’ เวทีการประกวดเป็นการสร้างโพรไฟล์ที่ดีให้กับเรา ทำให้มีคนรู้จักมากยิ่งขึ้น ผมถือว่า เป็นอีกหนึ่งช่องทางและหนึ่งโอกาสสำหรับศิลปิน เมื่อปีที่แล้วรางวัลที่ได้รับจากยูโอบี ทำให้มีโอกาสได้ไปเห็นผลงานและแนวทางผลงานของประเทศเพื่อนบ้านของเราว่า แนวงานประมาณไหนที่จะสามารถต่อยอดไปในระดับอินเตอร์ได้ และผมก็นำกลับมาพัฒนาผลงานของตัวเอง”

สอดคล้องกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปริญญา ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2561 ที่พูดถึงการล่าฝันของศิลปินที่จะทำความฝันให้โตไปในระดับนานาชาติว่า “ศิลปะไม่ใช่แค่งานการช่าง เขียนให้เหมือนอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าประเด็นที่ศิลปินจะนำเสนอออกไปนั้น คมคาย มีอะไรที่พิเศษหรือให้ประโยชน์กับสังคมหรือไม่ หลักเกณฑ์ใหญ่ๆ สำหรับการประเมินคุณค่าทางศิลปะ มี 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเอกภาพ ด้านบุคลิกเฉพาะตัว ด้านความลึกซึ้ง และความเรียบง่าย ทำน้อยแต่ได้มาก นอกจากนี้ ยังพิจารณาความสมบูรณ์ของภาพและความบริสุทธิ์ใจ หากมองไปถึงแข่งขันและเติบโตในระดับภูมิภาค ศิลปินควรต้องเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจให้เข้มข้นขึ้น พยายามหาและสะสมประสบการณ์ พยายามเห็นโลกกว้างให้มาก พัฒนาปัญญาความคิด สิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องรอบรู้ในตัวเราเองและสังคมรอบๆ ตัว ซึ่งจะส่งผลสู่การแสดงออกในผลงานได้ลึกซึ้งและสะเทือนอารมณ์คนดูมากขึ้น”

สำหรับ เต่า สมชาย นักล่าฝันที่ส่งผลงานเข้าประกวดหลายเวที แต่เป็นครั้งแรกกับจิตรกรรมยูโอบีและไม่พลาดที่จะชนะใจกรรมการคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทศิลปินใหม่ พูดถึงแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานที่ทำให้เขาสามารถล่ารางวัลนี้มาได้ว่า “ผลงานของผมได้แรงบันดาลมาจากการทำหนังตะลุง ผมเป็นคนสงขลา เคยได้ชมหนังตะลุงมาบ้าง ที่เลือกหนังตะลุงมา เพราะโดยปกติที่เค้านำหนังตะลุงมาแสดงจะเป็นการเล่าเรื่องราวของชนบท ชีวประวัติของชาวบ้าน ทั้งเรื่องตลกขบขัน เรื่องเศร้า และเรื่องราวต่างๆ มากมาย ผมเลยหยิบยกสิ่งนี้มา นำหนังตะลุงมาสร้างเป็นใบหน้า สีหน้า อารมณ์ ของคนในเครือญาติของผม เพื่อที่จะสื่อให้คนได้รู้ว่าเครือญาติของเราทำงานกันมาอย่างยากลำบาก ต่อสู้ชีวิตมามากมาย”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมพร รอดบุญ ภัณฑารักษ์อิสระผู้คัดเลือกผลงานศิลปะในการสะสมของพิพิธภัณฑ์ในระดับประเทศและนานาชาติ พูดถึงงานประกวดที่เป็นพื้นที่โอกาสของเหล่าศิลปินนักล่าฝันว่า “เกณฑ์การตัดสินงานประกวด เราดูเรื่องแนวความคิดในการทำงาน ที่มาแรงบันดาลใจ และดูความเป็นตัวตนของศิลปิน พูดง่ายๆ คือดูความเป็นต้นฉบับและความริเริ่มสร้างสรรค์  ศิลปินควรล่าฝันแต่ไม่ใช่ล่ารางวัล ต้องทำงานศิลปะสม่ำเสมอ ศิลปินควรใช้ความคิดความรู้สึกที่เป็นของเรา ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ ต้องศึกษาค้นคว้าทดลอง เพราะการค้นคว้าทดลองจะทำให้เราได้พบสิ่งใหม่ในการทำงานศิลปะ ต้องไม่ยึดติดอยู่กับที่และต้องทำงานสม่ำเสมอ”

นายตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า “เป็นความมุ่งมั่นและความทุ่มเทของยูโอบีตลอดระยะเวลา 10 ปีที่จะส่งเสริมคนที่มีความฝันและความตั้งใจในการเป็นศิลปินอาชีพให้ได้แสดงออกซึ่งความคิดและตัวตนผ่านการสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขา เราหวังว่า การประกวดจิตรกรรมยูโอบีจะเป็นเวทีสำหรับเหล่าคนล่าฝันให้เข้ามาล่าความสำเร็จบนเส้นทางการเป็นศิลปินอาชีพ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินไทยรุ่นต่อๆ ไป” 

เส้นทางคนล่าฝันของแบงค์ ชัยชนะ ไม่ได้จบอยู่แค่ชัยชนะจากรางวัลชนะเลิศ การแสดงงาน และเป็นที่รู้จักในประเทศไทยเท่านั้น เพราะ ชัยชนะ จะเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าแข่งขันกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อชิงรางวัลระดับภูมิภาค UOB Southeast Asian Painting of the Year พร้อมจัดแสดงผลงานที่ หอศิลป์  ยูโอบี ณ ธนาคารยูโอบี สำนักงานใหญ่ ประเทศสิงคโปร์ รวมถึงมีโอกาสที่จะได้รับคัดเลือกเข้าร่วมเป็นศิลปินในพำนัก (artist in residence) เป็นเวลา 1 เดือนกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น (Fukuoka  Asian Art Museum) ไม่แน่ว่านายชัยชนะอาจล่า “ชัยชนะ” ในเวทีระดับภูมิภาคมาครองได้อีกขั้น 

Previous post นักออกแบบรุ่นใหม่ร่วมโชว์ไอเดียสุดเจ๋ง บนเวที “The Challenge – Packaging Design Contest” ปีที่ 4 โดยเอสซีจี
Next post ASEM Seminar on Enhancing Human Capital for Sustainable Digital Connectivity
Social profiles