One Young World แรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่ “กมลนันท์ เจียรวนนท์” พร้อมก้าวตามฝันปันโอกาส สร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน

Read Time:5 Minute, 38 Second

“ฟ่งและเพื่อน ๆ มีความฝันว่าอยากช่วยเหลือ ให้โอกาสคนไร้สัญชาติให้ได้สัญชาติ และอยากให้เด็กกำพร้าได้กลับมาอยู่กับครอบครัวอีกครั้ง เราเห็นว่าสังคมมีปัญหาเรื่องนี้ จึงร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิเด็กและสตรี VOICES เพื่อที่จะเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยเหลือสังคม”

เป็นเป้าหมายของการทำงานเพื่อสังคมเมื่อ 9 ปีที่แล้วของ “กมลนันท์ เจียรวนนท์” หรือ “น้องฟ่ง” บุตรคนที่ 2 ของ “ศุภชัย เจียรวนนท์” แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่แม้ว่าความฝันในวันนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าที่เธอและเพื่อนๆ ในวัย 14 ปีจะทำได้ แต่การได้ลงมือทำอะไรหลายอย่างเท่าที่พอจะช่วยได้ในขณะนั้น ก็ทำให้เธอได้ค้นพบ “Passion” และ “เป้าหมาย” ชีวิตของตัวเอง

“ในปี 2557 ที่ได้ไปร่วมเวที One Young World 2014 ที่ไอร์แลนด์เป็นครั้งแรก รู้สึกประทับใจมากได้ไปเรียนรู้อะไรมากมาย ในระหว่างการพูดคุยกันในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ฟ่งก็ได้รับข่าวว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่ฟ่งพยายามช่วยเหลือมาหลายปีซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติถูกจำคุก เพียงเพราะว่าเขาพยายามกลับไปหาแม่ที่พม่า ตอนนั้นเหมือนโลกสลาย ก็รู้สึกว่าเราอาจจะต้องพูดอะไรสักอย่าง หลังจากบนเวทีพูดเสร็จเขาจะให้โอกาสตั้งคำถาม เราก็ขึ้นไปถามเสียงสั่นๆ ถามหัวหน้าแต่ละองค์กรระดับโลกว่าเคสแบบนี้ เราจะทำอะไรเพื่อคนไร้สัญชาติได้บ้างไหม ซึ่งก็ไม่มีใครตอบได้เลย”

ณ จุดนั้นเองที่ทำให้เธอรู้ว่าต้องผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเห็นว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้เลยว่าคนที่ไร้สัญชาตินั้นแตกต่างจากคนทั่วไปอย่างไร ขาดโอกาสและสิทธิ์อะไร และเป็นที่มาของการที่ “กมลนันท์” ใช้เวทีการประชุม One Young World Summit 2015 ที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยในปี 2558 พูดถึงงานของเธอที่มูลนิธิ VOICES และพูดเพื่อให้ปัญหาของคนไร้สัญชาติได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องในสังคมไทยและสังคมโลกได้หันมาสนใจดูแลปัญหาของคนกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น

“ตอนนั้นก็กลัวมากเพราะการทำงานเรื่องแบบนี้มันอาจไม่ถูกฎหมายเต็มร้อย อีกอย่างเราก็พยายามที่จะทำแบบเงียบๆ กลัวว่าจะมีคนมาโจมตีครอบครัวเรา แต่ก็กลับมาคิดต่อว่า ตั้งแต่แรกเราทำเรื่องนี้ทำไม แล้วเราไม่ได้พูดเพื่อตัวเอง ถ้าเราไม่พูดก็ไม่มีใครพูดเรื่องของคนไร้สัญชาติ ฟ่งเชื่อว่าเด็กที่เขาเกิดขึ้นมาเขาไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย เขาแค่เกิดมาแบบผิดกฎหมาย ไม่ควรผลักไสเขาออกไป เราต้องช่วยให้เด็กได้มีสัญชาติหรืออะไรสักอย่าง อย่างน้อยให้เขามีโอกาสได้รับบริการสาธารณสุขหรือการศึกษา เพียงแค่นั้นก็อาจจะทำให้เขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศเราก็ได้”

และล่าสุดในการประชุม One Young World Summit 2018 ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็ได้เกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้นำเยาวชนในการดำเนินงาน “โครงการต่อต้านความรุนแรงทางเพศ” ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่ง “กมลนันท์” ก็ได้ทำหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ในการเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กไร้สัญชาติในเวทีโลกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อร่วมมือกับผู้นำเยาวชนจากประเทศต่างๆ ในการเข้าไปจัดการกับปัญหาความรุนแรงเกี่ยวกับเพศทั้งในระดับพื้นที่และในระดับโลก

“ก่อนนั้นฟ่งเคยแอบคิดว่าทำไมเราต้องทำธุรกิจเยอะจัง ทำไมต้องทำธุรกิจให้ใหญ่ขึ้นด้วย แต่ เมื่อได้ฟังสิ่งที่ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส พูด ทำให้ฟ่งเปลี่ยนความคิดเรื่องครอบครัวของตัวเอง ท่านพูดว่า ในยุคของคนรุ่นใหม่เราควรเปลี่ยนความคิดจากการที่เราต้องหางานให้ตัวเอง เปลี่ยนเป็นการที่เราควรช่วยสร้างงานให้คนอื่นๆ คำพูดนี้ทำให้เรามองว่าที่ครอบครัวของเราทำธุรกิจให้มันใหญ่ขึ้นก็แปลได้ว่าเราจ้างคนให้ได้ทำงานมากขึ้น มันก็เป็น impact อีกแบบหนึ่ง ก็เลยทำให้หันมามองว่าการทำธุรกิจมันก็สามารถช่วย Drive Change ได้ และอาจจะทำได้ยั่งยืนกว่าในสิ่งที่เราทำอยู่ด้วยซ้ำ”

ประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ ในเวทีระดับโลกนี้เองทำให้ “กมลนันท์” เติบโตขึ้นทางความคิดและปรับเปลี่ยนเป้าหมายการทำงานไปสู่การความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น

“หลังจากนั้นโครงการ Voices หรือว่างานอื่นๆ ที่ ฟ่งก็อยากเห็นว่าคนไร้สัญชาติหรือเด็กกำพร้าที่เราช่วยเหลือเหล่านั้นมีงานทำ เพราะเชื่อว่าพวกเขาก็ไม่ได้อยากหรือรอให้คนมาบริจาคช่วยเหลือไปตลอดชีวิต เขาเองก็อยากมีงานทำ มีรายได้ของตัวเอง แล้วก็รู้ว่าตัวเองสามารถใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนได้”

ตลอดระยะเวลาในการทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาสของ “กมลนันท์” แม้ว่าจะมีอุปสรรคต่างๆ มากมาย จนเหมือนกับว่า “ความฝัน” ของเธอและเพื่อนๆ ซึ่งเป็นฝันเดียวกันกับบรรดา “เด็กไร้สัญชาติ” ตามแนวตะเข็บชายแดนนั้นดูเหมือนจะไกลเกินเอื้อม แต่เจ้าตัวกลับไม่ท้อและพร้อมเดินหน้าต่อไปพร้อมกับว่าคำ “ไม่สำเร็จ”

“ฟ่งคิดว่างานแบบนี้มันอาจจะไม่มีวันสำเร็จได้จริงๆ เพราะเมื่อเราช่วยคนได้ ก็อาจจะมีคนอีกสิบร้อยพันหมื่นคนที่รอให้เราช่วย แล้วโลกของเราก็มีเด็กเกิดขึ้นใหม่ทุกนาที มีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกแย่มากที่ทำไม่สำเร็จก็เริ่มท้อ  สังคมก็ไม่เชื่อมั่นใน สังคมด้านกฎหมายก็ไม่ Support ก็รู้สึกว่าเราอาจจะทำต่อไม่ได้ ตอนกลับมาเมืองไทยฟ่งก็ไปเลี้ยงเด็กที่บ้านพักฉุกเฉิน แล้วมีเด็กคนหนึ่งอายุขวบกว่าๆ เตาะแตะมากอดขา เหมือนเขารู้ว่าเราเป็นอะไรสักอย่าง ก็เลยรู้สึกว่าเราต้องสู้ต่อไป ไม่อย่างนั้นอนาคตของเด็กๆ กลุ่มนี้จะหายไปทันที วันนั้นเรากลับมาคิดได้ว่าเรายอมแพ้ไม่ได้ เราอาจจะไม่สำเร็จวันนี้ เราอาจจะไม่สำเร็จพรุ่งนี้ หรือว่าอีก 10 ปี แต่ว่าทุกก้าวที่เราทำ มันก็ทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้นไปทีละนิดๆ”

“กมลนันท์” ได้ร่วมกับเพื่อนชื่อ “สวรินทร์ ภุมรินทร์” ก่อตั้ง มูลนิธิเด็กและสตรี VOICES (Voices Foundation for Vulnerable Children)   นอกจากนี้ยังได้รับความเชื่อมั่นให้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง “ประธานมูลนิธิ ธนินท์ เทวี เจียรวนนท์” อีกด้วย

“ฟ่งอยากเห็นสังคมของเรา Inclusive มากกว่านี้ อย่างตอนนี้เรารับรู้และเข้าใจเรื่องความเท่าเทียม  Equality เรื่อง LGBTQ  แต่กฎหมายยังไม่ยอมรับ และอยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันขับเคลื่อนสังคมและกฎหมายต่างๆ ไปให้ทันกับการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลง ซึ่งตอนนี้จะไปทำงานเป็นที่ปรึกษาด้าน social sector สัก 3-4 ปี เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้หลายๆ อย่างทั้งเรื่องธุรกิจ ด้านสังคม หรือการทำงานกับภาครัฐ แล้วเมื่อเรากลับมาทำงานที่ มูลนิธิ ธนินทร์ เทวี เจียรวนนท์ จะได้ทำงานเพื่อสังคมได้เต็มที่ เพราะถ้าเราจะทำให้ยั่งยืนจริงๆ เราต้องทำงานกับทุกภาคส่วน ก็เลยอยากเรียนรู้ให้มากที่สุด เพื่อที่จะกลับมาทำงานในระยะยาว เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้เกิดความยั่งยืนมากที่สุด”

“กมลนันท์” กล่าวทิ้งท้ายถึงเป้าหมายการทำงานและความฝันในอนาคตของเธอที่ต้องการช่วยเหลือให้เด็กด้อยโอกาสให้ได้มีพื้นที่ชีวิตและจุดยืนในสังคมในฐานะของความเป็น “มนุษย์” คนหนึ่งเช่นเดียวกันคนอื่นๆ บนโลกใบนี้.

Previous post ป๊อก มาร์กี้ นำทีมศิลปินดารา ชวนร่วมงาน “ล้านพลังคนไทย มอบโอกาสทางการศึกษาเป็นของขวัญ” กับ กสศ.
Next post แบมบีนี่ วิลล่า จัดงาน “ตลาดนัดเทใจ” ระดมทุนหาของขวัญปีใหม่ส่งใจให้เด็กป่วย
Social profiles