กทพ. เดินหน้าโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2

Read Time:2 Minute, 24 Second

วันนี้ เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมรัตนแกรนด์บอลรูม โรงแรมรัตนชล อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี นายวิชาญ  เอกรินทรากุล ที่ปรึกษาผู้ว่าการ (ด้านการบริหาร) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม เป็นประธาน  ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวสายทาง และรูปแบบทางขึ้น-ลงที่เหมาะสมของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เข้าร่วมเป็นเกียรติในงาน

สืบเนื่องจากโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 เพื่อแนะนำประชาสัมพันธ์โครงการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงแนวเส้นทางโครงการเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนถนนเทพรัตนช่วงทางลงทางพิเศษบูรพาวิถีบริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ชลบุรี และโครงข่ายถนนโดยรอบให้สามารถรองรับปริมาณจราจรได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด และ บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ทำการคัดเลือกแนวสายทางและรูปแบบทางขึ้น-ลงที่เหมาะสมกับโครงการ คือทางขึ้น-ลงทางพิเศษบูรพาวิถีที่จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณถนนบ้านเก่า และทางขึ้น-ลงทางพิเศษบูรพาวิถีที่จุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงแนวสายทางโครงการได้รับทราบข้อมูลโครงการที่ถูกต้อง และเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งโครงการจะได้นำไปพิจารณาประกอบการศึกษาและพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมและครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป

ผลการคัดเลือกรูปแบบทางขึ้น-ลงของโครงการ พบว่ารูปแบบทางขึ้น-ลงทางพิเศษบูรพาวิถีที่จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณถนนบ้านเก่า รูปแบบที่ 2 (ออกแบบทางขึ้น-ลงใหม่ เพื่อเชื่อมต่อถนนบ้านเก่า) มีความเหมาะสมที่สุด สำหรับรูปแบบทางขึ้น-ลงทางพิเศษบูรพาวิถีที่จุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี พบว่ารูปแบบที่ 2 (ออกแบบทางขึ้น-ลง เชื่อมต่อถนน    เลี่ยงเมือง โดยจุดสิ้นสุดทางพิเศษบนถนนเทพรัตน ทางขึ้น-ลง เชื่อมต่อสะพานทางแยกต่างระดับหนองไม้แดง) มีความเหมาะสมที่สุด  

“งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถีและถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี จะช่วยลดการตัดกระแสจราจรบริเวณด้านหน้านิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจรบนโครงข่ายถนนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ให้สามารถรองรับปริมาณจราจรได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรทั้งระบบอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมเพื่อรองรับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป” รองผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวในท้ายที่สุด

Previous post ทางเลือกใหม่ Diet Doctor Center ศูนย์สุขภาพโภชนบำบัดครบวงจร เพื่อสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืน
Next post 4 สัญญาณเตือน ภาวะสายตายาวตามวัย
Social profiles