NIA เผยทิศทางความสำเร็จสู่ปีที่ 12 เดินหน้าผลักดัน “นวัตกรรม” ขับเคลื่อนประเทศไทย

Read Time:5 Minute, 30 Second

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA แถลงข่าว “ก้าวย่างความสำเร็จสู่ปีที่ 12” พร้อมเปิดทิศทางเดินหน้าขับเคลื่อนอนาคตประเทศด้วยนวัตกรรม ผ่าน 3 กลไกหลัก ได้แก่ 1) การเงินนวัตกรรม 2) นวัตกรรมทั่วประเทศ และ 3) นวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยมุ่งหวังผลักดันให้ “นวัตกรรม” เข้าไปเป็นเครื่องมือหลักของการขับเคลื่อนประเทศไทยในยุคที่ต้องเผชิญกับ วิกฤตโรคระบาด ภาวะโลกร้อน และวิกฤตเศรษฐกิจโลก เพื่อปรับกระบวนทัศน์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่รับมือการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ตอบโจทย์ประเด็นความท้าทายที่ไม่อาจจะรับมือด้วยกันตั้งรับเพียงอย่างเดียวเหมือนอย่างที่ผ่านมา โดยมุ่งหมายสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมในภูมิภาค

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า “จากวิกฤตต้มยำกุ้งที่เป็นจุดกำเนิดของการจัดตั้งสำนักงานฯ จนถึงก้าวย่างสู่ปีที่ 12 ในปีนี้ คำว่า “นวัตกรรม” ได้แทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ “ชาตินวัตกรรม” ทั้งนี้ NIA ยังคงมุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งในการทำงานเชิงระบบ เพื่อฟูมฟักให้เกิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติทั้งระดับนโยบาย สาขาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และประชาชน มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเดินหน้าขับเคลื่อนในช่วงปี 2562 – 2565 ถือเป็นยุคที่ 4 ที่เรียกว่า “ยุคนวัตกรรมคือยุทธศาสตร์ชาติ” ซึ่ง NIA ในฐานะสะพานเชื่อม (System Integrator) ระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ การศึกษาและสังคม จะส่งเสริมและผลักดันให้ “นวัตกรรม” เข้าไปเป็นเสมือนองค์ประกอบหลักในทุกบริบทของการขับเคลื่อนประเทศไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคมผ่าน 3 มิติ คือ การเงินนวัตกรรม (Financing Innovation) โอกาสทางนวัตกรรม (Innovation Opportunity) และนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Innovation) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่รับมือการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ตอบโจทย์ประเด็นความท้าทายที่ไม่อาจจะรับมือด้วยกันตั้งรับเพียงอย่างเดียวเหมือนอย่างที่ผ่านมา โดยมุ่งหมายสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมในภูมิภาค”

นายวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “การสนับสนุนทางด้านการเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมของไทย มีความกล้าที่จะลงมือสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีความท้าทายและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้มากขึ้น ที่ผ่านมา NIA ได้พัฒนากลไกการสนับสนุนในหลากหลายรูปแบบตั้งแต่เริ่มต้นทำต้นแบบไปจนถึงการขยายผลและต่อยอดนวัตกรรมผ่านโครงการนวัตกรรมแบบเปิด โครงการนวัตกรรมดี…ไม่มีดอกเบี้ย เป็นต้น ซึ่งในอนาคตมีการวางแนวทางการพัฒนา “การเงินนวัตกรรม” ให้มีรูปแบบและวงเงินที่ชัดเจนครอบคลุมให้ครบวงจรมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการกระจายโอกาสการสนับสนุนเงินทุนนวัตกรรมไปในระดับภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจจะสนับสนุนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ และปัญญาประดิษฐ์สำหรับเกษตรและอาหาร รวมถึงการพัฒนากลไกเพื่อเร่งการเติบต่อและต่อยอดผ่านการเชื่อมโยงกับนักลงทุนและสถาบันการเงิน สำหรับนวัตกรรมด้านสังคมจะมุ่งเน้นสร้างโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิต ลดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมโดยอาศัยรูปแบบกลไกการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคม และเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยมีเป้าหมายในการเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมและธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้พลวัตรการขับเคลื่อนสี่เหลี่ยมนวัตกรรมที่เชื่อมระหว่างภาครัฐ ระบบวิจัย ระบบเศรษฐกิจ และภาคประชาสังคมหรือชุมชน”

ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม กล่าวว่า “เยาวชนเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศโดย NIA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมสำหรับเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “STEAM4Innovator” ซึ่งที่ผ่านมาเกิดเครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์กว่า 60,000 คน นวัตกรรุ่นเยาว์กว่า 550 คน ผลงานนวัตกรรมที่กำลังต่อยอดธุรกิจมากกว่า 30 ผลงาน และนำร่องห้องเรียนนวัตกรรมที่เป็นการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาร่วมกับโรงเรียนสามเสนวิทยา ซึ่งจะขยายผลร่วมกับเครือข่ายกองกำกับกิจการไฟฟ้า (กกพ.) อีกกว่า 50 โรงเรียน ทั้งนี้ ยังมีโครงการสำหรับเยาวชนระดับอาชีวะและมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการ Startup Thailand league เพื่อกระตุ้นให้เกิดระบบนิเวศสตาร์ทอัพและพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการโดยอาศัยเครือข่ายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับและกระจายโอกาสทางนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค (Regionalization of Innovation) เพื่อประยุกต์ใช้นวัตกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่กับการส่งเสริมให้เกิด “ระบบนิเวศนวัตกรรม” โดยมีการการสร้างผู้นำการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มจำนวนอค์กรนวัตกรรม (create the dot) การสร้างให้เกิดเครือข่ายและค้นหาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมของพื้นที่ (connect the dot) และส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการด้านนวัตกรรมของพื้นที่เป็นที่รู้จักและยอมรับ (Value creation)”

นางธีรีสา มัทวพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร กล่าวว่า “ข้อมูลเปรียบเสมือนวัตถุดิบและเครื่องมือชั้นดีสำหรับการสร้างนวัตกรรม เพราะเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สามารถนำไปสู่การผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ที่สร้างมูลค่าและสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว NIA จึงให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในมิติต่างๆ โดยมีโครงการ Flagship ด้านข้อมูลที่สำคัญ 3 โครงการ ได้แก่ 1) การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Innovation) โดยได้ริเริ่มพัฒนาระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลนวัตกรรม สำหรับเป็นฐานข้อมูลกลางที่รวบรวมข้อมูลนวัตกรรมด้านต่างๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เช่น ข้อมูลสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการนวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ เพื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้วิเคราะห์และประกอบการตัดสินใจดำเนินงานด้านต่างๆ รวมไปถึงการวางแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง 2) การนำเครื่องมือการประเมินองค์กรนวัตกรรมมาให้บริการประเมินและให้คำปรึกษาการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กรสำหรับผู้ประกอบการผ่าน “โปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร” โดยข้อมูลที่ได้สามารถนำมาวิเคราะห์ศักยภาพขององค์กรในภาพรวมของประเทศและอุตสาหกรรมได้ เพื่อนำไปพัฒนารูปแบบและกลไกสนับสนุนจากข้อมูลศักยภาพด้านนวัตกรรมขององค์กร สามารถกำหนดแผนงานที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญเพื่อยกระดับส่วนงานต่างๆ ในธุรกิจได้มากขึ้น และ 3) “สถาบันการมองอนาคตนวัตรรม” หรือ Innovation Foresight Institute (IFI) ที่มีการนำแนวคิดการมองอนาคตมาใช้เป็นเครื่องมือในการมองภาคความเปลี่ยนแปลงของอนาคต เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรม และการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการใช้งานและวิเคราะห์ข้อมูลสัญญาณความเปลี่ยนแปลง และข้อมูลการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อออกแบบภาพอนาคตที่พึงประสงค์ต่อไป”

Previous post ชวนนักท่องเที่ยวรุ่นใหญ่ เที่ยวหมู่บ้านเล็กใน “ชนบท”กับแคมเปญ “ชนบทที่รัก Silver Age 5.0”
Next post บำรุงราษฎร์ มั่นใจศักยภาพการแพทย์ครบทุกมิติ พร้อมนำไทยสู่แถวหน้า ด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก
Social profiles