พรีม่า เปิดเวทีเสวนา ในงานประชุมด้านชีววิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค

Read Time:6 Minute, 8 Second

สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ“พรีม่า” ร่วมจัดสัมมนา โชว์ศักยภาพด้านชีววิทยาศาสตร์ของไทยในเวทีระดับนานาชาติ ในงานประชุมด้านชีววิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค (Bio Asia Pacific 2020) ใน 2 หัวข้อ ได้แก่ ‘Chances Favour the Prepared Mind: Crisis Management Post Pandemic (โอกาสที่เอื้อต่อการปรับทัศนคติ: การศึกษาการบริหารจัดการวิกฤติหลังโรคระบาด)’ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูล เทคโนโลยี นวัตกรรม และการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งพร้อมรับมือสถานการณ์วิกฤต และหัวข้อ ‘Conquering the S-Curve: Strengthening Global Value Chain (การพิชิต S-Curve เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่มูลค่าโลก)’ เน้นความสำคัญของจุดเริ่มต้นการเป็นประเทศต้นน้ำในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยา เพื่อการ
ยืนหยัดบนเวทีโลกผ่านมุมมองด้านธุรกิจ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อเร็ว ๆ นี้

นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ “พรีม่า” กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัย นักพัฒนา นักอุตสาหกรรม นักลงทุน ที่จะช่วยกันสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในระบบสุขภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศต่อไปในอนาคต 

“นโยบายของเรามุ่งไปในเรื่องของการสร้างความร่วมมือเป็นหลัก ทุกวันนี้สมาชิกของเราก็มีส่วนร่วมในการวิจัยพัฒนายารักษา วัคซีน เครื่องมือตรวจไวรัสโควิด-19 ในระดับโลก และได้นำองค์ความรู้และทรัพยากรเหล่านั้นเข้ามาในประเทศไทยด้วย

ล่าสุดเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยมีวิสัยทัศน์ ได้เข้าไปเจรจากับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) และบริษัทแอสทราเซเนกา (AstraZeneca) ผู้ผลิตวัคซีน ทำให้จากในอดีตประเทศไทยเป็นเพียงผู้ซื้อ แต่ตอนนี้ได้มีการเข้าไปเจรจาขอถ่ายทอดเทคโนโลยีมาเป็นผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งในอนาคตเราจะเป็นผู้สร้างนวัตกรรมหรือนวัตกร (Innovator) ที่ไม่เพียงถ่ายทอดเทคโนโลยีเฉพาะในประเทศไทย แต่เพื่อสนองต่อความจำเป็นของ 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน”

นพ.ทวิราป กล่าวเสริมว่าเมื่อวิสัยทัศน์เริ่มเปลี่ยนอาจจะไม่ได้เป็นการนอกกรอบ แต่เป็นการขยายกรอบให้ใหญ่ขึ้น “ดังนั้นถ้าหากเราเป็น  Innovator ก็จะเกิดนวัตกรรมขึ้นในประเทศของเรา ทุกวันนี้ประเทศไทยนำเข้ายาจากต่างประเทศจำนวนมาก เพราะเราไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ และบางประเทศสามารถผลิตยาได้ในราคาถูกกว่าเรา  ซึ่งเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา และถ้าประเทศไทยสามารถเป็นผู้ที่พัฒนายาได้เอง ก็จะสามารถเป็นผู้ที่จะเลือกได้ ว่าเราจะผลิตเท่าไร ผลิตให้ใคร และรายได้ที่เกิดขึ้นจากตรงนั้นจะเป็นตัวเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ และเข้ามาเติมเต็มในสิ่งที่เรายังทำไม่ได้ รวมทั้งจะมาเติมให้ระบบสังคมของเราเติบโตจากรายได้ปานกลางไปสู่รายได้ที่สูงทำให้ทุกคนมีทางเลือก และเกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้นในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับหากประเทศไทยได้เป็น Innovator คือจะเกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์ และอุปทาน เรื่องการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ จะไม่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะฉะนั้นมุมมองต้องเปลี่ยน ถ้าเราดึงสิ่งเหล่านี้เข้ามาในบ้านเราได้ นอกจากที่เราจะเป็นผู้ผลิต ผู้สร้าง ยังมีรายได้ซึ่งมาเติมเต็มในสิ่งที่เรายังทำไม่ได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ เวทีเสวนาร่วมในส่วนของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ “พรีม่า” ได้ยกเรื่องของ S-Curve ของประเทศไทยจะช่วยสร้างโอกาสและช่วงชิงพื้นที่ในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) บนเวทีโลก ในหัวข้อ ‘Conquering the S-Curve: Strengthening Global Value Chain (การพิชิต S-Curve เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในห่วงโซ่มูลค่าโลก)’ โดยมี 3 วิทยากรมากด้วยประสบการณ์ อันหลากหลาย ในแต่ละช่วงของ S-Curve มาร่วมแสดงทัศนะกัน ได้แก่ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ.ดร.นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญาและวิจัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.พนิต กิจสุบรรณ  ประธานเจ้าหน้าที่สายงานเทคโนโลยี บริษัท ไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยมี นพ. ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรีม่า เป็นผู้ดำเนินการเสวนาในครั้งนี้ ที่สะท้อนมุมมองทั้งจากภาคธุรกิจ ที่เล็งเห็นว่าปัจจุบันตลาดระดับโลกของยาวิวัฒน์ไปไกลกว่าเมื่อก่อนมาก

การแข่งขันไม่ใช่แค่ใครผลิตยาได้ แต่เทคโนโลยีของใครล้ำหน้ากว่า และเมื่อผลิตแล้วถูกนำไปเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ดีระดับไหน ในไทยมีสตาร์ทอัพและนวัตกรที่พร้อมจะร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมยาให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่ม S-Curve สำหรับวงการเภสัชภัณฑ์ที่จะพัฒนาขึ้นตามกลไกที่ควรจะเป็น ที่สำคัญคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่มาร่วมสนับสนุนทั้งจากหน่วยงานผู้กำกับดูแลนโยบาย สถาบันวิจัยต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการและนักลงทุนจากภาคเอกชน

ในขณะที่นักวิจัยได้สะท้อนถึงความสำคัญของงานวิจัยในประเทศไทยในอนาคตอาจจะต้องคำนึงถึงการนำไปต่อยอดในด้านธุรกิจหรือสร้างนวัตกรรมที่เป็นสิทธิบัตรได้ด้วย เพราะทุกวันนี้ไทยมีงานวิจัยจำนวนมากและหลากหลาย แต่กลับสวนทางกับการนำไปต่อยอดและสร้างประโยชน์ให้เกิดประสิทธิผลที่เป็นรูปธรรม ฉะนั้น นักวิจัยต้องคิดให้ใหญ่และทำได้จริง มองไกลไปถึงธุรกิจได้ด้วย พร้อมตอกย้ำว่าการจะก้าวข้ามขีดความสามารถของวงการสาธารณสุขไทยต้องหลุดออกจากทัศนคติเดิม ๆ และภาครัฐควรเข้ามาผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อให้ทุกฝ่าย ทั้งผู้สนับสนุนทุนวิจัย นักวิจัย นวัตกร สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างสอดประสาน ซึ่งหากทลายกำแพงตรงนี้ลงการจะเกิด S-Curve ที่มีประสิทธิภาพและทำได้ในอนาคตอันใกล้ รวมถึงไทยเองก็จะกลายเป็นหนึ่งในผู้ที่สามารถต่อรองกับอาณาอารยะประเทศในด้านสาธารณสุขบนเวทีโลกได้อย่างแน่นอน ด้วยศักยภาพที่แข็งแกร่งของเรา

สำหรับในช่วงเสวนาหัวข้อ ‘Chances Favour the Prepared Mind: Crisis Management Post Pandemic (โอกาสที่เอื้อต่อการปรับทัศนคติ: การศึกษาการบริหารจัดการวิกฤติหลังโรคระบาด)’ พรีม่าได้รับเกียรติจากหลายภาคส่วนทั้งตัวแทนภาครัฐ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บริษัทที่เป็นสมาชิกพรีม่า และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ร่วมกันแสดงทัศนะสำหรับแนวทางในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยมี ดร. นเรศ ดำรงชัย Co-Chair, APEC Life Sciences Innovation Forum,  สิริภัทร สุมนาพันธุ์ ผู้จัดการโครงการโปรแกรมเครื่องมือแพทย์และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS, นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านระบาดวิทยาภาคสนาม กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, มร. จอห์น แคลร์ รองประธานฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ประเทศไทยและอินโดจีน (พม่า กัมพูชา ลาว) บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด และดร. นรา เดชะรินทร์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันแสดงทัศนะสำหรับแนวทางในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ บวกกับการจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนนี้เอง ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่รับมือกับโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมอยู่เสมอหากเกิดวิกฤติเช่นนี้อีก ไม่ว่าจะนโยบาย หลักปฏิบัติที่ควรสร้างให้เป็นบรรทัดฐาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ

Previous post เหล่าเซเลบริตี้ เล่าสไตล์การแต่งบ้านเผย “ซันลีฟ ชัตเตอร์” ช่วยให้บ้านน่าอยู่
Next post ‘JOOX’ เดินเกม จับมือ ‘RS Music’ลุยโปรเจกต์ยักษ์ จับเพลงฮิตยุคเก่า ปรับลุค ให้เข้ากับคนฟังยุคใหม่
Social profiles