มูลนิธิรามาธิบดีฯ เผย การบริหารจัดการมูลนิธิในยุคนิวนอร์มอลและทิศทางการดำเนินงานของมูลนิธิรามาธิบดีฯในปี 2564

Read Time:7 Minute, 29 Second

การดำเนินงานของมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในปี 2563 และความท้าทายที่เกิดขึ้น

  • การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้น ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนการใช้ชีวิตของหลายๆ คน สำหรับอาชีพในสายบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคที่ไม่เคยเจอมาก่อนและยังต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นงานที่หนักและมีความเสี่ยงสูง ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้ออีกด้วย
  • นอกเหนือจากการเป็นหน่วยงานที่สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในวงกว้างแล้วนั้นท่ามกลางสถานการณ์ความเร่งด่วนที่เกิดขึ้น ในปี 2563 นี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรและจิตอาสาในการเร่งระดมทุนและเผยแพร่ข่าวสารแก่ประชาชนในวงกว้าง เพื่อให้สามารถจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการ รวมถึงให้การสนับสนุนเร่งด่วนแก่เคสฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางโรคระบาดอีกด้วย เช่น กรณีความสำเร็จของทีมแพทย์ รพ.รามาธิบดี ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้ป่วยโควิด-19 มาให้กับผู้ป่วยลาลัสซีเมีย สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก เป็นต้น

เทรนด์ และความท้าทายขององค์กรการกุศลในปัจจุบัน

มีความระมัดระวังมากขึ้น เลือกองค์กรที่เชื่อถือและตรวจสอบได้ : ผู้บริจาคมีความรอบคอบและระมัดระวังมากขึ้น ทำให้มักตัดสินใจเลือกองค์กรที่เชื่อถือและตรวจสอบได้ เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าเงินบริจาคจะถูกนำไปใช้ตรงกับจุดประสงค์ของการรับบริจาคอย่างแท้จริง

สังคมไร้เงินสด และ e-payment : ภาวะการล็อกดาวน์ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เปรียบเสมือนเป็นตัวเร่งให้คนไทยสามารถปรับตัวกับการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะนอกจากเงินสดมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสแล้ว การที่ผู้คนหันมาใช้ Mobile banking และ e-wallet กันมากขึ้น ก็ทำให้มูลนิธิเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเว็บไซต์ การพัฒนาช่องทางโซเชียล รวมไปถึงจับมือร่วมกับพันธมิตร Super App ในการเพิ่มช่องทางการบริจาคที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนยุคนิวนอร์มอล

สัดส่วนผู้บริจาคของมูลนิธิรามาธิบดีฯ  แบ่งเป็นกลุ่มที่เดินเข้ามาที่มูลนิธิฯ กับบริจาคผ่านช่องทางออนไลน์หลักของมูลนิธิฯ และแอปต่างๆ หรือที่เรียกว่า Non-Walking ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 60% ในขณะที่กลุ่มผู้บริจาคที่เดินทางมาบริจาคอยู่ที่ 40% ซึ่งทางมูลนิธิฯ เล็งเห็นแนวโน้มที่กลุ่ม Non-walking หรือออนไลน์ จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่อง

บริการและการรักษาผ่านเทเลเมดิซีน (Telemedicine) : ช่วยผู้ป่วยสามารถพบแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล และสามารถรับยาและจ่ายค่ารักษาผ่านการส่งไปรษณีย์และช่องทางดิจิทัล เพื่อลดความเสี่ยงได้รับเชื้อระหว่างเดินทาง และยังสามารถลดความแออัดที่โรงพยาบาล และตอบรับมาตรการด้านระยะห่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในระหว่างตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ใช้บริการดังกล่าวแล้วกว่า 7,000 ราย

ของที่ระลึกการกุศล : ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการให้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในปีนี้มูลนิธิได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ทั้งจากเครือข่ายศิลปินจิตอาสา เช่น ลายจากศิลปินแห่งชาติ อ.ถวัลย์ ดัชนี และแบรนด์คาแรคเตอร์อย่างสนู้ปปี้ ซึ่งนอกจากช่องทางการซื้อขายทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ของมูลนิธิเอง เรายังได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรรวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย อย่าง Shopee และ Lazada ที่ช่วยเพิ่มช่องทางให้ผู้มีจิตศรัทธาเข้าถึงของที่ระลึกการกุศลได้สะดวกมากขึ้น

การร่วมสนับสนุนจากเครือข่ายองค์กรและภาคประชาชน : ผู้มีจิตศรัทธาในภาคองค์กรนิยมการคิดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับภาคเอกชนด้วยกัน หรือทำงานร่วมกับภาคการกุศลกันมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีจิตศรัทธารู้สึกสนใจและต้องการสมทบทุนบริจาคในโครงการที่ตนเองสนับสนุนมากยิ่งขึ้น เช่น การทำ LINE Sticker ร่วมกัน การทำคอลเลกชันเสื้อผ้าพิเศษต่างๆ เป็นต้น

แชร์-ช่วย ช่วย-แชร์ : การทำบุญของผู้คนยุคโซเชียลนั้น เราจะเห็นเทรนด์ในการบริจาคผ่านการโอนเงินพร้อมกับแชร์สลิป ด้วยเหตุผลเพื่ออยากให้คนอื่นๆ ร่วมทำบุญไปกับตน นอกจากนั้นก็ยังมักจะแชร์เรื่องราวหรือเคสเร่งด่วน เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงในการช่วยระดมทุนและระดมความช่วยเหลืออีกด้วย

โครงการที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ให้การดูแลในขณะนี้

ในปี 2563 ถึง 2564 ที่จะถึงนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ขับเคลื่อนโครงการต่างๆมากมาย โดยมีโครงการหลักที่ยังคงดำเนินการต่อเนื่องทั้งสิ้น 4 โครงการ รวมงบประมาณที่ต้องระดมทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการหลักทั้ง 4 มีดังนี้

โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (Chakri Naruebodindra Medical Institute) ซึ่งเป็น รพ.หลักที่ให้การรักษาผู้ป่วยโควิดในช่วงที่ผ่านมา โดย สถาบันฯ แห่งนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นต้นแบบการสาธารณสุขของไทย ทั้งในด้านการตรวจรักษาและการผลิตบัณฑิตทางสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ในหลากหลายสาขาที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงด้านการวิจัย โดยการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพ และมุ่งเป้าเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศอย่างตรงจุด อีกทั้งยังเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีจำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยในได้มากถึง 550 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้ 1,000,000 ราย ผู้ป่วยใน 17,000 รายต่อปี ให้บริการผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม ในขณะเดียวกันก็สามารถส่งตัวผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาที่ซับซ้อนขึ้นไปที่โรงพยาบาลรามาธิบดี พญาไท ได้เช่นกัน

โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ เป็นโครงการที่มูลนิธิรามาธิบดีได้ให้การสนับสนุนมายาวนานกว่า 51 ปี เนื่องจากในแต่ละปีจะผู้ป่วยจำนวนมากจากทั่วประเทศที่เข้ารับการรักษากับทาง รพ.รามาธิบดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ค่ารักษาพยาบาล  ซึ่งคำว่าผู้ป่วยยากไร้เป็นคำเรียกรวมผู้ป่วยหลายประเภทที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษาพยาบาล เช่น ผู้ป่วยจากสถานสงเคราะห์, ผู้ป่วยจิตเวช, ภิกษุอาพาธและแม่ชีที่ป่วย, ผู้ป่วยเร่ร่อนจรจัด, ผู้ป่วยในพระราชูปถัมภ์, ผู้ป่วยจากเหตุการณ์และภัยพิบัติต่างๆ,  ผู้ป่วยต่างด้าว และผู้ป่วยในกลุ่มที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่ามูลค่าที่สิทธิประกันตนครอบคลุม เพราะถึงแม้ว่าประชาชนชาวไทยจะได้รับสิทธิการรักษาฟรีตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิพื้นฐานอื่นๆ แต่ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่มีปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิดังกล่าว เช่น

  • สิทธิไม่ครอบคลุมบางโรค เช่น การปลูกถ่ายตับ การเปลี่ยนไต และ เปลี่ยนถ่ายไขกระดูก เป็นต้น
  • ยาหรืออุปกรณ์การแพทย์บางรายการไม่ได้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงเป็นส่วนเกินที่ผู้ป่วยต้องชำระเอง
  • กรณีผู้ป่วยดำเนินการผิดขั้นตอน ใช้สิทธิไม่ถูกต้อง หรือยื่นเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน

ซึ่งมูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ให้การสนับสนุนแก่ผู้ป่วยยากไร้จำนวนกว่า 3,000 คนต่อปี

โครงการรามาธิบดี เพื่อโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้การสนับสนุนแก่ โรงพยาบาลชุมชนต้นแบบ 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก, โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น, โรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด่านซ้าย จ.เลย และโรงพยาบาลชุมชนที่สนใจเพิ่มเติมอีกกว่า 19 แห่ง โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี ของโครงการนับจากนี้จะช่วยเหลือผู้คนใน 79 หมู่บ้าน 23 อำเภอกว่า 4 แสนราย…ทั้งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการและทุพพลภาพให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ยากไร้ในพื้นที่, พัฒนาการเรียนการสอนด้านระบบบริการสาธารธารณสุขและระบบสุขภาพชุมชนที่ดีและมีคุณภาพ มุ่งผลิตนักบริบาลชุมชน บุคลากรการแพทย์มากกว่า 5,000 ราย รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ นำชุดความรู้ไปพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและระบบสุขภาพชุมชนให้ดีขึ้น

โครงการทุนการศึกษารามาธิบดี เพื่อมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งหลักสูตรปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้สามารถจ่ายค่าการศึกษาและค่าใช้จ่ายจำเป็นในการดำรงชีพ อันจะทำให้นักศึกษาเล่าเรียนได้ตามความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ เมื่อจบการศึกษา จะได้นำความรู้ไปพัฒนาให้เกิดความเชี่ยวชาญจนเป็นที่พึ่งของผู้ป่วยและทำประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

โดยในปี 2563 นี้มีนักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 จำนวน 89 คน  แบ่งเป็น

1. หลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต 11 คน

2. หลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต 53 คน

3. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาสื่อความหมาย และความผิดปกติของการสื่อความหมาย 2 คน

4. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ 23 คน

#คำว่าให้ไม่สิ้นสุด

ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี
ธนาคารกสิกรไทย   เลขที่ 879-2-00448-3

ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 026-3-05216-3

ธนาคารกรุงเทพ   เลขที่ 090-3-50015-5
บริจาคออนไลน์ www.ramafoundation.or.th สอบถามโทร 02-201-1111

Previous post เซ็นทรัล รีเทล ดึง “ญาญ่า อุรัสยา” มอบความสุขให้น้องผู้บกพร่องทางสายตาพร้อมชวนคนไทยส่งต่อคะแนน The 1 แทนเงินบริจาค
Next post แม็คโคร รุกหนักอาหารสดปลอดภัย หลังขึ้นแท่นสุดยอดซูเปอร์มาร์เก็ต 2563!
Social profiles