Lombard Odier และ KBank Private Banking เผยผลสำรวจ มุมมองผู้มีความมั่งคั่งสูง (UHNWIs) ต่อชีวิตวิถีใหม่

Read Time:4 Minute, 35 Second

Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ร่วมกับ KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) และพันธมิตรทางธุรกิจทั้ง 5 รายในภูมิภาคเอเชีย เผยผลสำรวจล่าสุด ‘สานสัมพันธ์ เปลี่ยนผ่าน และพลิกโฉม: การเข้าถึงผู้มีความมั่งคั่งสูงในภูมิภาคเอเชีย ในยุค New Normal’ ซึ่งศึกษามุมมองและข้อกังวลของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง (UHNWIs) และผู้นำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความท้าทาย พร้อมเสนอแนวทางในการขับเคลื่อนบริการการบริหารความมั่งคั่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น

รายงานฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นโดยการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง 150 รายในหลากหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และไต้หวัน ครอบคลุมมุมมองในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเทคโนโลยี การลงทุน ครอบครัว และความยั่งยืน

นายวินเซนต์ มาเนียนาต์ Limited Partner and Chief Executive Officer, Asia, Lombard Odier กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่ซับซ้อน ส่งผลให้หลากหลายครอบครัวและนักธุรกิจชั้นนำในภูมิภาคต้องปรับเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ บุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงหลายรายต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ ซึ่งสามารถให้คำแนะนำและช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ในช่วงเวลาที่การเดินทางกลายเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งขึ้น รวมไปถึงบริการจากธนาคารที่ให้ความสำคัญกับหลักการและความเชื่อที่สอดคล้องกันกับสิ่งที่พวกเขาให้คุณค่าและรู้สึกเชื่อมโยงด้วย การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ KBank Private Banking ได้ตอบโจทย์ความต้องการนี้ และทำให้ผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยสามารถเข้าถึงโอกาสด้านการลงทุน ผ่านเครือข่ายของ Lombard Odier ในภูมิภาคเอเชีย

เทคโนโลยี: สร้างสมดุลระหว่างเทคโนโลยีและมนุษย์

โรคโควิด-19 ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทั่วทั้งโลกต้องตกอยู่ในสภาวะที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รายงานฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนของบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงในด้านการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล โดย 81% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียกล่าวว่า การติดต่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น และลดการพบปะกันลง จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยที่คิดเห็นเช่นนี้มีจำนวนมากเป็นลำดับที่ 3 ในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกอย่างที่สามารถขับเคลื่อนบนโลกดิจิทัลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการติดต่อสื่อสาร และการสร้างความไว้วางใจระหว่างลูกค้าและไพรเวทแบงก์ โดย 59% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียและในประเทศไทยส่วนใหญ่ ยังคงต้องการพบปะพูดคุยที่ธนาคารหรือสถานที่อื่นๆ มากกว่าการติดต่อผ่านทางอีเมล จดหมาย วิดีโอคอล หรือโทรศัพท์ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 จบลง ผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยจำนวนหนึ่งกล่าวว่า การพบปะกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการดำเนินธุรกิจ และไม่คิดว่ากิจกรรมเหล่านี้จะสามารถทดแทนได้ผ่านการติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์

การลงทุน: มองหาบริการอื่นๆ ที่มากกว่าการลงทุน

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียเล็งเห็นถึงความผันผวนของตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนที่เคยผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินในครั้งก่อนๆ ไม่ได้ตื่นตระหนกต่อวิกฤตครั้งนี้มากนัก จากผลสำรวจพบว่า70% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน โดยเฉพาะระยะเวลาของการลงทุน สำหรับด้านการบริหารสินทรัพย์ แม้ว่าจะมีผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียบางส่วนเลือกที่จะบริหารจัดการแบบที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ (Conservative) โดยเลือกลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ เงินฟรังก์สวิส เงินเยน และพันธบัตรรัฐบาล แต่ก็ยังมีผู้มีความมั่งคั่งสูงอีกจำนวนหนึ่งที่มองเห็นโอกาสในช่วงเวลานี้ โดยให้ความสนใจกับหุ้น และตราสารหนี้ภาคเอกชน เนื่องจากเล็งเห็นแนวโน้มว่าภาวะดอกเบี้ยต่ำจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่

ด้วยแนวโน้มการหมุนกลับของโลกาภิวัตน์ ผู้มีความมั่งคั่งสูงหลายรายต้องการพึ่งพาที่ปรึกษาด้านการจัดการบริหารสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือและมีความเชี่ยวชาญในประเทศนั้นๆ เพื่อช่วยเสนอแนวทางและให้คำแนะนำ ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการบริหารสินทรัพย์ท่ามกลางสภาวะความไม่แน่นอน โดย 87% ของผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทยกล่าวว่า การมีบริการพิเศษที่นอกเหนือบริการด้านลงทุนจะส่งผลอย่างมากต่อการตัดสินใจในการเลือกธนาคาร โดยบริการ 3 อันดับแรกที่ผู้มีความมั่งคั่งสูงในไทยให้ความสำคัญสูงสุด ได้แก่ ความสามารถในการบริหารจัดการทรัพย์สิน การเข้าถึงโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์จริง เช่น อสังหาริมทรัพย์ และความสามารถในการเข้าถึงเครือข่ายผู้ประกอบการ

บริการสำหรับครอบครัว: ธรรมาภิบาลของครอบครัวคือเรื่องเร่งด่วน

วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ครอบครัวของผู้มีความมั่งคั่งสูงในเอเชียเริ่มกลับมาทบทวนเรื่องแนวทางจัดการธุรกิจและทรัพย์สินครอบครัว และธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพย์สินครอบครัว ด้วยเหตุนี้ หลายครอบครัวจึงกำลังพิจารณาที่จะเริ่มวางแผนด้านธรรมาภิบาลครอบครัว สำหรับประเทศไทย 35% ของครอบครัวผู้มีความมั่งคั่งสูงได้มีการจัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวแล้ว และวิกฤตในครั้งนี้ก็ได้ส่งผลให้อีก 45% ของครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวสนใจที่จะเริ่มวางแผนในอนาคต นอกจากนี้ บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Advisory Service) ได้กลายเป็นอีกหนึ่งบริการที่เติบโตสูงที่สุด และเข้ามาตอบโจทย์การบริหารจัดการที่ดินของครอบครัวผู้มีความมั่งคั่งสูงในประเทศไทย สำหรับในปี 2020 ที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้ทำการศึกษาและดูแลพอร์ตการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งสูงจำนวน 121 ราย โดยครอบคลุมที่ดินทั้งหมด 940 แปลง

Previous post กสิกรไทย หนุน FlowAccount สตาร์ทอัพบัญชีออนไลน์ ส่งโปรแกรมบัญชีให้ SME ใช้ฟรี
Next post NOSTRA ชูหมัดเด็ดกลยุทธ์รับเทรนด์ธุรกิจปี 2564 เปิด 12 เทรนด์ทรงอิทธิพลในรอบทศวรรษ
Social profiles