“เครือสหพัฒน์” ชูนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำแห่งแรกในสวนอุตสาหกรรมไทย

Read Time:3 Minute, 44 Second

เครือสหพัฒน์ ผู้นำด้านการลงทุนพัฒนาอุตสหกรรมและความเจริญให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ศรีราชา-แหลมฉบัง เดินหน้าภายใต้วิสัยทัศน์สู่ความยั่งยืนด้วยการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ส่งมอบสินค้าดี และสร้างสังคมดี ต่อยอดโครงการพลังงานทดแทนภายในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา เปิดตัวนวัตกรรม “Thailand’s First Floating Solar in Industrial Park” หรือพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำแห่งแรกในสวนอุตสาหกรรมไทย โดยผนึกกำลัง กลุ่มบริษัท อิมแพ็คอิเล็กตรอนสยาม ภายใต้บริษัท อิมแพ็ค โซล่าร์ จำกัด ติดตั้ง Floating Solar เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างประโยชน์บนอ่างเก็บน้ำ สร้างมาตรฐานการยกระดับคุณภาพชีวิตภายในสวนอุตสาหกรรมไทย ที่ใส่ใจทั้งผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ชูจุดเด่นสินค้าในเครือสหพัฒน์มุ่งใช้พลังงานสะอาดในการผลิต โดยภายในงานเปิดตัวได้รับเกียรติจากคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เป็นประธานในพิธี

นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มสหพัฒน์เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน โดยมองว่าการลงทุนในพลังงานสะอาดภายในสวนอุตสาหกรรม เป็นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน เพื่อชีวิตที่ดี นำไปสู่การพัฒนาและส่งมอบสินค้าดี และสังคมที่ดีต่อไปในอนาคต จึงได้ริเริ่มโครงการพลังงานทดแทนซึ่งเป็นโครงการในระยะยาว โดยจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง กลุ่มบริษัทอิมแพ็คอิเล็กตรอนสยาม ภายใต้บริษัท อิมแพ็ค โซล่าร์ จำกัด ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน โดยเราได้เข้าร่วมลงทุนในธุรกิจ Solar Rooftop เพื่อให้บริการด้านพลังงานสะอาด หรือ Green Electron ส่งเข้า Smart Energy Grid เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับโรงงานที่อยู่กับเรา ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้า ทำให้โรงงานต่างๆ บริหารต้นทุนได้ดีขึ้น สามารถผลิตสินค้าที่ดีออกสู่สังคม”

นายวิชัยกล่าวต่อไปว่า “เราตั้งเป้าให้โครงการนี้ไม่ได้เป็นแค่เพียงโครงการ CSR ทั่วไป โดยเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในระยะยาวให้กับชุมชนอย่างแท้จริงโดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น โดยเป็นโครงการเดียว ณ ปัจจุบันที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการ JCM (Joint Crediting Mechanism) ของประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นต้นแบบในการผนวกหลายๆ เทคโนโลยีพลังงานทดแทนไว้ภายในสวนอุตสาหกรรมเดียวเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่สวนอุตสาหกรรม ปัจจุบัน ได้มีการเริ่มติดตั้ง Solar Rooftop และจ่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานทั้งหมด 10 แห่ง และยังรอติดตั้งอีกหลายแห่ง คิดเป็นปริมาณไฟฟ้ามากกว่า 15 เมกะวัตต์ นับว่าภายในสวนอุตสาหกรรมของเราใช้ Green Electron หรือพลังงานสะอาดถึง 20% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด หรือหมายความว่าเราช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้มากกว่า 6,000 ตันต่อปี  ซึ่งช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนโดยรอบ”

ด้านนายสมบูรณ์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค โซล่าร์ จำกัด กล่าวว่า “สำหรับนวัตกรรมล่าสุด Floating Solar เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้พื้นที่อ่างเก็บน้ำสาธารณะในสวนอุตสาหกรรมแห่งนี้  เป็นต้นแบบในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อจำหน่ายโดยตรงเข้าไปในส่วนไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรม โดยในการติดตั้งเทคโนโลยีใหม่นี้ เราคำนึงถึงคุณภาพที่ดีที่สุดและรูปแบบการใช้งานที่หลากหลาย หัวใจสำคัญคือ Solar Cell เราเลือกใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น จีน และอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทอันดับหนึ่งทั้งหมดในตลาด หรืออย่าง Floating Solar เราก็คัดเลือก Supplier จากบริษัทอันดับหนึ่งของโลกในการผลิตตัวทุ่น ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้โครงการนี้ดำเนินต่อไปในระยะยาว เราจึงใส่ใจในเลือกเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพที่สุด” “เราหวังให้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ภายในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชาแห่งนี้ เป็นโครงการต้นแบบที่จะมีส่วนผลักดันให้ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทนไม่เพียงช่วยลดต้นทุนในธุรกิจ แต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคมและโลกในระยะยาว และในส่วนของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของเครือสหพัฒน์ เราจะไม่หยุดคิด หยุดทำ สิ่งใหม่ๆ โดยตั้งเป้ามองไกลที่จะสร้าง Smart City ที่จะยกระดับชีวิตให้กับคู่ค้าและชุมชน ไม่เพียงในด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังเตรียมวางแผนต่อยอดในด้าน Mobility และ Communication ด้วยเทคโนโลยี และ Business Model ใหม่ๆ ต่อไปอีกด้วย เพื่อพัฒนาธุรกิจของพาร์ทเนอร์ให้เติบโตไปพร้อมกันในระยะยาว”

Previous post ลาลามูฟ เปิดบริการใหม่ เริ่มต้นเพียง 99 บาท ตอบโจทย์ทุกรูปแบบธุรกิจ
Next post รพ วิมุต พหลโยธิน เดินหน้า ตอบทุกโจทย์การรักษาทางการแพทย์ พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบพฤษภาคมนี้
Social profiles