อว. โชว์ตัวอย่างนวัตกรรมฝีมือคนไทย พร้อมเดินหน้าปั้นสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเทคโนโลยียุคใหม่

Read Time:4 Minute, 57 Second

วันที่ 2 มีนาคม 2564 ทำเนียบรัฐบาล / พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปลื้มสตาร์ท อัพ/เอสเอ็มอีไทย ย้ำประเทศไทยต้องมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง กำชับ อว. ส่งเสริมและโครงการนวัตกรรมในทุกมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่อนาคต ภายหลังเยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมจากตัวแทนเยาวชน สตาร์ทอัพ/เอสเอ็มอีไทย ภายใต้แคมเปญ Innovation Thailand – นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปด้วยกัน ซึ่งริเริ่มโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA และคณะผู้บริหารเข้าร่วมการนำเสนอผลงาน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความชื่นชมความสามารถของเยาวชนไทย คนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีไทยที่สามารถสร้างสรรค์ และพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม โดยอาศัยแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นของเราเอง เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินต่อไปได้ โดยอาจจะเปิดเวทีกลาง หรือ Sand box ให้สตาร์ทอัพและคนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพผ่านการประกวดและคัดเลือกทีมที่มีศักยภาพ เพื่อต่อยอดให้เกิดการลงทุนได้จริง หรือการส่งเสริมและขยายโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เปิดเผยว่าหนึ่งในภารกิจของ อว. คือ การมุ่งเน้นขับเคลื่อนประเทศให้เปลี่ยนแปลงไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วด้วยการผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของคน และการนำองค์ความรู้แบบบูรณาการผนวกกับงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการต่อยอดธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เดินหน้าด้วยความมั่นคง โดยมุ่งกระจายโอกาสสู่ระดับภูมิภาคอย่างเท่าเทียม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายในหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ที่พร้อมจะช่วยกันส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในพื้นที่ให้พร้อมเติบโตและสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยจากประเทศแห่งวัฒนธรรมและรอยยิ้ม ให้กลายเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่าที่ผ่านมา NIA ได้ดำเนินงานในการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมระดับเวทีโลก ทั้งมิติทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเยาวชน/อาชีวศึกษา/อุดมศึกษา กลุ่มสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มพื้นที่เปราะบาง ผ่านโครงการต่างๆ ของ NIA อาทิ โครงการ Startup Thailand League ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับอุดมศึกษาได้ร่วมกันระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ผ่านเครือข่าย 40 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีนักศึกษาที่เคยเข้าร่วมโครงการกว่า 60,000 คน และสามารถจดทะเบียนได้กว่า 40 บริษัท โครงการ Founder Apprentice เป็นกิจกรรมที่เปิดให้นักเรียน นักศึกษา หรือบัณฑิตจบใหม่ได้ฝึกงานร่วมกับบุคคลที่เรียกได้ว่าเป็น “ผู้ก่อตั้ง” ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอี เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้มีทักษะและมุมมองในการสร้างธุรกิจนวัตกรรม พร้อมใช้ชีวิตทำงานจริงแบบสตาร์ทอัพกับโจทย์ธุรกิจที่ท้าทายความสามารถ โครงการนิลมังกร อีกหนึ่งโครงการที่ริเริ่มขึ้นเพื่อสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยทั้งสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีในภูมิภาคสู่การเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation Based Enterprise: IBE) ผ่านกิจกรรมการสร้างเครือข่ายนวัตกรรุ่นใหม่และผู้สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมส่วนภูมิภาค ซึ่งมีเข้าร่วมกว่า 564 บริษัทจาก 20 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกิจกรรมการประกวดสุดยอดธุรกิจนวัตกรรมประเทศไทยที่มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 295 ธุรกิจนวัตกรรม และ โครงการ Deep South Business Coaching Program ซึ่งเป็นโครง การฝึกอบรมการจัดการนวัตกรรมสำหรับพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีเข้าร่วมกว่า 500 คน ผ่านเข้าสู่การบ่มเพาะ 101 ทีม และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรมได้กว่า 40 บริษัท เป็นต้น

สำหรับนักศึกษา สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการนวัตกรรมที่นำผลงานมาจัดแสดงในครั้งนี้ เป็นคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ แม้ในช่วงวิกฤตสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเติบโต ในบางรายเรียกได้ว่าจากวิกฤตสร้างโอกาสให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นเสียด้วย โดยโครงการดังกล่าวล้วนแล้วแต่ได้รับการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ จาก NIA ซึ่งประกอบด้วย Happy Grocers (แฮปปี้ โกรเซอร์) เจ้าของผลงานร้านขายของชำออนไลน์ สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่ให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ และไม่สร้างขยะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชนะเลิศการแข่งขันสุดยอด Startup Thailand League 2020 ระดับประเทศ Agnos (แอ็กนอส) แอปพลิเคชั่นวิเคราะห์โรคเบื้องต้นและให้คำแนะนำผู้ป่วยโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ Founder Apprentice บริษัท พันธนันท์ คอนซัลติ้ง จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของนวัตกรรม “น้ำพริกส็อก By Chef May” และบริษัท นาซ่าไฟร์โปรดัคส์แอนด์เซฟตี้ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา เจ้าของนวัตกรรม “สเปรย์ดับเพลิง แบรนด์ FLAMEX” ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการนิลมังกร และสุดท้ายกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีอาลี จังหวัดยะลา เจ้าของนวัตกรรม “เครื่องล้างปลากึ่งอัตโนมัติสำหรับการผลิตปลาส้มฮาลาล” ตัวแทนจากโครงการ Deep South Business Coaching Program

รมว.อว. กล่าวทิ้งท้ายว่า อว. ยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอนาคตประเทศให้เดินหน้าได้สู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงเยาวชน สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการนวัตกรรม และประชาชนทุกคน ในการนำพลังแห่ง “จินตนาการ” ผสานกับ “เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อสร้างสรรค์ผลงานตอบโจทย์ความต้องการของสังคม พร้อมจะเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน

Previous post ใช้เครื่อง CPAP แล้วทำไมยังไม่หายง่วง
Next post ช.การช่าง ผนึก NIA และ ChangeFusion ชวนช่างชุมชนทั่วประเทศ เข้าร่วม “โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน ปีที่2”
Social profiles