แก้ปัญหาหนังตาตก..กล้ามเนื้ออ่อนแรง รักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

Read Time:2 Minute, 34 Second

ในอดีต หากเห็นใครบางคนที่มีปัญหาลักษณะของหนังตาตก อาจไม่ใช่มาจากสาเหตุของกล้ามเนื้อหย่อนหรืออายุที่เปลี่ยนไป แต่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้ออ่อนแรงบริเวณใบหน้าหรือที่เรียกว่า “โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส” ( Myasthenia Gravis : MG)    ที่คนไทยมักนิยมเรียกว่า “โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ เอ็มจี” โดยโรคนี้เกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไปทําลายตัวรับสัญญาณประสาทที่อยู่บนกล้ามเนื้อของตัวเอง ทําให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยปัจจุบันยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุของความผิดปกติของโรคได้  อาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง(MG) คือ อาการหนังตาตก ส่งผลทำให้เห็นภาพซ้อน  อาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นในช่วงเช้า ๆ หลังจากตื่นนอนหรือหลังจากพักหลับตา ในบางรายอาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมไปถึงระบบส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการ เช่น แขนขาอ่อนแรง เกิดอาการตะคริว รวมไปถึงส่งผลต่อการกลืนอาหารหรือการหายใจ  จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจจากอายุรแพทย์ระบบประสาท

นพ.ศิระ เลาหทัย กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) ควรได้รับการตรวจหาภาวะต่อมไทมัสโตผิดปกติหรือเนื้องอกของต่อมไทมัสด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก (CT chest) โดยมักจะพบร่วมด้วยประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย ในวิธีการรักษาปัจจุบันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (MG) สามารถรักษาได้ด้วยยาที่มีออกฤทธิ์ลดการทำลายสารสื่อประสาทที่บริเวณรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ และในผู้ป่วยกลุ่มที่มีเนื้องอกต่อมไทมัสควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ส่วนในบางรายที่ไม่มีเนื้องอกอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยหลังได้รับการผ่าตัดโดยส่วนมาก มักจะมีอาการที่ดีขึ้นและสามารถลดการใช้ยากดภูมิคุ้มกันลงได้

การผ่าตัดต่อมไทมัสไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ต่อมไทมัสปกติเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณหน้าหัวใจ โดยตัวต่อมมีลักษณะคล้ายผีเสื้อ ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันในช่วงแรกเกิด จากนั้นตัวต่อมไทมัสจะค่อย ๆ ฝ่อลงจนเป็นเพียงเนื้อเยื่อไขมันในช่วงผู้ใหญ่ ฉะนั้นการตัดต่อมไทมัสไปจะไม่ส่งผลต่อการทำงานของระบบในร่างกาย

การผ่าตัดนั้นในอดีตได้ทำการผ่าเปิดกระดูกบริเวณหน้าอก ( Median sternotomy) แต่ปัจจุบันการผ่าตัดต่อมไทมัส สามารถทำการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ( Video assisted thoracoscopic surgery; VATS thymectomy) แผลจุดเดียวขนาด 2.5 เซนติเมตร ข้างลำตัวทั้ง 2 ข้าง ระยะเวลานอนโรงพยาบาลเฉลี่ยเพียงแค่  2-3 วันเท่านั้น โดยจากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดเปิดและการผ่าตัดส่องกล้อง นั้นไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องของการผ่าตัด  นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องของระยะเวลานอนโรงพยาบาลที่สั้นกว่า และมีสภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายน้อยกว่า  อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่รักษาได้หายขาด แต่ การผ่าตัดต่อมไทมัส ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีพัฒนาการเรื่องของกล้ามเนื้ออ่อนแรงดีขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการรักษาโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งเป็นนวัตกรรมรูปแบบการรักษาสมัยใหม่ในการรักษา

Previous post เมเจอร์ เปิดโมเดล “CASHLESS CINEMA” แห่งแรกของไทย ที่ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต
Next post “อีซูซุดีแมคซ์” ที่สุดแห่งความเร็วในการแข่งขัน Isuzu Race Spirit 2020 รอบชิงชนะเลิศ
Social profiles