ไม่มีคำว่า “เกษียณ” สำหรับคนที่ไม่หยุด “เรียนรู้”

Read Time:5 Minute, 26 Second

เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัย 60 “เกษียณ” อาจเปรียบเสมือนปลายทางสำหรับคนทำงานหลายๆ คนที่เหน็ดเหนื่อยมาหลายสิบปี เพื่อจะมีโอกาสได้ใช้เวลาในช่วงบั้นปลายดูแลตัวเองและใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว หากแต่ยังมีอีกหลายคนที่กลับรู้สึกว่า “ชีวิต” ไม่จำเป็นต้อง “หยุดนิ่ง” เมื่อก้าวสู่วัยเกษียณ แต่กลับเป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดโลกและอาจกลายเป็นประตูที่นำทางไปสู่โอกาสใหม่ๆ ของชีวิตด้วยก็เป็นได้ เฉกเช่น เดชา เจริญกิจขจรไชย หนุ่มใหญ่วัย 65 ปีที่ยังคงหาเลี้ยงชีพด้วยการขับแกร็บคาร์ และ วิชัย เติมธนวัฒน์ อดีตผู้จัดการฝ่ายขายในบริษัทยาชั้นนำวัย 72 ที่ผันตัวมาขับรถส่งอาหารกับแกร็บฟู้ด ทั้งสองไม่ปล่อยให้อายุที่ล่วงเลยเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้และเปิดรับประสบการณ์ครั้งใหม่ในชีวิต

เรียนรู้ที่จะ ‘ปรับตัว’

เดชา เจริญกิจขจรไชย คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการทำงานเพื่อหาเลี้ยงลูก 3 คนจนสามารถเรียนจบปริญญา เขาผ่านร้อนผ่านหนาวและอุปสรรคชีวิตต่างๆ มามากมาย แต่ยังคงไม่คิดจะหยุดพัก โดยเล่าว่า “พออายุมากขึ้น ผมหันกลับมามองตัวเองและตั้งคำถามว่าถึงเวลาที่จะต้องหยุดพักหรือยังทำงานต่อไปได้ สำหรับผมแล้ว ถึงแม้จะส่งเสียลูกๆ ทั้งสามจนจบปริญญาตรี แต่บทบาทของความเป็นพ่อไม่เคยจบ ผมยังมีความฝันที่อยากจะซื้อบ้านสักหลังให้ลูก ยังอยากทำงานเพื่อสร้างความมั่นคงเพื่อให้เขาได้เติบโตอย่างมีความสุข จึงตัดสินใจว่าจะไปต่อในวัยเกษียณ ทุกวันนี้ผมถามตัวเองเสมอว่า เรายังสามารถทำอะไรได้อีกบ้างเพื่อที่จะก้าวไปถึงฝันและจุดมุ่งหมายที่วางเอาไว้”

“การเกษียณในแบบฉบับของผมคงไม่ใช่การหยุดพัก แต่เป็นการปรับเปลี่ยนจากการขับรถแท็กซี่ที่ทำมานานกว่า 12 ปี หันมาลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้มากขึ้น ได้ปรับตัวเพื่อก้าวออกจากความเคยชินเดิมๆ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิต ช่วยให้เราเข้าถึงงานและหาลูกค้าได้ง่ายขึ้น จากแต่ก่อนตอนขับแท็กซี่ต้องวนรถหรือจอดรอผู้โดยสาร แต่ตอนนี้มีแอปพลิเคชันอย่างแกร็บที่ช่วยอำนวยความสะดวก ส่งงานมาให้เราโดยตรง อายุมากขึ้นจะให้ขับรถวนทั้งวันเหมือนแต่ก่อนคงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอีกต่อไป ผมเลยลองรับงานผ่านแอปดู เพราะงานขับรถรับส่งผู้โดยสารถือเป็นงานที่ผมถนัด แถมยังเป็นช่องทางที่ทำให้มีรายได้ที่สมเหตุสมผล ชีวิตวัยเกษียณของผมจะไม่หยุดอยู่กับที่และจะยังสู้ต่อไปเพื่อลูก”

“ช่วงแรกที่เริ่มขับแกร็บใหม่ๆ ผมเอาประสบการณ์จากสมัยที่ขับแท็กซี่มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการลูกค้า สิ่งที่ท้าทายคือเราต้องปรับตัวที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีและการใช้แอป ตอนแรกๆ ยอมรับเลยว่าค่อนข้างทุลักทุเลอยู่บ้าง แต่หลังจากขับมาได้ 3 ปีก็คุ้นชินและใช้ได้คล่องมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะขับแท็กซี่หรือขับแกร็บ สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เราต้องมีความขยันและมีใจรักบริการ เพราะงานขับรถรับส่งผู้โดยสารแบบนี้ ยิ่งทำมากก็ยิ่งมีรายได้มาก” เดชา เสริม

เรียนรู้ที่จะ ‘ไม่หยุดเรียนรู้’

อีกหนึ่งนักสู้ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน วิชัย เติมธนวัฒน์ อดีตผู้จัดการฝ่ายขายที่สั่งสมประสบการณ์การทำงานมากว่า 30 ปีคนนี้คือตัวอย่างของคำนิยามที่ว่า “อายุเป็นแค่เพียงตัวเลข” เพราะแม้จะผ่านชีวิตมาจนเข้าสู่วัย 72 ปีแต่ก็ยังมองว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เขายังคงมองหาโอกาสในการทำงานเพื่อส่งต่อประสบการณ์ชีวิตและข้อคิดดีๆ ให้กับคนรอบข้างอยู่เสมอ

วิชัย เผยว่า “หลายคนอาจมองว่าวัยอย่างผมควรหยุดพักอยู่บ้านได้แล้ว แต่การได้ออกไปข้างนอกคือการเติมเต็มความสุขของผม ทำให้เราได้เปิดหูเปิดตาและหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิต ผมเองยังไม่เคยคิดเรื่องการเกษียณ ด้วยเงื่อนไขของอายุอาจทำให้มีข้อจำกัดในการทำงาน บริษัทหลายแห่งไม่ค่อยอยากรับ แต่เพราะแกร็บไม่มีการจำกัดอายุ ผมจึงเลือกมาลองขับแกร็บฟู้ด โดยให้บริการรับ-ส่งอาหารในย่านปิ่นเกล้าซึ่งอยู่ใกล้บ้าน”

“การได้มาทำงานตรงนี้ทำให้ผมมีความสุข เพราะเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้และสัมผัสโลกภายนอกอยู่ตลอดเวลา ผมสนุกที่ได้ขับรถและชอบที่ได้ออกมาเจอผู้คน ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคนอื่น โดยเฉพาะกับน้องๆ ที่ส่งอาหารเหมือนกัน เป็นโอกาสให้ได้ถ่ายทอดและส่งต่อประสบการณ์ทั้งในชีวิตและการทำงาน เผื่อพวกเขาจะได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นประโยชน์กับชีวิตไม่มากก็น้อย ถือเป็นความสุขเล็กๆ และทำให้ชีวิตของผมมีสีสันในทุกๆ วัน แทนที่จะนั่งเหงาอยู่บ้านตัวคนเดียว แถมยังมีรายได้อีกด้วย”

เรียนรู้ที่จะ ‘ประเมินตัวเอง’

วิชัย เสริมอีกว่า แม้หัวใจยังเต็มร้อย แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น สิ่งสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามคือการต้องรู้จักประเมินตัวเองและไม่ฝืนหากร่างกายไม่พร้อม “สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการขับแกร็บฟู้ดคือ เราต้องหมั่นสังเกตและประเมินตัวเองว่าเราไหวถึงแค่ไหน เพราะหากเราทำเกินกำลังก็ไม่ส่งผลดีกับตัวเอง ต้องยอมรับว่าร่างกายและพละกำลังของเราไม่ได้ดีเหมือนแต่ก่อน อย่างตอนแรกผมเริ่มขับประมาณ 8 รอบต่อวัน แล้วขยับขึ้นมาเป็น 10 รอบ หรือมากสุดก็ 12 รอบ แต่ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสถานการณ์และความพร้อมของร่างกายในแต่ละวัน พยายามหาจุดกึ่งกลางที่เรายังสามารถทำงานไหวและไม่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายมากนัก” 

เรียนรู้ที่จะ ‘เปิดโอกาสให้ตัวเอง’

“ถึงแม้อายุจะมากแล้ว แต่โอกาสก็ยังเข้ามาให้เราไขว่คว้าและต่อยอดได้เสมอ เพียงแค่เราเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ เราอาจจะได้ประสบการณ์ที่มันคุ้มค่ากับชีวิตก็เป็นได้” เดชา เสริมว่า “สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตมาตลอด 60 ปีคือการที่เราจะต้องพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ให้ตัวเอง ได้ออกจากความเคยชินเดิมๆ ไม่หยุดอยู่กับที่ เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีอะไรจะปิดกั้นเราได้ ขอแค่เปิดใจและให้โอกาสตัวเอง คำว่า ‘เกษียณ’ ก็จะไม่ใช่ปลายทางสำหรับคนอายุ 60 อีกต่อไป” “ถ้าผมไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองแล้วเลือกที่จะหยุดพักหรือเกษียณอายุเหมือนที่หลายๆ คนทำ ผมคงไม่มีโอกาสที่ได้เปิดโลกใบใหม่ ได้เจอกลุ่มเพื่อนต่างวัยแต่ใจเดียวกันแบบนี้ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับรุ่นน้องซึ่งเปรียบเสมือนลูกหลาน ได้ส่งต่อประสบการณ์การทำงานและการใช้ชีวิตกว่า 70 ปีของผมให้คนรุ่นหลังนำไปปรับใช้กับชีวิตของพวกเขา”

Previous post ลาลามูฟ ชูจุดเด่น บริการช่วยซื้อ กระตุ้นการกระจายสินค้าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
Next post “ทีเซลส์” ผนึกราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมพัฒนางานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านรังสีวิทยา สู่วงการแพทย์ไทย
Social profiles