“กองทุนมิตรผล-บ้านปูฯ” ด้วยแนวคิด“Agile Collaboration” มุ่งช่วยเหลือสังคมไทย

Read Time:4 Minute, 55 Second

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ของประเทศไทยที่เริ่มแพร่กระจายเป็นวงกว้างตั้งแต่ต้นปี 2563 และทวีความรุนแรงขึ้นในแต่ละระลอก จนในปัจจุบัน มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงกว่าการระบาดในทุกๆ ครั้ง จะเห็นได้ว่ากว่าหนึ่งปีเศษที่ทุกคนต้องรับมือและใช้ชีวิตอยู่กับวิถี New Normal รวมถึงความเหน็ดเหนื่อยของบุคลากรทางการแพทย์ หรือทีมด่านหน้าที่ต้องรับมือในการบรรเทาวิกฤติอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาร่วมกันสนับสนุนเพื่อช่วยให้คนไทยก้าวข้ามวิกฤติ สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ระบบสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง และพลิกฟื้นคืนเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง

หนึ่งในภารกิจช่วยเหลือจากองค์กรภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการบรรเทาผลกระทบมาโดยตลอด ตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกแรก คือ “กองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19” ที่กลุ่มมิตรผลและบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยจำนวนเงินรวม 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 แก่โรงพยาบาล หน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ หน่วยงานราชการทั่วประเทศ รวมถึงให้การช่วยเหลือในคลัสเตอร์ต่างๆ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึง รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทุนนี้ ได้มอบความช่วยเหลือให้กับ 215 หน่วยงาน ใน 35 จังหวัด รวมมูลค่ากว่า 280 ล้านบาท   

หากมองย้อนไปถึงวิธีการทำงานของ “กองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19” ที่นำโดย 2 แม่ทัพใหญ่ในแวดวงธุรกิจชั้นนำของไทย นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และนายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ กลุ่มมิตรผล บทเรียนจากแนวทางการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของกองทุนฯ ในรูปแบบของการให้ (Philanthropy) เพื่อยับยั้งวิกฤติระดับชาติครั้งนี้ คือหลัก “Agile Collaboration” ทำงาน อย่างรวดเร็วและไม่ซ้ำซ้อน โดยแต่ละบริษัทจะแยกย้ายกันไปบริหารจัดการ และร่วมมือกันในบางโครงการ พร้อมกับสื่อสารกันตลอดเวลา ด้วยทีมงานขนาดเล็ก ทำให้ทำงานได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว ตั้งแต่การหาข้อมูล การตัดสินใจ ไปจนถึงการอนุมัติให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จนเกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังกระจายความช่วยเหลือในเครือข่ายที่ไม่ทับซ้อนกัน ทำให้เข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง และส่งมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทันเวลา

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่ทางกองทุนฯ ใช้เป็นแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่

  • ช่วยเหลืออย่างตรงจุด ประสานและทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขของภาครัฐ เพื่อชี้เป้าว่าอะไรที่ยังขาดแคลน และจะช่วยกู้วิกฤติเพื่อผลลัพธ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ โดยมุ่งสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จำเป็นในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ยังช่วยเหลือภาคประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนด้านปากท้องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้วยการมอบถุงยังชีพให้แก่ชุมชนที่ขาดรายได้หาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมการจ้างงานในภาวะที่ตลาดซบเซา เช่น จ้างบริษัทที่มีเครือข่ายจำหน่ายสินค้าทั่วประเทศในการผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนหลากหลายพื้นที่
  • สร้างความมั่นใจให้บุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการทำประกันชีวิตและสุขภาพให้แก่ทีมด่านหน้า เพื่อเป็นหลักประ กันการรักษาบุคลากรทางการแพทย์และ อสม. กรณีได้รับเชื้อโควิด-19 ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจในการเป็นเสาหลักของประเทศที่จะบรรเทาวิกฤติให้ผ่านพ้นในเร็ววัน
  • มีเครือข่ายที่กว้างขวาง มิตรผลและบ้านปูต่างมีเครือข่ายในประเทศ ทั้งหน่วยงานส่วนกลาง หน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึงชุมชนท้องถิ่น ทำให้สามารถกระจายความช่วยเหลือสู่ระดับท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว ครอบคลุมทั้งหน่วยงานทางการแพทย์ ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ รวมถึงการมีเครือข่ายในต่างประเทศ เช่น การมีพาร์ทเนอร์ธุรกิจในประเทศจีน ทำให้สามารถจัดหาและนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ในการระบาดระลอกแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทย และทั่วโลกเกิดภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่นี้
  • ไม่มองข้ามหน่วยงานเล็กๆ และชุมชน กองทุนฯ ตระหนักถึงความสำคัญของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเปรียบได้กับ “มดงาน” และกลุ่มตำรวจตระเวนชายแดน ที่เป็นกองกำลังหลักในการให้ความรู้ และป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในระดับชุมชนและหมู่บ้าน รวมถึงพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือและภาคใต้ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ยังเน้นการลงพื้นที่ในชุมชนและสนับสนุนผ่านมูลนิธิต่างๆ ในการแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันด้านสุขอนามัยและเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น หน้ากากผ้า ถุงยังชีพ และตู้มิตรปันสุข เป็นต้น  

ในวันนี้ “กองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19” ยังคงเตรียมพร้อม และเดินหน้าช่วยเหลือให้คนไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตินี้โดยเร็วที่สุด ซึ่งการระบาดระลอกครั้งล่าสุดนี้ กองทุนฯ ได้ให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือในพื้นที่เฉพาะเจาะจงที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยเน้นจุดคลัสเตอร์ต่างๆ ที่กระจายในหลายพื้นที่ เช่น การสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับสำนักงานเขตบางแค ชุมชนคลองเตย และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการแพร่ระบาด เจ็บป่วย และเสียชีวิต โดยร่วมกับสำนักงานประกันสังคมเขต 12 สนับสนุนพื้นที่ของอาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ให้เป็นจุดฉีดวัคซีนแก่ประชาชน อีกทั้งยังได้สนับสนุนโครงการวัคซีนเพื่อคนไทย ของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้คนไทยได้ใช้วัคซีนโดยฝีมือคนไทยอีกด้วย ทั้งนี้ กองทุนฯ คาดหวังว่าภารกิจช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติ จะสร้างแรงบันดาลใจให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมมือกันส่งต่อความช่วยเหลือและกำลังใจไปยังบุคลากรด่านหน้า ตลอดจนผู้ที่เดือดร้อนด้านปากท้องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ

Previous post สิงคโปร์ชวนสัมผัสเสน่ห์ Kampong Gelam มุมมองใหม่ ย่านมรดกทางวัฒนธรรม
Next post เคทีซี ชวนสาวก Apple อัพเดตไอเท็มใหม่ พร้อมรับสิทธิพิเศษ ที่ KTC APPLE REWARDS STORE
Social profiles