เยือนเมืองคู่แฝดจากปราจีนบุรี สู่ พระตะบอง

Read Time:8 Minute, 21 Second

เมื่อเดือนธันวาคมปลายปีที่ผ่านมา ผมได้รับการเชิญชวนจาก กองการตลาดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคภาคตะวันออกเดินทางไปเยือนเมืองคู่แฝดตามรอย เจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์)จากจังหวัดปราจีนบุรีสู่เมืองพระตะบองในประเทศกัมพูชาเพราะทั้งสองจังหวัดนี้มีลักษณะทางภูมิประเทศและประวัติศาตร์ที่ผ่านมาคล้ายคลึงกันจนเปรียบเสมือนกับสองเมืองคู่แฝด
เจ้าพระยาอภัยภูเบศรสำหรับประวัติศาสตร์ไทยในเรื่องของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) (คำว่าอภัยภูเบศร เป็นตำแหน่งไม่ใช่ชื่อคน) เมื่อประมาณ100 ปีที่ผ่านมา ท่านเคยเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองในช่วงเวลาที่เมืองพระตะบองยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม ต่อมาภายหลังสยามได้เสียดินแดนส่วนนี้ไปให้กับฝรั่งเศสและจากบันทึกของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ท่านได้กล่าวไว้ว่า การที่ท่านไม่ย้ายไปอยู่ในกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นห่วงชาวบ้านที่อพยพตามมาตั้งแต่ครั้งยังอยู่เมืองพระตะบองด้วยกัน โดยตอนที่ท่านอพยพมามีชาวบ้านตามมาด้วยเกือบทั้งเมือง บางกลุ่มเดินทางแยกย้ายไปตั้งรกรากกันที่บุรีรัมย์ เนื่องจากปราจีนบุรีตอนนั้นมีแต่ป่า ซึ่งเทียบกับเมืองพระตะบองแทบไม่ได้ เพราะพระตะบองสมัยนั้นรุ่งเรืองและเป็นเมืองใหญ่ที่รองมาจากกรุงเทพฯ จากนั้นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) จึงได้ทำการอพยพครอบครัวพร้อมชาวบ้านจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 คน กลับคืนสู่ราชอาณาจักรสยามโดยใช้เวลาเดินทางจากเมืองพระตะบองถึงปราจีนบุรีหนึ่งเดือนเต็ม โดยเดินทางมาเป็นกองเกวียนเทียมวัวคาราวานจำนวน 600 เล่ม เพื่อกลับมารับราชการที่ราชอาณาจักรสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นถึงความจงรักภักดีของพระยาคทาธรธรณินทร์ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองและสมุหเทศาภิบาลมณฑลบูรพาคนสุดท้าย ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2450 จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บรมนเรศร์”
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ไม่ยอมละทิ้งชาวบ้านที่อพยพติดตามท่านมา และท่านไม่อยากย้ายเข้าไปรับราชการที่กรุงเทพฯ ก็เพราะว่าท่านมีแนวคิดในการสร้างเมืองปราจีนบุรีขึ้นมาใหม่แทนเมืองพระตะบองที่ท่านเคยปกครองอยู่ เพราะทั้งจ.ปราจีนบุรีและเมืองพระตะบองต่างก็เป็น “เมืองอกแตก”เหมือนกันคือมีแม่น้ำไหลผ่านใจกลางเมืองทั้งสองเมืองโดยในจ.ปราจีนบุรี มีแม่น้ำปราจีนบุรีส่วนในเมืองพระตะบอง ก็มีแม่น้ำซองแกไหลผ่านและนั่นคือจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์สองเมืองคู่แฝดแห่งนี้

ภญ.ดร.สุภาพร ปิติพร เลขานุการ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เล่าถึงโครงการศึกษาสถาปัตยกรรมในยุคสมัยของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตั้งแต่ จ.ปราจีนบุรีถึงเมืองพระตะบองโดยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ทำให้เราได้รู้ถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในจ.ปราจีนบุรีซึ่งท่านได้นำรูปแบบการก่อสร้างมาจากบ้านของท่านหรือ“ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ที่ จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชาโดยให้บริษัทโฮวาร์ด เออร์สกิน เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง เพื่อถวายเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยามทรงเสด็จมาเยี่ยมมณฑลปราจีนบุรีอีกครั้ง หลังจากที่ได้ทรงเสด็จมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2451 ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2453 พระองค์ได้ทรงเสด็จสวรรคตก่อน ในอดีตที่ผ่านมาตึกหลังนี้เคยถูกทิ้งร้างไว้ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรีเป็นเวลานานต่อมาในปี พ.ศ. 2533 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรให้เป็นโบราณสถานของชาติ หลังจากนั้นเป็นต้นมาในปี พ.ศ. 2537 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมตึกหลังนี้ครั้งใหญ่ขึ้น โดยใช้งบประมาณของจังหวัดปราจีนบุรี และชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาช่วยกันบริจาค จนตึกหลังนี้แลดูสวยงามโดดเด่นเป็นสง่าจนถึงทุกวันนี้และ ด้วยความงดงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรทำให้ตึกสไตล์ยุโรปโบราณหลังนี้ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรดำรงฐานะเป็น “พิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร” ภายในมีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่และสิ่งน่าสนใจมากมาย โดยได้แบ่งเป็นส่วนจัดแสดงหลักๆ อาทิ ห้องประวัติศาสตร์ ห้องท้องพระโรง ห้องยาไทย ห้องปูมเมืองปราจีนบุรี ห้องประวัติการพัฒนาสมุนไพรอภัยภูเบศร และร้านขายยาไทย เป็นต้น

สำหรับตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในเมืองพระตะบอง หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า ตึกแฝดพี่ของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในจ.ปราจีนบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่ย่านอาคารราชการดั้งเดิมใจกลางเมืองพระตะบอง ซึ่งจากข้อมูลประวัติการสร้างตึกหลังนี้ที่เขียนโดยนักวิชาการท้องถิ่นของพระตะบอง ระบุว่า ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สร้างตึกหลังนี้ขึ้นในปี 2448 โดยว่าจ้างช่างชาวอิตาเลี่ยนมาเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างให้ โดยมีลักษณะเป็นตึกเดี่ยว 2 ชั้น สไตล์ยุโรปยุคบาโรกมีการตกแต่งด้วยปูนปั้นทั้งภายนอกภายในอย่างสวยงาม (เช่นเดียวกับตึกที่ปราจีน) ตัวตึกหันหน้าออกไปทางทิศตะวันออก บนถนนหมายเลข 5 สู่กรุงพนมเปญเพื่อรับแสงแดดอุ่น ๆ ในยามเช้า แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจก็ตรงที่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ท่านไม่เคยมีโอกาสได้ขึ้นไปยืนบนระเบียงรับแสงตะวันอันอบอุ่นในยามเช้าบนตึกแห่งนี้ หรือมีโอกาสได้เข้าพำนักในตึกแห่งนี้เลย เพราะจวนหลังนี้ยังสร้างไม่ทันเสร็จ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่มอภัยวงศ์) ผู้เป็นเจ้าของตึกหลังนี้จำเป็นต้องพลัดพรากจากเมืองพระตะบองที่วงศ์ตระกูลของท่านตั้งรกรากนานมากกว่า 100 ปี กลับคืนสู่ราชอาณาจักรสยาม พร้อมกับวีรกรรมแห่งความจงรักภักดีที่ต่อมาท่านได้ถูกยกย่องให้เป็น “เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้การปกครองของสยาม”

ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ตึกหลังนี้เคยถูกใช้เป็นศาลากลางของเมืองพระตะบอง แต่เมื่อมีการก่อสร้างศาลากลางหลังใหม่ ตึกหลังนี้ได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมเรื่อยมาจนกระทั่งเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา และได้ทรงมาเยี่ยมเยือนตึกหลังนี้ พระองค์จึงได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนเงินหนึ่งล้านบาทในการบูรณะซ่อมแซมตึกหลังนี้ให้กลับคืนสู่ความสวยงามดั่งที่เห็นในทุกวันนี้ ปัจจุบันตึกเจ้าพระยาอภัยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเสด็จมาทอดพระเนตรปราสาทขอมต่าง ๆ ในเขตเมืองพระตะบองและได้ทรงมาเยี่ยมเยือนตึกหลังนี้ พระองค์จึงได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนเงินหนึ่งล้านบาทในการบูรณะซ่อมแซมตึกหลังนี้ให้กลับคืนสู่ความสวยงามดั่งที่เห็นในทุกวันนี้ ปัจจุบันตึกเจ้าพระยาภูเบศรตึกแฝดพี่ในเมืองพระตะบองบางส่วนได้เปิดใช้เป็นสถานที่ราชการ ในอนาคตมีโครงการที่จะจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมืองพระตะบองได้กล่าวว่า “คงจะต้องขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในจ.ปราจีนบุรีที่เมืองไทย”

และจากการตามรอยค้นหาประวัติของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ทำให้รู้ว่า กว่าจะเป็นมาเป็นผืนแผ่นดินไทยอย่างทุกวันนี้จะต้องมีคนอย่างท่าน ตอนนั้นไทยแพ้ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ รศ.112 แต่รักษาเมืองจันทบุรีและตราดไว้ได้ ซึ่งสยามจำเป็นที่จะต้องยอมเสียเมืองพระตะบอง ตอนนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ปรึกษากับท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรว่าต้องรักษาเมืองตราดกับเมืองจันทบุรีไว้ เพราะถ้าข้าศึกบุกเข้ามายังมีสองเมืองนี้เป็นเมืองหน้าด่านคอยปะทะข้าศึกไว้ไม่สามารถจะบุกเข้ามาถึงกรุงเทพฯได้โดยง่าย ๆ แต่เมื่อยกพระตะบองให้ฝรั่งเศส เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้นำไพร่พลกลับมาอยู่ในเมืองปราจีนบุรี ทั้งที่ท่านมีสิทธิเลือกที่จะอยู่ในพระตะบองต่อไป การสำรวจเมืองพระตะบองจะเห็นร่องรอยที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) มีความผูกพันกับแผ่นดินไทยคือการสร้างวัดกระโดนหรือวัดปราบปัจจามิตร ที่มีตราราชอาณาจักรสยามอยู่บริเวณหน้าบัน ซึ่งเป็นวัดที่มีศิลปะที่ผสมผสานระหว่างไทยกับกัมพูชา และวัดนี้ถือว่าเป็นวัดแรกที่สยามมาสร้างไว้ เรื่องการอนุรักษ์ไม่ใช่แค่การเก็บรักษา แต่เป็นเรื่องราวที่มีความงดงาม ถ้าคนรุ่นต่อมาไม่เก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้มันก็จะหายไป ซึ่งเรื่องราวของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในประวัติศาสตร์ไทยค่อนข้างมีน้อย แต่ในเมืองพระตะบองยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับวัดที่ท่านสร้างไว้อีกวัดหนึ่งอย่างเช่น วัดดำไรซอหรือวัดช้างเผือกสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2447 โดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม) ซึ่งในตอนนั้นยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ เจ้าเมืองพระตะบอง สำหรับที่มาของการสร้างวัดแห่งนี้ เล่ากันว่า ช่วงที่คุณหญิงสอิ้ง ภรรยาเอกของท่านเจ้าคุณชุ่ม ล้มป่วยลงท่านได้ไปบนว่าถ้าหายป่วยแล้วจะสร้างวัดให้ เมื่อคุณหญิงสอิ้งหายป่วยแล้วเจ้าคุณชุ่มและคุณหญิงสอิ้งจึงได้สร้างวัดช้างเผือกขึ้น ซึ่งเมื่อคุณหญิงสะอิ้งเสียชีวิตได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุในเจดีย์ที่วัดแห่งนี้ โดยเจ้าคุณชุ่มเป็นผู้ฝังลูกนิมิตด้วยตนเอง และยังเป็นวัดในเมืองพระตะบองที่มีความสวยงามลักษณะคล้ายคลึงกันกับวัดแก้วพิจิตรในจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งท่านได้ออกแบบการสร้างให้เหมือนกับวัดดำไรซอหรือวัดช้างเผือกที่เมืองพระตะบองเมื่อครั้งที่ท่านยังปกครองเมืองพระตะบองอยู่ ถ้าดูวัดที่ท่านสร้างที่พระตะบองจะเห็นได้ถึงสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสานกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำให้มีศิลปกรรมเฉพาะตัวเกิดขึ้น โดยสามารถบอกได้ว่าเป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมสมัยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพราะไม่มีที่อื่นและที่ไหน ๆ ในเมืองไทยให้เห็นนอกจากที่วัดสองแห่งนี้ ชาวไทยที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวตามรอยเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่จ.ปราจีนบุรีและเมืองพระตะบองในประเทศกัมพูชา จะแลเห็นได้ถึงคุณค่าความงามของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่มีลวดลายปูนปั้นอันสวยงามที่ วัดดำไรซอ และได้เห็นถึงสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่ปรากฎอยู่ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นก็คือตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่พระตะบองตึกแฝดพี่ซึ่งสร้างขึ้นมาก่อนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่จังหวัดปราจีนบุรี ตึกทั้งสองแห่งนี้คงจะเป็นประตูสำคัญ ซึ่งเปิดไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับกัมพูชาอีกด้วยครับ

ขอขอบคุณผู้ที่สนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้
♦ กองการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคภาคตะวันออก
♦ สุเทพ พวงมะโหด บันทึกภาพและข้อมูล

Previous post เปิดประตูสู่ AEC สานสัมพันธ์ไมตรีไทย-กัมพูชา จากจันทบุรี สู่เมืองพระตะบอง
Next post ฉลองครบรอบ 120 ปี “เทศกาลชมดอกบ๊วย มิโตะ”
Social profiles