I 11 องค์กรพันธมิตรลงนามบันทึกข้อตกลง ร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero วางแผนงาน 5 ปี ผลักดันประเทศไทย สู่สังคมปลอดไข้เลือดออก

Read Time:4 Minute, 29 Second

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของระบบสาธารณสุข ชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งโรคที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้คือ ไข้เลือดออก โรคที่เกิดจากพาหะนำโรคอย่างยุงลาย ที่มีการระบาดในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย ซึ่งการติดเชื้อไข้เลือดออกอาจทำให้อาการรุนแรงและหากมีอาการแทรกซ้อนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ความรู้ ความเข้าใจในตัวโรคในภาคประชาชนและบุคลากรด้านสาธารณสุข และความตระหนักรู้ในการป้องกันโรค จะช่วยลดอุบัติการณ์เกิดโรค ความรุนแรงของโรค และการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา การระบาดของไข้เลือดออกในประเทศไทยนั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้คนกว่า 350,000 รายที่ต้องเจ็บป่วยจากโรคนี้ โดยในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวนผู้ป่วยพุ่งสูงกว่า 130,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล และหากเป็นการระบาดร่วมกับโรคอื่น ๆ จะยิ่งนำพามาซึ่งภาระทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และระบบสาธารณสุขของประเทศ

ด้วยตระหนักถึงความรุนแรงหากเกิดการระบาดของไข้เลือดออกซึ่งมียุงเป็นพาหะ การส่งเสริมให้เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออกที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน การพัฒนาและต่อยอดระบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการระบาดและพาประเทศไทยเข้าสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก จึงเป็นที่มาของความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชนจำนวน 11 องค์กร ได้แก่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  กรุงเทพมหานครคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย  สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้บันทึกความเข้าใจ Dengue-Zero

ภายใต้กรอบการทำงานร่วมกันนี้ ได้ตั้งเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ลดอัตราการป่วยจากไข้เลือดออกลงให้ได้ร้อยละ 25 หรือให้ไม่เกิน 60,000 รายต่อปี 2) ลดอัตราการเสียชีวิตให้ต่ำกว่า 1:10,000 ราย 3) ควบคุมแหล่งลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือน จากการสำรวจ 100 หลังคาเรือน โดยพันธกิจร่วมนี้จะต้องลุล่วงภายใต้กรอบการทำงานระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2569) ซึ่งองค์กรพันธมิตรดังกล่าวจะร่วมกันผลักดันให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันไข้เลือดออกผนึกกำลังป้องกันและลดความเสี่ยงต่อไข้เลือดออก รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมไข้เลือดออก

ศ. เกียรติคุณ นพ. อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “ไข้เลือดออกส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งสร้างภาระทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับประเทศ การไม่สามารถเข้าถึงการรักษา ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกทำให้ไข้เลือดออกกลายมาเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ การสร้างความตระหนักในความสำคัญของการป้องกันและควบคุมโรคเป็นกุญแจสำคัญที่จะต่อสู้กับโรคนี้ โดยพันธมิตรทั้ง 11 องค์กรที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจนี้ จะร่วมมือกันทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยทั้งจากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน จัดทำการคาดการณ์พื้นที่ความเสี่ยงสูง สื่อสารกับสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย และพัฒนาโครงการให้ความรู้สำหรับอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการดูแลผู้ป่วย วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้ คือ การเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วม และมีการดำเนินการอย่างมีกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกัน คือ การกำจัดไข้เลือดออกให้ได้อย่างเด็ดขาดและยั่งยืน” 

มร. ปีเตอร์ สตรีบัล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ในแต่ละปี มีประชากรทั่วโลกติดเชื้อ 390ล้านคน โดยจำนวนผู้ป่วยกว่า 96 ล้านคนมีอาการป่วยอย่างรุนแรง ในประเทศไทยเองพบว่าอัตราการติดเชื้อนั้นมีมาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าโรคนี้ไม่เคยหายไปจากเรา และสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพยากรมากมาย จึงเป็นโอกาสที่พวกเราจะรวมพลังกันต่อสู้กับไข้เลือดออก การจะเอาชนะโรคนี้ได้นั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยหน่วยงานหรือใครเพียงคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่มีความมุ่งมั่นเดียวกันในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก ทาเคดา มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ Dengue-Zero นี้ โดยเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของทาเคดาในการมอบสุขภาพที่ดีกว่าให้แก่คนไทย และเราพร้อมสนับสนุนทุกความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน”

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่ระบาดตลอดปี และพบการระบาดสูงสุดในช่วงฤดูฝน โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกีที่มียุงลายเป็นพาหะ เป็นแล้วเป็นซ้ำอีกได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีมีถึง 4 สายพันธุ์ แหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่พบมากได้แก่ กระถางต้นไม้ จานรองกระถางต้นไม้ ท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นที่วางไข่ของยุงลาย ผู้ที่ติดเชื้อมักมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน และเกิดผื่นที่ผิวหนัง อย่างไรก็ดี สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจจะมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึมหรือกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทันที การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ

Previous post วช. ร่วมกับ บางจาก บีบีจีไอ และ มทร.อีสาน ขับเคลื่อนการผลิต SAF สู่น้ำมันเครื่องบินคาร์บอนต่ำ จากฐานการวิจัยฯ
Next post “ห้างเซ็นทรัล” และ “ห้างโรบินสัน” ฉลองเทศกาลตรุษจีนรับปีขาล คำรามลั่นด้วยความเฮง ดึง “Cuscus The Cuckoos” ออกแบบลวดลาย “เสือ” เสริมสิริมงคลตลอดปี!
Social profiles