มารู้จักโรคฝีดาษลิง (monkeypox) 

Read Time:2 Minute, 0 Second

โรคฝีดาษลิง (monkeypox) กับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (small pox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม pox virus เหมือนกัน แต่เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ ทั้งสองโรคมีการแพร่เชื้อและความรุนแรงที่ต่างกัน โดยโรคฝีดาษลิงจะมีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตที่น้อยกว่าโรคฝีดาษ  โดยโรคฝีดาษลิงมีการรายงานการระบาดที่แถบทวีปแอฟริกาและอาจพบกระจายไปที่ทวีปอเมริกาหรือยุโรปเป็นบางช่วงเวลาผ่านการเดินทางหรือผ่านทางสัตว์ แต่โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2522 สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศจึงมาให้ข้อกระจ่างความรู้กับโรคนี้

รศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงติดต่อผ่านผิวหนังทางการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือการโดนกัดจากสัตว์ที่ติดเชื้อจำพวกลิงหรือสัตว์ฟันแทะ เช่น หนูหรือกระรอก เป็นต้น มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือแผลของผู้ป่วย การแพร่กระจายผ่านละอองฝอยพบได้น้อย การแพร่กระจายของโรคฝีดาษลิงพบน้อยกว่าโรคฝีดาษมาก 

​ส่วนอาการและอาการแสดงของโรคฝีดาษลิง ผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 7-14 วัน โดยจะเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และปวดหลัง บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ ท้องเสีย ปวดท้อง หรืออาเจียน ผื่นจะเริ่มขึ้น 1-3 วันหลังมีไข้ โดยจะเป็นผื่นแดงและกลายเป็นตุ่ม มักเริ่มที่หน้า ตัวและกระจายที่มือเท้า โดยตุ่มจะมีลักษณะเหมือนกันทั้งตัว หลังจากนั้นประมาณ14 วัน ตุ่มแดงทั้งหมดจะกลายเป็นตุ่มน้ำตุ่มหนองพร้อมกัน และเริ่มแตกเป็นแผลมีสะเก็ดพร้อมกัน  ซึ่งนอกจากอาการผื่นแล้วผู้ป่วยมักมีต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคาง ลำคอและขาหนีบ ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีกระจกตาอักเสบ มีปอดอักเสบ หรือสมองอักเสบได้ 

​อาการและอาการแสดงของโรคฝีดาษลิงจะมีอาการและอาการแสดงที่น้อยกว่าโรคฝีดาษ ผื่นของทั้งสองโรคจะมีลักษณะใกล้เคียงกันแต่ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงจะพบต่อมน้ำเหลืองโตบ่อยมากกว่าโรคฝีดาษ ส่วนความรุนแรงของโรคฝีดาษลิงและอัตราการเสียชีวิตของโรคฝีดาษลิงจะอยู่ที่ 1-10% ซึ่งต่ำกว่าโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ  

​ในทางการการรักษาโรคฝีดาษลิง จะทำการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ หากผู้ป่วยมีอาการท้องเสียอาเจียน อาจจำเป็นต้องได้รับน้ำเกลือทางเส้นเลือด ยารักษาจำเพาะโรคใช้ในผู้ป่วยบางรายที่อาการรุนแรง ส่วนวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเพื่อป้องกันโรค จะแนะนำในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงหรืออยู่ในแหล่งที่มีการระบาดของเชื้อ

Previous post 1 มิถุนายนนี้ เตรียมพบกับ สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ OPPO A96 ให้ “เพิ่มความจุ เติมความจอย” พร้อมดีไซน์สวยสะดุดตาโดนใจวัยมัน 
Next post วช. หนุนทีมวิจัยจุฬาฯ ศึกษา “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” หวังสร้างฐานข้อมูล ช่วยป้องกันและแก้ปัญหาให้ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
Social profiles