วช. ชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสังคมและความมั่นคง ในงาน NRCT Open House 2022 

Read Time:3 Minute, 57 Second

วช. เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2022 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” ด้านสังคมและความมั่นคง เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนในปี 2566

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมประจำปีงบประมาณ 2566 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) NRCT Open House 2022 “ด้านสังคมและความมั่นคง” ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และออนไลน์ผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook Live ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและความมั่นคง รวมถึงเปิดโอกาสให้นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิของ วช. ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอรับทุนของ วช. โดยมีดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ โดยประเทศไทยในครึ่งปีแรกของปี 2565 กำลังเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงานที่ปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหาที่ยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศไทยที่ยังเกิดขึ้นอยู่ เช่น เรื่องหนี้สินครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่ยังคงเป็นปัญหาฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างช้านาน และปัญหาทางด้านสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดย วช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยด้านสังคมที่จะนำไปใช้ในการตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ และเตรียมพร้อมในการรับมือสถานการณ์สังคมของประเทศไทยที่เกิดขึ้นด้วยการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นสำคัญต่างๆ โดยวางเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืนและมีความมั่นคงในทุกมิติ จำนวน 7 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1) กลุ่มเรื่อง คนไทย 4.0 เพื่อสังคมคุณธรรม 2) กลุ่มเรื่อง การเสริมสร้างธรรมาภิบาลและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน 3) กลุ่มเรื่องสังคมไทยไร้ความรุนแรง 4) กลุ่มเรื่องความปลอดภัยทางถนน 5) กลุ่มเรื่องมนุษยศาสตร์ 6) กลุ่มเรื่องสร้างสรรค์วิชาการงานศิลป์ 7) กลุ่มเรื่อง การวิจัยและพัฒนาสุนทรียภาพและความคิดสร้างสรรค์ของด้านศิลปกรรม”

นอกจากนี้ วช. ได้นำเสนอ “ผลงานสำคัญ เพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมและความมั่นคง” ประกอบด้วย โครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) แผนงานวิจัยท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง โครงการนวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงส่าหรับงานพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรม โครงการนวัตกรรมอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดประสิทธิภาพสูงแบบพกพาเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของยาเสพติด แผนงานขยายผลการวิจัยสู่การปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรมสาหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

กิจกรรมภายในงานประชุมการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสังคมและความมั่นคง ประจำปีงบประมาณ 2566 ยังมีการเสวนาเรื่อง แนวทางการเขียนข้อเสนอการวิจัย และการพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2566 ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์, ศ.(กิตติคุณ) ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์, ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ และ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด โดยมี รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ร่วมเสวนาและดำเนินการเสวนา เพื่อเป็นแนวทางให้กับนักวิจัยได้ทราบถึงทิศทางการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการเขียนงานวิจัยและนวัตกรรมที่ดีว่าควรมีแนวทางปฏิบัติและดำเนินการอย่างไร

ในภาคบ่ายยังได้มีการแถลง “ผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและความมั่นคง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัย และการบริหารจัดการวิจัย” ของนักวิจัย จำนวน 5 ท่าน ประกอบด้วย ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก, รศ.สมบัติ ประจญศานต์, ผศ.ดร. อนันต์ แย้มเยื่อน,ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา และ รศ.ดร.สุนีย์ กัลป์ยะจิตร ซึ่งได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการวิจัย และแนวทางการบริหารพัฒนาโครงการอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

สำหรับการเปิดรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม วช. จะเปิดรับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2565 โดยนักวิจัยต้องยืนยันการเข้าร่วมทำวิจัยในระบบ NRIIS ภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. ส่วนหน่วยงานต้นสังกัดของนักวิจัย ต้องรับรองข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ ระบบ NRIIS ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลา 18.00 น. การประกาศผลการพิจารณา วช. จะประกาศผ่านเว็บไซต์ www.nrct.go.th และ https://nriis.go.th

Previous post สหภาพยุโรปจับมือร้าน Victoria by Cocotte  รังสรรค์มื้ออาหารสำหรับโปรโมชัน EU Food HoReCa ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก แบบต้นตำรับจากยุโรปกับ 6 ร้านอาหารชั้นนำทั่วกรุงเทพฯ ในแคมเปญ “สีสันรสอาหารอันยอดเยี่ยมจากยุโรป”   
Next post วช. จับมือ 4​ หน่วยงาน​ ลงนาม MOU ดัน มันสำปะหลัง​ สู่ตลาดโลก​ พร้อมมอบ​ นวัตกรรม​สุดล้ำ​ รถ​เกษตร​สูบน้ำพลังงาน​แสงอาทิตย์​ 
Social profiles