กรมเจ้าท่า แจงเสริมทรายหาดจอมเทียน พร้อมบูรณาการร่วมแก้ไขการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะ บริเวณชายหาดนาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 

Read Time:5 Minute, 58 Second

นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย เปิดเผยว่า โครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นโครงการต่อเนื่องของกรมเจ้าท่า ในการบูรณะชายฝั่งในพื้นที่ภาคตะวันออกและเป็นแหล่งธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ปัจจุบันประสบปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง ทำให้บางจุดมีการกัดเซาะเข้ามาถึงแนวกำแพงกันคลื่นริมฝั่ง ส่งผลให้ไม่เหลือชายหาดเพื่อใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยว ในช่วงปีพ.ศ. 2510-2558 หาดจอมเทียนได้สูญเสียพื้นที่ชายหาดจากการกัดเซาะไปแล้วประมาณ 60 ไร่ ในอนาคต จึงต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาก่อนจะมีการกัดเซาะเข้ามาถึงชายฝั่งที่ดินของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอให้นำทรายมาเสริมเพื่อฟื้นฟูและบำรุงรักษาชายหาดจอมเทียนระยะทางรวมประมาณ 7.0 กิโลเมตร เสริมทรายความกว้างชายหาดเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เงิน 1 บาทที่ลงทุนไปในการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน จะสร้างผลตอบแทนกลับมาสู่ระบบเศรษฐกิจ 3.2 บาท รวมถึงเป็นการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทางทะเลแก่ประเทศ

โดยในระหว่างการศึกษาและสำรวจออกแบบได้จัดให้มีการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่โครงการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1 การปฐมนิเทศโครงการฯ ในวันอังคาร ที่ 31 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมทัพพระยา (401) ศาลาว่าการเมืองพัทยา มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นจำนวน 125 คน

ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 23 กันยายน 2558 เวลา 09.00-11.50 น. ณ ห้องประชุม สถานฝึกอบรมคริสเตียนแบ๊บติสต์ พัทยา มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นจำนวน 134 คน

ครั้งที่ 3 วันพุธที่ 14 กันยายน 2559 เวลา 08.30 – 12.30 น. ณ ห้องประชุม สถานฝึกอบรมคริสเตียนแบ๊บติสต์ พัทยา มีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวนทั้งสิ้น 194 คน

นอกจากนี้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย (focus group) จำนวน 2 ครั้ง โดยประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันอังคารที่ 9 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 ห้องศรุตศา โรงแรมแกรนด์จอมเทียน พาเลซ หาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม จำนวนทั้งสิ้น 205 คน

ประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 จัดขึ้น ณ สถานอบรมคริสเตียนแบ๊บติสต์ พัทยา ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในวันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2558 เวลา 13.00 – 16.00 น. ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณพื้นที่ดำเนินโครงการฯ โดยมีกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 163 คน

ในปี พ.ศ.2563 กรมเจ้าท่า จึงได้ทำการว่าจ้าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินโครงการเสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายหาดจอมเทียนระยะที่ 1 ระยะทาง 3,575 เมตร ระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 – เดือนพฤศจิกายน 2565 (900 วัน) โดยเริ่มเสริมทรายตั้งแต่บริเวณนาจอมเทียน 4 จนถึงบริเวณจอมเทียน 11 เมื่อแล้วเสร็จระยะที่ 1 ทำให้จากเดิมที่มีชายหาดกว้างประมาณ 5 เมตร เปลี่ยนเป็นชายหาดกว้างขึ้นเฉลี่ย 51 เมตร และมีความยาว 800 เมตร เมื่อโครงการดำเนินการมาได้ระยะทาง 800 เมตร กรมเจ้าท่าจึงได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้ทางเทศบาลนาจอมเทียนบริหารจัดการดูแลสาธารณประโยชน์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 โดยมีนายสมพงษ์ สายนภา นายกเทศมนตรีเทศบาลนาจอมเทียน (ในขณะนั้น) เป็นผู้รับมอบ พร้อมหน่วยงานราชการในพื้นที่ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ บริเวณหน้าชายหาดจอมเทียน ซอยนาจอมเทียน 2 วัตถุประสงค์ในการส่งมอบเพื่อให้เทศบาลบริหารจัดการชายหาด การจัดระเบียบใช้ประโยชน์ชายหาด การดูแลรักษาความสะอาดและความปลอดภัย อีกทั้งเป็นหูเป็นตาคอยแจ้งเหตุปัญหาการกัดเซาะชายหาดเพื่อแจ้งกรมเจ้าท่าเข้ามาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามความเหมาะสม

ปัจจุบันพื้นที่บริเวณดังกล่าว ปรากฏเป็นข่าวในโลกออนไลน์ มีผู้ร้องเรียนว่ามีขยะและสิ่งปฏิกูลปริมาณมากถูกทิ้งเกลื่อนชายหาด ส่งผลให้ภาพลักษณ์ชายหาดจอมเทียนไม่สวยงามดังเดิม กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา ได้บูรณาการร่วมกับเทศบาลตำบลนาจอมเทียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 โดยดำเนินการจัดประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณชายหาดจอมเทียน โดยที่ประชุมมีมติให้ผู้ประกอบการฯ หยุดจำหน่ายสินค้า อาหารหรือเครื่องดื่ม รวมถึงห้ามนำสิ่งของหรืออุปกรณ์ต่างๆ มาติดตั้งหรือวางบนพื้นที่ชายหาด ซึ่งเทศบาลตำบลนาจอมเทียน ได้มีประกาศ เรื่อง ห้ามมิให้มีการจำหน่ายสินค้า อาหารหรือเครื่องดื่มบนพื้นที่ชายหาดนาจอมเทียน ทางเท้า และถนนเลียบชายหาดนาจอมเทียน และห้ามมิให้นำสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ มาติดตั้งบนพื้นที่ชายหาด ทางเท้า และผิวจราจร ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2565

ในวันที่ 27 มิถุนายน 2565 นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา จำนวน 10 นาย ลงพื้นที่สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่อำเภอสัตหีบ เทศบาลตำบลนาจอมเทียน สถานีตำรวจภูธรนาจอมเทียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริเวณชายหาดนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อตรวจตราความเรียบร้อยการปฏิบัติตามประกาศเทศบาลตำบลนาจอมเทียนฯ โดยมีการตั้งศูนย์อำนวยการปฏิบัติงานและปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานออกเป็น 5 จุด ตลอดแนวชายหาด 1,050 เมตร ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลตำบลนาจอมเทียน นับตั้งแต่บริเวณร้านลุงไสวเป็นต้นไป ซึ่งจากการลงตรวจสอบยังไม่พบผู้ฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อปฏิบัติงานสนธิกำลังร่วมของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะ บริเวณชายหาดนาจอมเทียน สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา พร้อมให้ความร่วมมือจัดส่งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าร่วมการปฏิบัติงานให้เสร็จสิ้นภารกิจตามแผนฯ ซึ่งมีการกำหนดแผนปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2565 – วันที่ 3 กรกฎาคม 2565

กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ต้องขอขอบคุณเทศบาลตำบลนาจอมเทียน หน่วยงานทุกภาคส่วน ที่เข้ามาดำเนินการบริหารจัดการคืนพื้นที่สาธารณะและจัดระเบียบพื้นที่ให้กับประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน พร้อมขอความร่วมมือประชาชนผู้มาใช้ชายหาดจอมเทียนทุกท่าน โปรดช่วยกันรักษาความสะอาด ปฏิบัติตามคำแนะนำของเทศบาลตำบลนาจอมเทียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยป้องกัน ดูแล รักษาชายหาดและระบบนิเวศชายฝั่งให้ยังคงสภาพเดิม ลดการเกิดความเสื่อมโทรมในพื้นที่ และส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 2 มีระยะทาง 3 กิโลเมตร งบประมาณ 400 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง เดือนมกราคม 2566 ถึง เดือนมิถุนายน 2568 และในอนาคตมีแผนงานเสริมทรายชายหาดท่องเที่ยวในอนาคต เช่น ชายหาดบางแสน ชายหาดชะอำ ชายหาดสมิหลา ชายหาดเขาหลัก ชายหาดบางเสร่ ชายหาดอ่าวดงตาล ชายหาด แสงจันทร์ ซึ่งการเสริมทรายชายหาดนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะและฟื้นฟูชายหาดอย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยส่งเสริม สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และสร้างรายได้เป็นจำนวนมากให้กับประเทศอีกด้วยc


Previous post เนสกาแฟ สตรีท คาเฟ่ อีกขั้นของกาแฟสด เปิดแคมเปญ “Lift Up a Good Spirit ปลุกทุกความรู้สึกดีๆ” พร้อมผลักดันกระแสกรีนไลฟ์สไตล์
Next post กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปิดโครงการ “Grow Together!” ส่งเสริมเยาวชนไทยเติบโตเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพภายใต้มาตรฐานฟีฟ่า
Social profiles