สำนักงานพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  นำโดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนคร ผนึกกำลังเปิดตลาดการค้าสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ด้วยการผลักดันสินค้าดี  GI อีสานสู่สากล  

Read Time:5 Minute, 20 Second

นางเกศินี พวงประดิษฐ์ พาณิชย์จังหวัดสกลนคร ในนามสำนักงานพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ดำเนินแผนงานประชาสัมพันธ์หนึ่งในโครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีสานสู่สากลเปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นว่า สินค้า GI ของภาคอีสานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสินค้า GI เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ และมีคุณภาพสูงตามเกณฑ์ประเมินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  รวมทั้งสินค้า GI  เหล่านี้มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนคร และกลุ่มสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คัดสรรสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI และมีศักยภาพทางการตลาด เผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และประชาสัมพันธ์สร้างโอกาสทางการค้า ผ่านสื่อทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สินค้า GI อีสานได้มีโอกาสเติบโตทั้งในประเทศและสู่สากล

พาณิชย์จังหวัดสกลนครยังให้ข้อมูลว่าสินค้า GI ที่โดดเด่นของภาคอีสาน 18 แห่ง ภายใต้ชื่อ GI ของดีอีสาน มาตรฐานโลก” ประกอบด้วยสินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องปั้นดินเผา และผ้าทอมือ ได้แก่ ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI จ.นครราชสีมา, ทุเรียนภูเขาไฟศรีษะเกษ GI จ.ศรีสะเกษ, สับปะรดท่าอุเทน GI จ.นครพนม, ผ้าหมักโคลนหนองสูง GI จ.มุกดาหาร, ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ GI จ.กาฬสินธุ์, น้ำหมากเม่าสกลนคร GI จ.สกลนคร, ผ้าครามธรรมชาติสกลนคร GI จ.สกลนคร, เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง GI จ.อุดรธานี, กล้วยตากสังคม GI จ.หนองคาย, ส้มโอทองดีบ้านแท่น GI จ.ชัยภูมิ, ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท GI จ. ขอนแก่น, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI วิสาหกิจชุมชนศูนย์ผลิตข้าวพันธุ์บ้านสระแคน จ.มหาสารคาม, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนน้ำอ้อม จ.ยโสธร,ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี GI จ.อุบลราชธานี, ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ GI จ.สุรินทร์, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI กลุ่มข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้อำเภอเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด, ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง GI ศรีสะเกษ และข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ GI จ.บุรีรัมย์

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา  เปิดเผยว่าพื้นที่อำเภอปากช่อง  เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการปลูกทุเรียนคุณภาพ จึงได้ผลักดันให้ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ได้รับการการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือสินค้า GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา  กระทรวงพาณิชย์ รวม 39 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้น 1,182  ไร่ มีผลผลิตรวม 409 ตัน ทุเรียนในพื้นที่ปากช่องเขาใหญ่  ให้ผลผลิตที่สวยงามรูปไข่  ที่มีเนื้อสัมผัสเนียน  เนื้อหนาแน่นหนึบ แห้ง  ละเอียด เส้นใยน้อย  มีสีเหลืองอ่อนสม่ำเสมอทั้งผล กลิ่นหอมอ่อน รสชาติหวานมัน  กลมกล่อม ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI  สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 160-180 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ180-220 บาท โดยได้ส่งเสริมสนับสนุนการทำการตลาดไปในภาคต่างๆ ให้การอบรมความรู้  ด้านการทำตลาดออนไลน์ นับเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงและต่อยอดขยายเครือข่ายเพื่อเพิ่มผลผลิตมากขึ้นในอนาคต  

นายมาโนช รูปสมดี ประธานวิสาหกิจชุมชนทุเรียนและพืชสวน อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมาเจ้าของสวนอัมพร ต.กลางดง อ.ปากช่อง หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับการรับรองเป็นสินค้า GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  เปิดเผยว่า สำหรับทุเรียนบ้านสวนอัมพร ปลูกในพื้นที่ 15 ไร่ ประมาณ 350 ต้น จำนวน 8 สายพันธุ์ นอกจากสายพันธุ์หมอนทองแล้วยังมี หลงลับแล, มูซังคิง, หนามดำ, หลินลับแล, ก้านยาว, เม็ดในยายปราง และทองหลินจง ซึ่งในปีนี้จะสามารถเก็บผลผลิตออกจำหน่ายได้มี 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์หมอนทอง และหลงลับแล  โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเก็บผลผลิตไปแล้วประมาณ 50% ผลผลิตที่เหลือกำลังทยอยจัดเก็บ  ซึ่งผลผลิตจะออกครบหมดในเดือนกรกฎาคมนี้

กรรมวิธีการดูแลรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ จะดูแลควบคุม ตั้งแต่การปลูก จนถึงทุเรียนติดผล เมื่อทุเรียนลูกโตขึ้น จะห่อลูกด้วยถุงนวัตกรรม Magic Growth สีแดงเป็นวัสดุเสริมการเพาะปลูกชนิดนอนวูฟ เพื่อป้องกันแมลงต่างๆ ทำให้ผลทุเรียนมีสีสวย รักษาอุณหภูมิ ลดการใช้สารเคมี โดยได้ผ่านการวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังันานกว่า 4 ปี เพิ่มคุณค่ามากขึ้นกว่า 30% ซึ่งวิสาหกิจชุมชนทุเรียน และพืชสวนมีสมาชิกผู้ปลูกทุเรียนทั้งหมด 39 ราย ได้รับหนังสือรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา  ถือเป็น การรับรองคุณภาพทุเรียนปากช่องที่ได้มาตรฐาน ลูกโต พูใหญ่ สีสวย เนื้อแน่นกรอบ ไม่มีรสหวานจนเกินไป และกลิ่นไม่แรง 

ด้านการการตลาด ปัจจุบันกลุ่มมีการทำการตลาดออนไลน์ในรูปแบบของแต่ละสวนทำกันเอง ผู้บริโภคคนไทยที่เข้าไปหาซื้อถึงสวน   บางส่วนมาจากการโพสต์ทาง Facebook  แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19ที่ผ่านมาทำให้การจำหน่ายสินค้าลดลงเป็นอย่างมาก จึงอยากให้พาณิชย์จังหวัดช่วยสนับสนุนด้านการตลาดนอกพื้นที่  การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ในต่างพื้นที่ และความรู้ในการทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น  รวมทั้งการส่งเสริมให้มีล้งในพื้นที่เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการหาตลาดและการขนส่งและกระตุ้นให้ผู้บริโภคคนไทยได้ลิ้มลองทุเรียนที่มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีความพิเศษโดยสภาพของพื้นที่ คือ อยู่ในแหล่งที่มีโอโซนอันดับ 7 ของโลก บนเทือกเขาดงพญาเย็น มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ไม่อมน้ำ เนื้อจึงแห้งกว่า เนื่องจากเกษตรกรจะตัดเมื่อแก่จัดในช่วง 130 วัน ขึ้นไป  

สำหรับผู้สนใจชม และชิมทุเรียนหมอนทอง GI ปากช่อง สามารถพบกันได้ในงาน  “เทศกาลทุเรียนปากช่อง-เขาใหญ่ ครั้งที่ 1” ระหว่างวันที่ 15 -16 กรกฎาคม 2565 ตั้งแต่ เวลา 10.00 – 17.00 น.ที่ฟาร์มโชคชัย 1 ริมถนนมิตรภาพ ขาเข้ากรุงเทพฯ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

Previous post อีวี ไพรมัส สู้ศึกราคาน้ำมันพุ่ง เพิ่มทางเลือกติดตั้งอุปกรณ์มาตรฐาน LPG จากโรงงานให้ DFSK SUV ทั้ง 2 รุ่น 
Next post วช. ร่วมงาน Smart SME Expo 2022 นำงานวิจัยขายได้ ร่วมโชว์ชูแนวคิด “วิจัยไทย ขายได้จริง”
Social profiles