เคล็ด (ไม่) ลับการสอน กับอาจารย์ Given ศิษย์เก่าทันตแพทย์ ม.รังสิต 

Read Time:3 Minute, 12 Second

​จากความรู้ในห้องเรียนสู่ประสบการณ์ในการทำงานอย่างอาจารย์รุ่นใหม่ อ.ทพ.วสันต์ วัฒนศักดิ์ หรืออาจารย์ Given ศิษย์เก่า รุ่นที่ 3 วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันนอกจากการเป็นอาจารย์ประจำแล้วยังเป็นทันตแพทย์ด้านทันตกรรมประดิษฐ์(ฟันปลอม) ครอบฟัน หรือบูรณะรากเทียม ในคลินิกอีกหลายแห่ง วันนี้จะมาจับเข่าคุยเกี่ยวกับเคล็ดลับการสอนที่น่าสนใจเป็นอย่างไร

​อาจารย์ Given เล่าว่า จริงๆ ไม่เชิงว่าเป็นเคล็ดลับนะครับ แต่อันดับแรกคือ เราจะต้องพยายามย่อยเนื้อหา ซึ่งเนื้อหาของวิชาทันตแพทย์นั้นค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ มีความเป็นศิลปะด้วยส่วนหนึ่ง เคล็ดลับก็คือ การสอนให้เขาเห็นภาพ ให้เขาจำเป็นภาพ จริงๆ มันก็เป็นพื้นฐานของทุกคณะคือ ถ้าเราสามารถทำให้เด็กจำเป็นภาพได้ อธิบายโดยใช้ภาษาระดับเขา แล้วก็ไปอย่างช้าๆ ให้เวลาในการทำความเข้าใจก็จะทำให้เขาซึมซับสิ่งที่เราสอนได้ดี  บางครั้งต้องอดทน เมื่อเวลาเขาไปเจอคนไข้จริง เราต้องย้ำในสิ่งที่เราพูดในเลคเชอร์ให้เขาฟังต่อหน้าคนไข้ เขาก็จะเข้าใจแนวคิดหรือเห็นภาพแล้วก็จำได้ดีขึ้น เพราะนั่นคือของจริง นอกจากนี้ การที่เราเอาตัวอย่างมาให้ดูที่มากกว่าภาพถ่ายจาก Text book นั่นก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เขาจำและนำมาใช้ต่อได้ หรือจะเป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่เรามองเห็นได้ทั่วไป เช่น สมมุติว่า เราพูดถึงฟันที่อาจจะต้องรับตะขอฟันปลอม แต่ว่าฟันเขามีภาวะเป็นโรคเหงือก เราจะพูดอย่างไรให้เขาเข้าใจว่า ระดับกระดูกเท่านี้ ฟันมันดูยาวนะ เวลารับตะขอฟันมันจะโยก เด็กนึกไม่ออก ผมก็เปรียบเทียบว่า ถ้าฟันเป็นต้นไม้ สมมุติส่วนของรากมันไม่ยาวหรือไม่กว้างพอ แล้วเราเอาเชือกไปดึงมัน แรงยึดข้างใต้มันไม่พอมันก็โค่นลง เป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่มองเห็นได้ทั่วไปเพื่อให้เขาเข้าใจภาพให้มากที่สุดครับ

​เมื่อพูดถึงความภูมิใจที่ได้เป็นอาจารย์ อาจารย์ Given บอกว่า รู้สึกภูมิใจนะครับ เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนเล็กๆ ในการพัฒนาที่นี่ ให้มีการเรียนการสอนที่ดีขึ้น เนื่องจากว่าเราเองจบเฉพาะทางได้ไม่นาน แนวคิดต่างๆ ที่ได้เรียนมาจะเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ แล้วก็ได้มีโอกาสมาแชร์กับเพื่อนร่วมงานก็ดี หรือกับน้องๆ ก็ดีครับ มีการอัพเดทกัน ทำให้งานมีการพัฒนามากขึ้น ในแง่ของการสอนหรือในแง่ของการทำวิจัยก็ดี เมื่อเรานำสิ่งที่เรียนรู้จากที่นี่เป็นพื้นฐานไปต่อยอดจากข้างนอกที่เราเรียนต่อมาแล้วถ่ายทอดให้น้องๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นประโยชน์กับตัวเด็กๆ และคนไข้ของเขา เป็นประโยชน์กับการทำอาชีพทันตแพทย์ในอนาคต และกับมหาวิทยาลัยด้วยครับ

​“ตั้งแต่ผมเรียนจนประทั่งปัจจุบันกลับมาได้เห็นว่ามหาวิทยาลัยมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในแง่มุมของการเปิดหลักสูตรที่หลากหลาย สำหรับวิทยาลัยทันตแพทย์เอง ก็ได้มีการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาแล้วหลายหลักสูตรเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ของตลาด ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการรักษารากฟัน หลักสูตรรากเทียมในระดับปริญญาโท หรือหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงที่เป็นของทันตกรรมทั่วไป  

สุดท้ายฝากถึงน้องๆ ที่สนใจเรียนทางด้านนี้ไว้ด้วยว่า ต้องขยันอ่านหนังสือและเตรียมตัวให้ตัวเองมีพื้นฐานที่แข็งแรงในการที่จะสอบเข้า การเรียนควบคู่กับการทำกิจกรรมก็มีความสำคัญ เพราะว่าจะสอนให้เรารู้จักบาลานซ์ตัวเอง แล้วเมื่อทำพอร์ตมาสัมภาษณ์ก็จะทำให้เราดูเป็นเด็กที่ไม่จำเจ หมายถึงเราสามารถเรียนและทำกิจกรรมควบคู่กันได้ นั่นแปลว่าเราเป็นคนที่ดูแลตัวเอง จัดการเวลาตัวเอง รับผิดชอบตัวเองได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้ดูเป็นคนที่มีศักยภาพ มีโอกาสสูงที่จะเข้ามาเรียนในคณะนี้นะครับ” อาจารย์ Given กล่าวเสริม

Previous post 13 ปี ของ “เอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ” บันไดสู่ความสำเร็จบนเวทีระดับโลก 
Next post มาสด้าดึงนักธุรกิจแถวหน้ากลุ่มกรุงไทยคาร์ทุ่มงบอีก 300 ล้าน  เปิดโชว์รูมและศูนย์บริการแบบครบวงจรพร้อมดูแลลูกค้าแบบพรีเมี่ยม 
Social profiles