ท่ามกลางการประกาศความร่วมมือผ่านการจัดประชุมสุดยอดซีอีโอที่จะเดินทางมาพบปะกันที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ แม้นับจะเป็นข่าวดีทางโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ตลอดจนเป็นเวทีในการแก้ปัญหาทางการค้าและการลงทุนในภาคธุรกิจ แต่ประชาชนอย่างเราๆ คงมีอีกคำถามในใจขึ้นมาว่า แล้วการประชุมที่ยิ่งใหญ่และน่าภูมิใจครั้งนี้ ประชาชนอย่างเราจะได้อะไร? หลังการประชุมจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในเชิงรูปธรรม? และสุดยอดซีอีโอและผู้นำทั้งหลายจะนำการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเราได้อย่างไร?
APEC CEO Summit หรือการประชุมสุดยอดซีอีโอแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค นับเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเอเปค (APEC) จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.1996เพื่อร่วมหารือ แลกเปลี่ยน และมองหาโอกาสในการพึ่งพาอาศัยกันและกันผ่านการรวมกลุ่มในเอเชียแปซิฟิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดยหากปีใดเขตเศรษฐกิจใดเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ (APEC Meeting) เขตเศรษฐกิจนั้นก็จะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพการประชุม APEC CEO Summit ด้วยเช่นกัน โดยผู้ที่รับหน้าที่ดำเนินการจัดการประชุมคือสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) เวทีนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคธุรกิจและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการพบปะหารือเกี่ยวกับประเด็นนโยบายที่สำคัญ และยังนับเป็นงานประชุมระดับโลกที่เป็นเรื่องของการแสดงเชิงสัญลักษณ์
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธาน APEC CEO Summit 2022 และสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคไทย กล่าวถึงบทบาทในฐานะผู้จัดงานในครั้งนี้ว่า “APEC CEO Summit ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Embrace Engage Enable’ ผู้นำและวิทยากรที่ได้รับการเรียนเชิญในการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางธุรกิจในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของโลกทั้งสิ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยทุกคนจะได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก เราเชื่อมั่นว่าประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ จะเป็นเวทีการค้าและการลงทุนที่สำคัญของไทย และถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้แสดงศักยภาพของภาคธุรกิจไทยสู่เวทีโลก ไม่ว่าจะด้านการลงทุน ความมั่นคงด้านอาหาร การท่องเที่ยว และด้านการเงิน”
แล้วประชาชนได้อะไร?
เราต่างทราบกันดีว่าการประชุมสุดยอดซีอีโอแห่งเอเชียแปซิฟิคนั้นมีความยิ่งใหญ่เพียงใด ผู้นำระดับโลก, ผู้นำทางความคิด, บุคคลสำคัญ รวมทั้งซีอีโอจากบริษัทที่ใหญ่ที่สุดและมีนวัตกรรมมากที่สุดในโลกจะมารวมตัวกันที่นี่เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และประเด็นทางสังคมที่โลกต้องเผชิญบนพื้นที่เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วและใหญ่ที่สุดในโลก แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้นำทางธุรกิจอาจไม่ได้เน้นย้ำมากนัก นั่นคือภารกิจของการรวมตัวนี้ กลับคือเป้าหมายเพื่อความอยู่ดีกินดีของชุมชน อันเท่ากับว่าเป้าหมายปลายทางคือ ‘ประชาชน’ และประชาชนในที่นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เท่ากับที่สุดแล้ว พวกเขา(ผู้ร่วมประชุม)คือตัวแทนของเรา และเรา(ประชาชน)คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่สามารถร่วมแรง (Embrace), ร่วมผนึกกำลัง (Engage) และต่อยอดให้เป็นรูปธรรม (Enable) เพื่อทำให้เป้าหมายงอกเงยได้ด้วยมือของพวกเราทุกคน
ประชาชนอยู่ดีกินดี
ประเทศสมาชิกในเอเปคมีอยู่ 21 เขตเศรษฐกิต ประกอบด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย ทั้งนี้ เอเปคมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลกหากการแลกเปลี่ยนในการประชุมทำให้ภูมิภาคมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ลดการกีดกันทางการค้า และทำให้ความแตกต่างในกฎระเบียบทำได้ราบรื่นขึ้น ผลลัพธ์ของการประชุมจะเป็นการส่งเสริมการค้า และนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อการค้าทั้งหมดของภูมิภาคเอเปคเพิ่มขึ้น นั่นเท่ากับการเติบโตจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ซึ่งแน่นอนว่า ในระหว่างทาง นั่นคือการมีส่วนร่วมของเราทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นำมาซึ่งรายได้ การมีงานทำ และการเติบโตด้วยกันทั่วทั้งภูมิภาค
การประกอบธุรกิจง่ายขึ้น
ความร่วมมือของภาคนโยบายที่ถ่ายทอดมายังภาคธุรกิจ ทำให้การประกอบธุรกิจระหว่างประเทศง่ายดายมากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกได้รับความร่วมมือและมีการปรับปรุงขึ้นตอนในทุกด้านของความคิดริเริ่ม รวมถึงการเริ่มธุรกิจ การได้รับเครดิต หรือการสมัครขอใบอนุญาตให้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น หากมีการเร่งเวลาให้บริษัทสร้างโรงงานหรืออาคารสำนักงานใหม่ เราอาจไม่ทราบว่า ข้อตกลงนี้ช่วยให้การออกใบอนุญาตก่อสร้างทำได้เร็วขึ้น โดยในกลุ่ม APEC จัดว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกที่มีระยะเวลาอนุญาตที่สั้นที่สุด การเริ่มต้นบริษัทในเอเชียแปซิฟิกจึงเป็นประตูและโอกาสในการค้าการลงทุน ซึ่งประชาชนที่ประกอบธุรกิจในทุกระดับชั้นย่อมได้รับโอกาสและผลประโยชน์ทั้งในด้านกำไร เวลา และทรัพยากรต่างๆ
โลกสะอาด เราสุขภาพดี
เมื่อการประกอบธุรกิจคือบทบาทของภาคเอกชน เราจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดสุขภาพของโลกทั้งใบ ทั้งในอากาศ ดิน และน้ำที่เป็นลมหายใจของเรา การประชุมจะช่วยกำหนดทิศทางของการประกอบธุรกิจที่มุ่งยกระดับด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมในหลายๆ มิติ ไม่ว่าเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ความปลอดภัยด้านอาหาร และการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนที่เป็นปัญหาในเอเชียแปซิฟิกมาช้านาน ว่าเราจะเดินหน้ากันอย่างไรเพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนจะไม่หิวโหยและมีความอยู่ดีกินดี ซึ่งจะรวมไปถึงเรื่องของการปรับปรุงทั้งคุณภาพและปริมาณในการผลิตอาหารที่ต้องลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบทางห่วงโซ่อาหาร ในทางเดียวกัน ภาคเอกชนจะทำอย่างไรที่จะพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และมีสุขภาพที่ยืนยาว
ใช้พลังงานสะอาด ลดคาร์บอนให้โลก
คณะเอเปคได้มุ่งมั่นที่จะลดความเข้มของพลังงานในภูมิภาคลง 45% ภายในปี ปี ค.ศ. 2030 โดยในปี 2014 ที่ผ่านมา มีการตกลงที่จะร่วมกันเพิ่มส่วนแบ่งพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) เป็นสองเท่าภายในปี 2030 อันเป็นพลังงานที่ได้จากแหล่งพลังงานที่เกิดขึ้นต่อเนื่องซ้ำ ๆ ไม่หมดไป โดยมากมักมีแหล่งกำเนิดมาจากธรรมชาติ อาทิ แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ความร้อนใต้พิภพ และชีวมวลหรือผลผลิตและวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมพลังงานภาคเอกชนจึงต่างพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งช่วยเร่งการการเกิดเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว หรือแบตเตอรี่ขั้นสูง อันเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีคาร์บอนและมีการจัดเก็บพลังงานได้ในระยะยาว และเราในฐานะประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ในฐานะผู้บริโภค ที่จะร่วมใช้พลังงานสะอาดเพื่ออนาคตของลูกหลานของเรา
สุขภาพและชีวิตที่ยืนยาว
หนึ่งวาระการประชุมในปีนี้ นั่นคือประเด็นด้าน ‘Rethinking Healthcare After the Pandemic’ ที่ภาคธุรกิจเล็งเห็นว่าการระบาดใหญ่ได้ยกระดับการดูแลสุขภาพให้เป็นวาระแห่งโลกอย่างแท้จริง ดังเช่นเมื่อโควิด19 เกิดขึ้น เรากลับได้พบธุรกิจใหม่มากมาย ไม่ว่า Telehealth, สถานพยาบาลและการดูแลสุขภาพแบบสแตนด์อโลน,บริการห้องปฏิบัติการ หรือนวัตกรรมด้านยาและวัคซีน ดังเช่นการที่บริษัทยารายใหญ่ที่สุดของโลก 15 แห่งลงทุนสถิติการวิจัยและพัฒนา (R&D) มูลค่า 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2564 เพิ่มขึ้น 45% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลสุขภาพ ที่จะช่วยให้ชีวิตของประชาชนยืนยาวและเตรียมพร้อมต่อการระบาดใดๆ ได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
การประชุมระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2565 อัดแน่นไปด้วยหัวข้อและประเด็นที่โลกกำลังเผชิญเพื่อค้นหาแนวทางในการก้าวข้ามความท้าทายนี้ร่วมกัน ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ผลลัพธ์หลังการประชุม คือวาระที่ภาคเอกชนจะเริ่มลงมือทำ ลงมือสานต่อ และลงมือแก้ไขในส่วนที่จะเอื้ออำนวยต่อประโยชน์ของผู้คนเป็นที่ตั้ง ด้วยเป้าหมายของการประชุมคือการเติบโตทางการค้าและธุรกิจที่งดงามและยั่งยืน – ธุรกิจที่หมายรวมถึงธุระ (Business) ที่ภาคเอกชนตลอดจนประชาชนผู้ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ว่าบทบาทใดจะเป็นผู้ร่วมลงมือทำและได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.abac2022.org