TMA และมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์ฯ เฟ้นหายอดนักวิจัยไทย เพื่อรับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ และ นักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2565

Read Time:14 Minute, 17 Second

นักวิจัยไทยโชว์ผลงานนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นจากผลงาน “ระบบติดตามตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัยเขื่อน” และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2565 จากโครงการ “โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูง” โดยทั้งหมดจะเข้ารับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 48 (วทท.48) ในวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย(TMA) โดยกลุ่มบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology Innovation Management Group : TMA-TIMG) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ได้ร่วมกันจัดงาน Outstanding Technologist Awards and TechInno Forum 2022 ในหัวข้อ “Turning Cutting-Edge Tech Into Business”  โดยได้รับการสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้จาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)  บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท  อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เพื่อเป็นแพลตฟอร์มแห่งการแบ่งปันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญและนักเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก รวมทั้งเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทย ซึ่งผ่านการเข้ารอบสุดท้ายของรางวัลพระราชทานนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2565

ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)และประธานุกลุ่มบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology Innovation Management Group- TIMG) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า “การจัดงานในปีนี้มุ่งเน้นให้สามารถพัฒนาไปสู่การต่อยอดงานวิจัยและพัฒนา นำไปสู่แพลตฟอร์มที่จะดึงนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จมาแบ่งปันวิธีการ ตลอดจนแนวคิดของความแตกต่างหลากหลายของวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี และส่วนสำคัญของงานคือ การได้เชิดชูเกียรติของนักเทคโนโลยีคนไทย รวมทั้งเรายังมุ่งหวังที่จะนำเสนอกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการให้ทุกคนได้รับประโยชน์  หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้จุดประกายความคิด ทำให้เกิดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน”

Inspiring the Sustainable Future

ในช่วงเช้าเป็นการสัมมนา Inspiring the Sustainable Future แรงบันดาลใจสู่อนาคตที่ยั่งยืน จาก 4 วิทยากรใน 4 หัวข้อย่อย เริ่มต้นด้วยหัวข้อ Feeding the Future World – อาหารสำหรับโลกอนาคต  โดยคุณโนกา เซลา ชาเลฟ CEO บริษัท Fresh Start สตาร์ทอัด้านอาหารจากประเทศอิสราเอล เล่าถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับอนาคตที่เข้ามามีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นว่า “เนื่องจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่จำกัด การสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีห่วงโซ่ที่ซับซ้อนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อีกทั้งยังได้รับผลกระทบอย่างมากจากปัญหาสิ่งแวดล้อม  สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์จะไม่เพียงพออีกต่อไป อุตสาหกรรมอาหารทางเลือกจึงกลายเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีเงินหมุนเวียนกว่า 2.3 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาอาหารในรูปแบบใหม่มากมาย เช่น อาหารจากแมลง การเพาะเซลล์ และโปรตีนจากพืช แต่ทุกแบบต่างก็มีความท้าทายที่แตกต่างกันไป และยังคงต้องพัฒนากันต่อไปเพื่อตอบโจทย์ทั้งสำหรับผู้บริโภคและไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม”

Business Opportunities of Electric Mobility Transition โดย  คุณอีเลียส พอยรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Virta แพลตฟอร์มการชาร์จ EV และประธานคณะทำงานด้านยานยนต์ไฟฟ้า EURELECTRIC ประเทศฟินแลนด์ กล่าวถึงโอกาสทางธุรกิจของรถยนต์ไฟฟ้าว่า “ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในตอนนี้ ซึ่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV คือคำตอบที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากการเปลี่ยนมาใช้ EV แทนเครื่องยนต์ปกติจะสามารถลดปริมาณคาร์บอน และผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่คุ้มค่ากับการลงทุนที่สุด เมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรม EV ยังมีความท้าทายหลายอย่าง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟฟ้าภาครัฐต้องสนับสนุน และช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามา”

Smart Well-being  โดย คุณร็อกซี เกลไมสเตอร์ Associate จากบริษัทสถาปัตยกรรม Foster + Partners ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า “มนุษย์เราใช้เวลาอยู่ภายในอาคารมากถึง 87% ของเวลาทั้งหมด และยังมีอีก 6% ที่ใช้ในการเดินทาง เพราะฉะนั้น สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์จึงเกี่ยวพันกับอาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ Foster +Partners เชื่อว่างานออกแบบที่ดีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง และทำให้โลกดีขึ้นได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาร่วมมือกันทำเป้าหมายให้สำเร็จ โดยไม่เพียงแค่ลดการใช้ทรัพยากร หรือเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงผู้ที่จะเข้ามาใช้งานในอาคารของเราในอนาคตด้วย”

Into the Space โดย   ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “อวกาศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด เทคโนโลยีหลายอย่างที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันต่างอาศัยเทคโนโลยีทางด้านอวกาศ เช่น GPS หรือดาวเทียม และจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต ธุรกิจนี้จึงเป็นธุรกิจเกิดใหม่ที่มีโอกาสสร้างงาน สร้างการเติบโต และสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกมาก โดยปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศถึง 500 บริษัททั่วโลก รวมถึง 6-7 บริษัทในไทย แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ต้องอาศัยภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ ตลอดจนการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีมากในภาคพื้นทวีป และมีโอกาสการพัฒนาได้อีกไกลหากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม”

Awards Ceremony 

น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว ประธานกรรมการคัดเลือก รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2565 กล่าวว่า “ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดงานเชิดชูเกียรติในครั้งนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจแก่นักเทคโนโลยีไทยให้เกิดความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อสร้างผลงานที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป”

ผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น Outstanding Technologist Award 2022 ได้แก่ :

​ดร.กนกเวทย์  ตั้งพิมลรัตน์ นางสาวนันทิยา ระพิทย์พันธ์ และคณะ  จาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จากผลงาน : ระบบติดตามตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัยเขื่อน

​Finalist: นักเทคโนโลยีดีเด่น Outstanding Technologist Award 2022 

รศ.ดร.วาริน  อินทนา สำนักวิชาการเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  จากผลงาน : ไตรโคเดอร์มา5+ ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชมาตรฐานสากล 

ผู้ที่ได้รับรางวัล นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ Young Technologist Award 2022 

​ดร.มนัสชัย  คุณาเศรษฐ สังกัด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  จากผลงาน : โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูง

​Finalist:  นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ Young Technologist Award 2022

​ดร.สิทธิพร  ชาญนำสิน  อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ   สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอก.) จากผลงาน : ระบบการจัดการจราจรอวกาศ 

ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ได้มอบช่อดอกไม้ พร้อมกล่าวแสดงความยินดีแก่ทุกท่านที่ได้รับรางวัลว่า “เรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ภาครัฐและเอกชนต้องมีเทคโนโลยีที่มากและเข้มแข็งพอ ทุกประเทศในโลกล้วนแล้วแต่ต้องการที่จะหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แต่การจะหลุดจากจุดนี้ได้ต้องเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีในภาคเอกชนที่เข้มแข็ง เสริมกับความรู้และพลังของภาครัฐที่คอยส่งเสริมและสนับสนุนทั้งสิ้น”  

Tech Share

​โดยผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2565 และ ผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2565  ดำเนินการอภิปรายโดย ดร.ภิเเกิดศรี Business Accelerator and Co-Founder, Health and Wellbeing Product, SCG และอนุกรรมการกลุ่ม Technology Innovation Management Group – TMA กล่าวโดยสรุปคือ“ความร่วมมือในการสร้างเขื่อนระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและเนคเทค มีมานานกว่า 20 ปี จากก่อนหน้าที่มีการใช้เทคโนโลยีตรวจวัดของต่างประเทศที่มีราคาค่อนข้างสูง จึงเริ่มมองหาเทคโนโลยีที่มีภายในประเทศนับเป็นจุดเริ่มต้นในทำงานร่วมกัน และพัฒนาไปสู่การติดตั้งให้กับเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศไทย ความท้าทายของการพัฒนาและนำไปสู่การประยุกต์ใช้ที่ได้ผล จะต้องใช้ความร่วมมือที่ลึกซึ้งของทั้งผู้วิจัยพัฒนาและผู้ที่นำไปใช้งานจริง เนื่องจากอุปสรรคของการพัฒนานวัตกรรมใหม่คือการลองผิดลองถูก ดังนั้นการร่วมมือที่เข้าใจการทำงานด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายเป็นตัวช่วยประสานให้เกิดการพัฒนาสามารถฝ่าฟันอุปสรรคของการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างการทำงานลงได้”

“ขณะที่ผลงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูง มีกระบวนการของการเก็บข้อมูลความต้องการของผู้ใช้งานที่ท้าทายมาก เพราะเวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในกระบวนการเก็บ User Requirement เป็นปี  งานวิจัยที่สามารถใช้ระบบ Supercomputer เข้ามาช่วยประมวลผลได้ราว 10% ซึ่งจะช่วยเพิ่มค่า ROI ของการลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูงจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่คุ้มค่าในการที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ ”

Making Use of Technology

​ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายเรื่อง Making Use of Technology โดยมี คุณชยธวัช  อติแพทย์ นายกสมาคมส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย และ อนุกรรมการกลุ่ม Technology Innovation Management Group-TMA, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภญ.ดร.สุธีรา  เตชคุณวุฒิ Chief Executive Officer & Co-Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด และอาจารย์ประจำ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม CEO/Co-Founder บริษัท แอ็คโคแมท จำกัด (ZTRUS) และอนุกรรมการกลุ่ม Technology Innovation Management Group-TMA เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปโดยรวมคือ “การบริหารทรัพย์สินทางปัญญาโดยทฤษฎีนั้นหมายถึง 4 ส่วนที่สำคัญ นั่นคือ 1.การทำให้มี จะด้วยการค้นคว้าวิจัย หรือการประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเพื่อให้มีและสามารถนำไปจดทรัพย์สินทางปัญญาได้ 2. ความคุ้มครองสิทธิ์ ซึ่งความคุ้มครองก็จะต้องครอบคลุมพื้นที่ของการใช้งาน 3. การนำไปใช้เชิงพาณิชย์ และ 4. การดูแลและป้องกันการละเมิดสิทธิ์  การจดสิทธิบัตรเป็นเรื่องใหม่ แต่กระบวนการผลิตให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ ต้องใช้ขั้นตอน กระบวนการ ที่ประกอบไปด้วยสิทธิบัตรด้านต่าง ๆ อีกมากมาย ทำให้ภาคเอกชนที่มองในมุมการผลิตเชิงพาณิชย์ ขัดแย้งกับนักวิจัยที่มองในมุมวิชาการว่าพร้อมขายแล้ว สะท้อนให้เห็นมุมมองที่แตกต่างกัน” 

การประชุมหารือ Roundtable Discussion “How to create new business models out of technology”

เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสพบปะ และสนทนากันอย่างใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในประเด็นธุรกิจใหม่ ใน 4 หัวข้อ ได้แก่  

Feeding The Future World โดย ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), ภญ. ธนะดา  โทมัส CEO & CO-FOUNDER บริษัท ดิอีลีธ อิงค์ จำกัด, น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว กรรมการ คณะกรรมการบริหาร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และ  ดร. ลลานา ธีระนุสรณ์กิจ SVP-Head of Innovation and New Product Development CPF Food Research & Development Center Co., Ltd. มาร่วมให้ความคิดเห็นด้านการผลิตอาหารของโลกอนาคตว่า  “ปัญหาการขาดแคลนของโลกผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางธรรมชาติและปัญหาจากที่มนุษย์สร้างขึ้น ล้วนส่งผลให้อาหารขาดแคลนมากขึ้น แนวทางการแก้ไขจึงเป็นการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบอาหารรูปแบบใหม่ มีการผลิตวัตถุดิบแทนเนื้อสัตว์หรือโปรตีนทางเลือก เพื่อนำไปทำเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารได้ต่อไป สิ่งหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือ การเลือกกระบวนการผลิตอาหารจำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและความยั่งยืนต่อโลก ปลอดภัยในที่นี้หมายถึง การปลอดภัยต่อคน ต่อสัตว์และต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการคำนึงถึงทั้งองคาพยพที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อการผลิตและการมีอยู่ของวัตถุดิบที่จะไม่ขาดแคลนอีกต่อไป เทคโนโลยีจึงจะเข้ามามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการผลิตให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

ขณะที่การพูดคุยกันถึงประเด็น Smart Well-being โดย ผศ.นพ. ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานกลยุทธ์และที่ปรึกษาด้านคุณภาพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, คุณธงชัย โชคถนอมทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิน ออริจิ้น เฮลท์แคร์ จำกัด, ดร.พสุ สิริสาลี นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, คุณพิมพ์ชนก วรวัฒนนนท์ Chief Product Owner – Well-being Nexter Living            Co., Ltd. และ คุณอนัญญา เหมวิจิตรพันธ์ ผู้ก่อตั้ง Wellness Club Thailand กล่าวโดยสรุปคือ“วันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การผสานการพักผ่อน การอยู่อาศัยให้สามารถมีสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น ทั้งรูปแบบการติดตามของอุปกรณ์สวมใส่ หรือการเชื่อมต่อการแพทย์ทางไกล อีกทั้งยังมีแอปพลิเคชันที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงการปรึกษาแพทย์ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลทุกครั้งอีกต่อไป”

หัวข้อ Smart Mobility โดย คุณอีเลียส พอยรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Virta แพลตฟอร์มการชาร์จ EV และประธานคณะทำงานด้านยานยนต์ไฟฟ้า EURELECTRIC ประเทศฟินแลนด์, คุณจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ Innovation Management Officeบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และคุณรวี บุญสินสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจใหม่และนวัตกรรม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)   สรุปประเด็นโดยรวมในที่ประชุมกล่าวว่า “ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า EV จะเป็นกำลังสำคัญในการรับมือกับ Climate Change แม้ในปัจจุบันการใช้ EV จะยังไม่แพร่หลายเทียบเท่าเครื่องยนต์ปกติ แต่จากการที่ทุกภาคส่วนร่วมกันผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ทำให้มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การผลักดันด้านพลังงานสะอาดไม่สามารถเกิดขึ้นได้ชั่วข้ามคืน แต่ต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงาน และความสามารถในการจ่ายของผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กันด้วย หากเราเร่งรีบเกินไปอาจส่งผลให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา อย่างเช่นในประเทศจีนที่ส่งเสริมด้าน EV อย่างดุเดือด จนมีผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก แต่โครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จกลับไม่เพียงพอ จนต้องต่อคิวชาร์จกันนานหลายชั่วโมง”

และสุดท้ายในหัวข้อ Into the Space โดย ดร.ดำรงค์ฤทธิ์  เนียมหมวด รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), ดร.วเรศ  จันทร์เจริญอาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  และหัวหน้าทีม KEETA (ผู้เข้าร่วมการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีอาหารสำหรับนักบินอวกาศ Deep Space Food Challenge – NASA) และ ดร.สิทธิพร  ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้ให้ข้อคิดเห็นร่วมกันโดยสรุปว่า “เทคโนโลยีอวกาศ เป็นธุรกิจที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่ หากใครเข้ามาในตลาดได้ก่อนก็มีสิทธิจะพัฒนาได้ไกล ไม่เพียงธุรกิจดั้งเดิมอย่างดาวเทียมเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจใหม่ เช่น การท่องเที่ยวในอวกาศ ที่ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป แต่เรายังต้องอาศัยภาครัฐในการช่วยพัฒนา ต้องมี Roadmap เพื่อให้เรามีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติ”

Previous post OPPO วางจำหน่าย OPPO Band 2 สมาร์ตแบนด์ดีไซน์เทรนดี้ ผู้ช่วยในการออกกำลังกายระดับมืออาชีพ ในราคาเพียง 2,999 บาท
Next post “มิกกุ” น้ำผลไม้ผสมโยเกิร์ต จัดแคมเปญสุดว้าว! 
Social profiles