เทียบชัด MOU 2 ฉบับ กสทช-กกท. VS กกท.-ทรู จับโป๊ะ กกท.ไม่ปฏิบัติตาม MOU ที่ กสทช.ระบุไว้ เจตนาเอื้อทรูผูกขาดลิขสิทธิ์

Read Time:4 Minute, 16 Second

ตาม MOU ระหว่าง กสทช. และ กกท. ข้อ 1.2 และ 2.2 ระบุชัดเจนว่า ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของกสทช. ทุกประเภท ณ ทีนี้ หมายรวมถึง ระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial Transmission), ระบบดาวเทียม (Satellite Transmission), ระบบเคเบิ้ล Cable Transmission) และระบบไอพีทีวี (IPTV Transmission) สามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ได้โดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎ Must carry

ตามข้อ 2.8 และ 2.8 (2) กกท. ก็ตกลงยินยอม ให้ผู้รับใบอนุญาตภายใต้กำกับของ กสทช. ได้สิทธิในการแพร่ภาพแพร่เสียงการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 แบบไม่จำกัดจำนวนการรับส่งสัญญาณผ่านช่องทางและระบบ หรือรูปแบบการออกอากาศ ตลอดระยะเวลาที่กำหนด ตาม ข้อ 2.8 (2) ซึ่งหาก กกท. สละซึ่งสิทธิใดๆ ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของสำนักงาน กสทช. และผู้ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด โดย กกท. จะดำเนินการเพื่อให้สำนักงาน กสทช.และผู้ที่เกี่ยวข้องยังคงได้รับหรือสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้ง กกท. จะดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายประกาศหลักเกณฑ์ และระเบียบที่ กสทช. กำหนด รวมถึงมติที่ประชุม กสทช. ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่และที่จะมีต่อไปในภายหน้า ตามระบุในMOU ข้อ 2.10

นอกจากนี้ MOU ข้อ 8.1 ยังระบุชัดเจน เรื่องการเรียกคืนเงิน 600 ล้าน หาก กกท. ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงนี้ สำนักงาน กสทช. ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการสนับสนุนค่าใช้จ่าย รวมถึงมีสิทธิเรียกคืนเงินใดๆ ที่ได้สนับสนุนไปแล้วคืนจาก กกท. โดย กกท.จะต้องชำระคืนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

เมื่อเทียบกับ MOU ระหว่าง กกท และ ทรู ที่ทำเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 โดยเป็นข้อตกลงระหว่าง บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด, บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กับ การกีฬาแห่งประเทศไทย จะเห็นได้ชัดเจนว่า MOU ระหว่าง กกท และทรู ไม่เป็นตามข้อตกลงของ MOU ระหว่าง กสทช. และ กกท. อยู่หลายประการ โดยเฉพาะในเรื่อง IPTV และไม่เป็นไปตามที่ นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศ กล่าวผ่านสื่อมวลชนเสมอมา ว่าได้ทำตามข้อตกลงทุกอย่างกับ กสทช. อย่างถูกต้อง ดังปรากฏในเอกสาร MOU บางส่วน ดังนี้ 

ตาม MOU ระหว่าง กกท. และ ทรู ดังข้อ 4การคุ้มครองสิทธิ ระบุว่า กกท. รับรองว่า กสทช.ได้แจ้งกำชับไม่ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้อง ทำการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup 2022) ผ่านระบบ IPTV, ระบบอินเทอร์เน็ต, ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบ OTT ไม่ว่าจะเป็นบนช่องทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันซึ่งสามารถรับชมได้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่องรับสัญญาณ และอุปกรณ์อื่นใด เพื่อคุ้มครองสิทธิของทรู และกกท. ตกลงว่า กกท. จะดำเนินการไม่ให้มีการนำสัญญาณถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ออกอากาศบนช่องดิจิตอลฟรีทีวี ไปเผยแพร่บนระบบ IPTV, ระบบอินเทอร์เน็ต ,ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และระบบ OTT โดยในกรณีที่มีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์มีการกระทำละเมิดสิทธิของทรูตามบันทึกข้อตกลงนี้ กกท. ตกลงที่จะคืนเงินสนับสนุนให้แก่ผู้ให้การสนับสนุนทั้งหมดทันที

นอกจากนี้ ใน MOU ยังระบุรายละเอียดสิทธิและประโยชน์ที่ กกท ยกลิขสิทธิ์ให้กับทรูทั้งหมด โดยเฉพาะ ข้อ 2.3 สิทธิแบบเอ็กซ์คลูซีฟในระบบเคเบิ้ล, ระบบดาวเทียม, ระบบIPTV ไม่ว่าจะเป็นบริการแบบเรียกเก็บค่าบริการหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีข้อยกเว้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่า MOU ระหว่าง กกท. และทรู ขัดต่อ MOU ระหว่าง กสทช และ กกท.ที่ตกลงกันไปก่อนหน้า

ดังนั้น การที่ผู้ประกอบ IPTV ทุกรายจอดำ จึงไม่เป็นไปตามกฎ Must carry ที่เป็นเจตนารมณ์ของ กสทช. ในการสนับสนุนงบ 600 ล้านของ กสทช. ที่ต้องการให้คนไทยดูฟรีทีวีได้ทุกช่องทาง จึงเป็นเหตุให้ กสทช จะเรียกเงินคืนทั้งหมด จาก กกท.  

ด้าน ผู้ว่า กกท. ก็ยังยืนกรานว่า กกท. ปฏิบัติตามข้อตกลงกับ กสทช. แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของเอกสาร MOU ผิดไปจากที่กล่าวมาโดยสิ้นเชิง กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทรูผูกขาดแต่เพียงรายเดียว และยังขัดต่อข้อกฎหมายของ กสทช. ด้วย จึงต้องจับตาดูต่อไป ว่า กกท. จะแก้ไขข้อตกลงให้ถูกต้องตาม MOU ที่ได้ทำกับ กสทช. หรือไม่ 

Previous post Join Boat Platform ผนึกกำลังบริษัทธุรกิจทางน้ำยกทัพ “เรือยอร์ช” ขึ้นบก ชูศักยภาพ ดันเศรษฐกิจท่องเที่ยวโตยั่งยืน
Next post “คาราบาวกรุ๊ป” รับรางวัล องค์กรที่สนับสนุนงานด้านคนพิการ ระดับดีเด่น ประจำปี 2565 
Social profiles