Flying into the future สร้างทักษะพร้อมสู่โลกการทำงานจริง กับสาขาการจัดการธุรกิจการบินและการขนส่ง

น้อง ๆ ที่กำลังจะจบการศึกษาระดับชั้น ม.6 และมีความฝันอยากทำงานในสายธุรกิจการบิน บทความนี้ขอแนะนำสาขาวิชาที่รับประกันว่าเรียนจบแล้ว ไม่ตกงานแน่นอน คือสาขาวิชาการจัดการธุรกิจการบินและการขนส่ง ที่เปิดโอกาสให้กับน้องที่สนในด้านธุรกิจการบินสามารถต่อยอดสู่อาชีพในอนาคตได้จริง และวันนี้ “ก้องภพ ทับทิมทอง” (รุ่นพี่ปี 2) จะมารีวิวการเรียนของหลักสูตรนี้ที่ ม.รังสิต ให้เห็นว่าที่นี่เค้าเรียนกันอย่างไร

นายก้องภพ ทับทิมทอง (พี่กอล์ฟ) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการจัดการธุรกิจการบินและการขนส่ง วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ  มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กมีความสนใจเกี่ยวกับเครื่องบิน เมื่อโตขึ้นจึงมองหาแนวทางที่จะทำให้ตนได้ทำงานใกล้ชิดกับเครื่องบินมากที่สุด หลังจบม.6 ได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ว่า ม.รังสิต เปิดสอนหลักสูตรในสาขาการจัดการธุรกิจการบินและการขนส่ง จึงหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการสอนและตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในสาขานี้ภายใต้วิทยาลัยการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบริการ

จริง ๆ แล้วศึกษาไว้หลายที่เหมือนกันครับ แต่ส่วนตัวมีพี่เรียนอยู่ที่ ม.รังสิต เลยมีโอกาสได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรนี้เพิ่มเติม เห็นว่าสอนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบินและการบริการ มีเสริมในเรื่องของโลจิสติกส์และธุรกิจการขนส่งอีกด้วย ครอบคลุมในอุตสาหกรรมการบิน นับว่าเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจ เลยเลือกที่ ม.รังสิต ครับ”

กอล์ฟรีวิวให้ฟังว่า หลักสูตรนี้ได้เรียนทั้งในภาคของทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง แน่นอนว่าการเรียนในสาขานี้ จะได้เรียนในส่วนของการจัดการท่าอากาศยานในรูปแบบต่างๆ มีทั้งการเรียนเกี่ยวกับการบริการผู้โดยสาร(Passenger service) การวางแผนบริหารจัดการเที่ยวบิน(Flight operation) และการจัดการในส่วนของคาโก้ หรือสินค้าสำหรับโหลดใต้ท้องเครื่องบิน(Cargo management) และสิ่งที่สาขามุ่งเน้นสอนให้กับนักศึกษาทุกคนมีทักษะติดตัวก่อนเข้าสู่การทำงานจริง คือ ความเข้าใจในการทำงานภายใต้การคำนึงถึงความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็น และสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมการบิน คือ เรื่องของความปลอดภัย ความละเอียด ความรอบคอบ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องทำงานผ่านการเดินอากาศ และในส่วนของการเรียนภาคปฏิบัติ ที่ม.รังสิต มีห้องม็อคอัพเครื่องบิน ภายในห้องจะประกอบด้วย อุปกรณ์การทำ Safety demo เป็นห้องปฏิบัติการที่เสมือนจริง ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเห็นภาพได้ชัดเจน สร้างทักษะที่พร้อมสู่การทำงานจริงในอุตสาหกรรมการบิน ไม่ใช่เพียงการเป็นแอร์โฮสเตสหรือสจ๊วตเท่านั้น แต่สามารถนำไปต่อยอดและประกอบอาชีพอื่น ๆ เช่น พนักงานฝ่ายฝ่ายการตลาด เจ้าหน้าที่ฝ่ายขนส่งสินค้าทางอากาศ เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ กรมศุลกากร สำนักงานการบินพลเรือน เป็นต้น

“สิ่งที่ผมประทับใจคือการสอนของที่ ม.รังสิต หลายครั้งรู้สึกว่าเนื้อหาที่เรากำลังเรียนมันยากเกินไป แต่อาจารย์ที่นี่ก็สามารถสอนให้เราเข้าใจอย่างครอบคลุม ทำให้สุดท้ายกลายเป็นความเข้าใจที่พร้อมนำไปต่อยอดในอนาคต”

ฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังหาที่เรียนต่อ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร หากมีความสนใจในเรื่องของธุรกิจการบิน

หลักสูตรนี้ถือว่าตอบโจทย์ไม่น้อย เมื่อเรียนจบไปแล้วสามารถต่อยอดเดินหน้าสู่สายอาชีพในอุตสาหกรรมการบิน

ได้อย่างแน่นอนหากใครมีคำถามเพิ่มเติม ปรึกษาพี่ ๆ ได้ที่ Face Book : RSU Airlines