หยุดยาลดไขมัน อันตรายหรือไม่?

Read Time:2 Minute, 50 Second

ในยุคปัจจุบันที่พบว่า แนวโน้มคนไทยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับความอ้วนหรือการมีไขมันสะสมในร่างกายเกินระดับปกติ มีระดับที่สูงขึ้น และร้อยทั้งร้อยจะต้องรับประทานยาลดระดับไขมันโดยคำสั่งแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2557 ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่เปิดเผยว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และหากเทียบในอาเซียนจะพบว่า ผู้หญิงไทยเป็นโรคอ้วนอันดับ 2 รองจากมาเลเซียเท่านั้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบเผาผลาญพลังงานและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง มีความเชื่อผิดๆ ในการกิน ตามใจปาก มีโรคประจำตัว และการรับประทานยาต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบันนี้ หญิงสูงวัยมีแนวโน้มที่จะมีการใช้ยาลดระดับไขมันในเลือดกันมากขึ้น โดยเฉพาะยากลุ่มที่มักมีชื่อเรียกต่อท้ายว่า “statin” เช่น Simvastatin, Atorvastatin หรือ Rosuvastatin เป็นต้น (ชื่อยาในทางการค้าที่แตกต่างกันตามแต่ละบริษัท)

จากการเก็บข้อมูลจากประชากรในประเทศจีนของมหาวิทยาลัยปักกิ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ด้วยการสอบถามผู้ที่ได้รับประทานยาลดไขมัน พบว่า ในกลุ่มที่ได้รับประทานยานี้ประมาณร้อยละ 24 เกิดผลข้างเคียงจากยา และลังเลว่าจะใช้ยาต่อไปดีหรือไม่ ผลข้างเคียงที่พบคือ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้ออักเสบ จากนั้น ได้ติดตามผลในกลุ่มผู้ที่เกิดผลข้างเคียงแล้วเลือกที่จะรับประทานยาต่อไปกับกลุ่มที่ไม่ยอมรับประทานยาอีก เพื่อดูว่ามีการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแตกต่างกันหรือไม่ ผลปรากฏว่าในกลุ่มที่ใช้ยา statin ต่อไปนั้นมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่ากลุ่มที่หยุดยาไปเลยถึงร้อยละ 10-20 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ และยังพบว่าในกลุ่มที่รับประทานยาต่อเกิดผลข้างเคียงคือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อถึงร้อยละ 25 แต่กลุ่มคนที่ตัดสินใจใช้ยาต่อก็ให้เหตุผลว่ามีอาการเพียงเล็กน้อยและยอมรับได้ ทั้งนี้ ข้อสังเกตของการศึกษานี้คือกลุ่มคนที่ได้รับประทานยานั้นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและเป็นโรคแล้วบางส่วน การหยุดยาจึงอาจส่งผลเสียได้กับกลุ่มคนกลุ่มนี้

อย่างไรก็ดี พบว่ามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเรื่องการใช้ยาลดไขมันกลุ่มนี้ ให้ข้อสังเกตไว้ว่า คนที่มีผลข้างเคียงจากยาแล้วหยุดยา แต่ไม่เกิดโรคเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่โอกาสเกิดน้อยตามหลักสถิติ และยังกล่าวว่า หลักฐานของการลดอัตราการเสียชีวิตจากการใช้ยานั้น มีประโยชน์เหนือกว่าผลเสียซึ่งมักจะไม่รุนแรงจากยา จึงไม่แนะนำให้หยุดยาหากไม่เกิดผลเสียที่รุนแรง และถ้าหยุดก็จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตโดยรวมสูงกว่าผู้ที่รับประทานยาต่อเนื่อง

กล่าวโดยสรุปว่า ผู้ที่ได้รับประทานยาลดไขมัน แล้วเกิดผลข้างเคียงหรืออยากหยุดยาด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาถึงข้อดีและข้อเสีย รวมถึงวิธีแก้ไขผลข้างเคียงที่เกิดจากยา ไม่ควรหยุดยาเองโดยไม่ติดตามความเสี่ยงหรือระดับไขมันในเลือด เพราะอาจเกิดโรคที่รุนแรงมากขึ้นหรือการกำเริบของอาการเดิมได้ ผู้ที่รักสุขภาพหรือกำลังสงสัยว่าตนเองมีไขมันสะสมมากเกินจนต้องรับประทานยาลดไขมันหรือไม่ สามารถขอคำปรึกษาจากทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ)

โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์) โรงพยาบาลพิษณุเวช (จังหวัดพิษณุโลก) และโรงพยาบาลสหเวช (จังหวัดพิจิตร)) และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ www.princhealth.com

Previous post สวนน้ำวานา นาวา วอเตอร์ จังเกิ้ล ได้รับรางวัลระบบมาตรฐานการจัดการด้านอาชีว อนามัย และความปลอดภัย
Next post คอนโด “อินฟินิตี้ วัน” คอนโดที่สูงที่สุดบนทำเลทองแห่งเดียวกลางใจเมืองชลบุรี
Social profiles