โครงการ “Wake up สตรีไทย ปลอดภัยไร้มะเร็งปากมดลูก รู้ไว้ป้องกัน HPV”

Read Time:9 Minute, 9 Second

มกราคมเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูก วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ และสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย บูรณาการความร่วมมือสร้างเสริมสุขภาพให้สตรีไทยได้ตระหนักรู้ถึงการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสเอชพีวีซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกที่คร่าชีวิตสตรีไทยเฉลี่ยถึงวันละ 14 คน ทั้งๆ ที่มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ป้องกันได้ ภายใต้แคมเปญรณรงค์ “Wake up สตรีไทย ปลอดภัยไร้มะเร็งปากมดลูก รู้ไว้ป้องกัน HPV” ซึ่งภายในงานได้มีการจัดเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีและวิธีป้องกันสตรีไทยให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ นายแพทย์จตุพล ศรีสมบูรณ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร อาจารย์คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยคุณแพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ และ บูม-สุภาพร วงษ์ถ้วยทอง ที่ได้มาร่วมแบ่งปันเรื่องราว และเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมรณรงค์ให้ประเทศไทยปลอดภัยไร้มะเร็งปากมดลูกในโครงการดังกล่าว

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ได้จัดบุคลากรทางการแพทย์ให้บริการตรวจเช็กสุขภาพ และให้คำปรึกษาด้านโรคทางนรีเวชแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ ตรวจอัลตราซาวด์เชิงกรานสตรีในกลุ่มที่มีอาการผิดปกติ อาทิ ปวดท้องน้อย ปวดประจำเดือน เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือคลำได้ก้อน, ตรวจมวลกระดูกพร้อมให้คำปรึกษาวัยทองสำหรับสตรีอายุ 45 ปีขึ้นไป, ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวี และรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีกับทีมแพทย์เฉพาะทาง ตลอดจนการสอนตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี (B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีพลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รักษาการรองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฝ่ายสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการรณรงค์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และทีมบุคลากรทางการแพทย์จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รักษาการรองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ฝ่ายสนับสนุนและพัฒนาโครงการใหม่ กล่าวว่า “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางชำนาญการด้านโรคมะเร็งที่ได้สืบสานการดำเนินงานตามรอยพระปณิธานอันแน่วแน่ใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมุ่งหวังให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นศูนย์ชำนาญการด้านการศึกษา การวิจัย และการรักษาโรคมะเร็งของประเทศไทย ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ พร้อมเทคโนโลยี และเครื่องมือที่ทันสมัย ยกระดับการรักษาให้ทัดเทียมนานาประเทศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็ง รวมถึงผู้ป่วยยากไร้ให้ได้รับการดูแลบำบัดรักษาอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ในโอกาสที่เดือนมกราคมเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกสากล วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ และสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพให้สตรีไทยห่างไกลจากโรคมะเร็งปากมดลูก จัดโครงการบริการทางการแพทย์ด้านโรคทางนรีเวชพร้อมกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกภายใต้แนวคิด “Wake up สตรีไทย ปลอดภัยไร้มะเร็งปากมดลูก รู้ไว้ป้องกัน HPV” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพ และเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ให้การสนับสนุนการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อให้สตรีไทยได้ตระหนักและป้องกันภัยจากโรคมะเร็งปากมดลูก อีกทั้งในปี พ.ศ. 2562 นี้เป็นปีที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของการเปิดดำเนินงาน ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์จึงได้จัดกิจกรรมบริการตรวจเช็กสุขภาพและให้คำปรึกษาด้านโรคทางนรีเวช อาทิ ตรวจอัลตราซาวด์เชิงกรานสตรี ตรวจมวลกระดูกพร้อมปรึกษาอาการวัยทอง แก่ประชาชนตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรมทั้ง 2 วัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ อาคารรัฐประศาสนภักดี (B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ เพื่อสานต่อพระปณิธานขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ทรงมุ่งหวังให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะผู้ป่วยยากไร้และด้อยโอกาสที่จะได้มีโอกาสเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากลอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงพยาบาลยึดถือตลอดระยะเวลาที่เปิดดำเนินงานมา”

ศาสตราจารย์ นายแพทย์จตุพล ศรีสมบูรณ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า “จากสถิติทั่วโลกนั้นมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งในสตรีที่พบเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม ซึ่งรวมทั้งในประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาพบผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่มีมากถึง 8,600 รายต่อปี หรือในทุกๆวันจะมีผู้ป่วยรายใหม่ถึง 24 คน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม โดยปัจจุบันโรคมะเร็งปากมดลูกคร่าชีวิตสตรีไทยเฉลี่ยถึงวันละ 14 คน ทั้งๆที่มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิดที่ป้องกันได้เพราะเรารู้สาเหตุแน่ชัดแล้วว่ามะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งมีวิธีการป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวี ดีเอ็นเอ และวัคซีนป้องกัน โดยช่วงเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา ดร. เท็ดรอส แอดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวถ้อยแถลงซึ่งถือเป็นเป้าหมายระดับนานาชาติที่ตอบสนองต่อข้อผูกพันด้านนโยบายสุขภาพโลกในที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติว่า “A world free of cervical cancer” หรือ “มะเร็งปากมดลูกควรจะต้องหมดไปจากโลกใบนี้” โดยมีมาตรการขจัดโรคมะเร็งปากมดลูกที่สำคัญ ได้แก่ การรับวัคซีน การตรวจคัดกรอง การรักษา และการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งสิ่งที่ทุกประเทศต้องทำอันดับแรก คือ จะต้องแนะนำและขยายการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีให้ครอบคลุมกลุ่มเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ให้มากที่สุด ประการที่สองทุกประเทศจะต้องแนะนำและปรับการตรวจคัดกรองเชื้อเอชพีวีให้เป็นการตรวจพื้นฐานสำหรับผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 49 ปี และให้การรักษาและติดตามผลอย่างเหมาะสม และประการที่สามทุกประเทศจะต้องเพิ่มการเข้าถึงการวินิจฉัยการรักษามะเร็งปากมดลูก และให้การดูแลแบบประคับประคอง โดยรัฐบาลไทยได้เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมสนับสนุนในการประชุมดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทยในฐานะศูนย์รวมของบุคลากรที่ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งนรีเวช และสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการและการให้บริการแก่ประชาชนด้านโรคมะเร็งในสตรี จึงได้ผนึกกำลังกับทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐและเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งได้ร่วมมือกันบูรณาการองค์ความรู้ และสานต่อนโยบายระดับชาติเพื่อรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพให้สตรีไทยได้ตระหนักรู้ถึงการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสเอชพีวี เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับสตรีไทย”

ด้าน นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์เฉพาะทางมะเร็งวิทยานรีเวช อาจารย์คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ในโอกาสที่เดือนมกราคมของทุกปีซึ่งถือเป็นเดือนต้านภัยมะเร็งปากมดลูกสากล ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นศูนย์ที่เปิดให้บริการทางด้านการตรวจรักษาโรคทางนรีเวช และมะเร็งนรีเวช ได้ให้ความสำคัญต่อการรณรงค์ส่งเสริมการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกเพื่อให้สตรีไทยทั่วทุกภาคส่วนได้ตระหนักรู้ และสามารถป้องกันตนเองจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยยังคงมีตัวเลขที่น่าเป็นห่วง โดยในปีนี้เพื่อให้สอดรับการตอบสนองต่อการสนับสนุนนโยบายสุขภาพโลกของทางองค์การอนามัยโลกจึงได้จัดทำโครงการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Wake up สตรีไทย ปลอดภัยไร้มะเร็งปากมดลูก รู้ไว้ป้องกัน HPV” ซึ่งในโครงการได้มีการจัดทำภาพยนตร์รณรงค์ให้ความรู้โดยทีมแพทย์เฉพาะทางมะเร็งวิทยานรีเวช และสูตินรีแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ที่ได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์ชุดดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญที่เน้นย้ำให้สตรีไทย รู้จัก – ป้องกัน – ใส่ใจ – คัดกรอง เชื้อไวรัสเอชพีวีสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก และการส่งเสริมการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกให้กับสตรีไทย โดยแนะนำให้พบสูตินรีแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชพีวี

ซึ่งในอนาคตจะเป็นโปรแกรมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกพื้นฐานในสตรีอายุ 30 ปีขึ้นไป และการตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี รวมถึงแนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ทั้งนี้ การได้รับความรู้และทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายจากเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นส่วนสำคัญที่จะนำพาให้ผู้หญิงไทยห่างไกลจากโรคมะเร็งปากมดลูก เพื่อเป้าหมายสู่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่จะสานฝันให้ประเทศไทยปลอดภัยไร้มะเร็งปากมดลูกในอนาคต”

“ณ ปัจจุบัน วิทยาการทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้า โดยมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจากการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA) เพื่อจะบอกให้แพทย์ทราบว่าผู้ตรวจเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ซึ่งการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแพปสเมียร์จะสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 10 ปี ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น และบางครั้งกว่าจะตรวจพบก็เข้าสู่มะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีการแนะนำให้สตรีในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือในกลุ่มสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งสามารถตรวจได้ถึง 14 สายพันธุ์ และสามารถระบุได้ว่าเป็นการติดเชื้อเอชพีวี สายพันธุ์ 16 และ 18 ที่มีความเสี่ยงสูงในการพัฒนารอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากการติดเชื้อเอชพีวี มักไม่แสดงอาการ การตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็งแต่เนิ่นๆจะช่วยให้แพทย์ควบคุมความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก และตัดสินใจเลือกวิธีรักษาโดยมีข้อมูลที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม สตรีที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป ก็ยังต้องเข้ารับบริการตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอทุกปี เพื่อปกป้องตนเองจากเชื้อไวรัสเอชพีวี และโรคมะเร็งปากมดลูก

นอกจากนี้ เรายังเน้นการสร้างเกราะป้องกัน ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยง และแนะนำการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศทั่วโลก จากงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนเอชพีวีล่าสุดพบว่า วัคซีนสามารถลดการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึงมากกว่าร้อยละ 90 ของเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุหลักในการก่อมะเร็งปากมดลูก และลดการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็งได้ถึงร้อยละ 85 ซึ่งจะเห็นว่าเชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นเชื้อไวรัสที่แพร่ติดต่อกันได้ง่ายมาก ขณะที่วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเอชพีวี ดังนั้น การเผยแพร่ความรู้และทำความเข้าใจที่ถูกต้อง และการได้รับการป้องกันจากวัคซีนจึงเป็นเรื่องสำคัญในการช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ซึ่งเป็นวัยที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าเหมาะสมที่สุดในการป้องกัน โดยถ้าได้รับวัคซีนตั้งแต่ในช่วงอายุนี้ ต่อไปเมื่อเติบโตขึ้นเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะได้มีภูมิคุ้มกันเตรียมพร้อมแล้ว”

Previous post BSC Cosmetology ชวนสาวๆ ปล่อยพลังความสวย กับพระเอก ‘โป๊ป-ธนวรรธน์’ ในกิจกรรม BSC Beauty Run Fun & Rally
Next post เอ็มจี คว้า 3 รางวัล จากงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 35”
Social profiles