เอสซีจี เร่งเครื่องธุรกิจแพคเกจจิ้ง เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ (“SCGP”)

Read Time:3 Minute, 14 Second

เอสซีจี ประกาศแผนติดปีกธุรกิจแพคเกจจิ้ง โดยได้อนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SCGP  จำนวนไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุนและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) เพื่อระดมทุนมาใช้ขยายธุรกิจแพคเกจจิ้ง หวังรุกตลาดทั้งในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีอนาคตสดใส และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มอย่างครบวงจร ดันธุรกิจแพคเกจจิ้งให้เติบโต

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี  เปิดเผยว่า “เอสซีจีเล็งเห็นว่าธุรกิจแพคเกจจิ้งมีศักยภาพที่โดดเด่น และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีอัตราการบริโภคและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะสำหรับบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าที่ซื้อขายผ่านช่องทาง  E-commerce โดยเฉพาะในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อย่างมากและต่อเนื่องในอนาคต โดยในปี 2561 ตลาดแพคเกจจิ้งในอาเซียนมีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์

ดังนั้น เพื่อให้เอสซีจีสามารถเร่งสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพการเติบโตของธุรกิจแพคเกจจิ้งในภูมิภาค ทั้งในด้านฐานการผลิตและการตลาดให้ตอบสนองกับความต้องการในตลาดได้ดีมากยิ่งขึ้น เอสซีจีจึงได้อนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ SCGP ไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนชำระแล้วของ SCGP ภายหลังการเพิ่มทุนและนำ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตในอนาคต และเพื่อให้ SCGP สามารถระดมทุนมาใช้ในการลงทุนขยายธุรกิจแพคเกจจิ้งของเอสซีจีทั้งในและต่างประเทศให้เติบโตรวมทั้งเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความพร้อมในการรองรับการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต อีกทั้ง SCGP ยังจะสามารถระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหาเงินทุนในรูปแบบอื่น ๆ ผ่านช่องทางของตลาดทุนได้ด้วยตัวเอง และสามารถปรับโครงสร้างการบริหารธุรกิจในอนาคตให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้การบริหารจัดการ การพัฒนา และการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตของ SCGP มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยที่เอสซีจีจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่    และมีอำนาจควบคุม SCGP ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และ SCGP จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของเอสซีจีเช่นเดิม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เอสซีจีได้รับประโยชน์กลับมาจากผลการดำเนินงานของ SCGP ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าการเติบโตในอนาคตได้ดียิ่งขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ธุรกิจแพคเกจจิ้งของเอสซีจี จะยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาจุดแข็งและสร้างโอกาส ทั้งในด้านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีวัสดุหลากหลายประเภท (Multi-materials) ทั้งกระดาษและพอลิเมอร์ พร้อมการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Integrated packaging solutions provider) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ผ่านการเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำระดับโลก และการควบรวมหรือการซื้อกิจการ (Merger & Acquisition: M&A) ในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพการเติบโตโดยในปี 2562 ได้มีการเข้าซื้อ PT Fajar Surya Wisesa Tbk. ในอินโดนีเซีย และบริษัท วีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ในไทย ตลอดจนการมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ทั้งในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์  มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ   ทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ให้สามารถช่วยเสริมประสิทธิภาพการผลิตที่ธุรกิจแพคเกจจิ้งมีอยู่ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าชั้นนำระดับสากลได้อย่างครอบคลุมและครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำต่อไป”

Previous post เอสซีจี แถลงผลประกอบการไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกปี 2562
Next post นกสกู๊ต ขยายเครือข่ายเส้นทางบินตรงสู่ญี่ปุ่น เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-ซัปโปโร
Social profiles