ปลุกคนปลูกผัก สร้างต้นแบบ ทางรอดของโรงเรียนขนาดเล็ก ผ่านวิกฤตโควิด-19

Read Time:4 Minute, 46 Second

สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดต้นแบบทางรอดของโรงเรียนขนาดเล็กที่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ผ่านวิกฤติทั้งการ ‘ถูกยุบ-โควิด19’ ใช้แนวคิด MIDL Inclusive City หนุนพลังชุมชน ‘ปลุกคนปลูกผัก’ สร้าง ‘ตลาดนัดมีสุข’ เป็นแหล่งเรียนรู้ เยาวชนใช้สื่อเป็นเครื่องมือเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง


โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นต้นแบบของการใช้แนวคิด ‘MIDL Inclusive City – การใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อออกแบบและสร้างเมืองของทุกคน’ คือ โรงเรียนเทศบาลตำบลหาดใหญ่ (บ้านจ้อง) ที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญหน้าวิกฤติการถูกยุบโรงเรียน เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนเพียงแค่ 45 คน แต่ด้วยพลังชุมชนที่ต้องการให้โรงเรียนยังคงอยู่ จึงช่วยกันระดมความคิด ปรับเปลี่ยนโรงเรียนด้วยการสอนวิชาชีวิตให้กับเด็กผ่านกิจกรรม ‘ปลุกคนปลูกผัก – ตลาดนัดมีสุข’ เด็กๆ เรียนรู้การใช้สื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง ชุมชนมีรายได้ บริโภคอาหารปลอดภัย เกิดพื้นที่การเรียนรู้ที่มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน

ครูเชิงชาญ โนจา ครูอาสาซึ่งเป็นคณะทำงานของโครงการฯ จากโรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ (บ้านจ้อง) เล่าว่า ก่อนหน้านี้โรงเรียนจะถูกยุบเนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีเด็กจำนวนน้อยแค่ 45 คน แต่คนในชุมชนไม่อยากให้ถูกยุบจึงปรึกษาหาทางรอดร่วมกัน สุดท้ายได้มีการโอนถ่ายโรงเรียนมาเป็นของเทศบาล หลังการถ่ายโอนโรงเรียน ชุมชนได้มาร่วมกันคิดว่า ทางรอดของโรงเรียนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่องของอาหารการกิน ชีวิตประจำวัน องค์ความรู้ต่างๆ ควรจะมาจากชุมชน เราจึงได้เกิดกิจกรรมปลุกคนปลูกผัก คือการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การปลูกข้าว ปลูกผัก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาความรู้ของชุมชน แม้โรงเรียนจะไม่มีพื้นที่มากนัก แต่ก็สามารถปลูกผักอินทรีย์ได้ตามฤดูกาล ส่วนการปลูกข้าว เราใช้พื้นที่นาของคนในชุมชน ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำนาแบบอินทรีย์ ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว ผลผลิตที่ได้นำมาเป็นอาหารกลางวันของโรงเรียน ส่วนที่เหลือนำไปขายในโครงการตลาดนัดมีสุขทุกวันเสาร์ในชุมชน
“เราไม่ได้คิดว่าโรงเรียนสำหรับเด็กคือ แค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ โดยเฉพาะเมื่อเจอกับวิกฤติโควิด19 ทำให้เรามองไปถึงการทำให้เด็กได้เรียนรู้ทุกวัน ผ่านทักษะชีวิตและการใช้สื่อรอบตัว กิจกรรมตลาดนัดมีสุข ทำให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่การไปเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำเกษตรอินทรีย์จากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน การลงมือปลูกเอง เก็บเกี่ยว ถ่ายรูปผลผลิตที่ได้ไปสื่อสารขายในโลกออนไลน์ รวมไปถึงการไปขายในตลาดจริงที่เด็กจะได้ทั้งคณิตศาสตร์ สังคม ภูมิศาสตร์ ภาษา บางครั้งเด็กๆ ยังได้ไปเล่นดนตรีในตลาด ได้ความกล้าแสดงออก เด็กๆ สนุกกับการได้ใช้การสื่อสารในโลกกว้าง การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดแค่พื้นที่ในโรงเรียนอีกต่อไป”


ด้าน อ.ชัยณรงค์ จารุพงศ์พัฒน จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงทัศนะในกิจกรรมครั้งนี้ว่า ปกติเวลาทำงานสื่อสาร เรามักจะมุ่งไปที่เด็กโต แต่ที่นี่พิเศษและน่าสนใจคือเป็นเด็กระดับประถมศึกษา เราเห็นพลังของเด็ก ที่มีมวลประสบการณ์ในพื้นที่ของสังคมเกษตรกรรม เขาสามารถใช้องค์ความรู้ที่เขามีมาผนวกกับการเรียนรู้เรื่องของ MIDL หรือการเท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล พอพลังสองส่วนนี้มาผนวกกับพลังของชุมชน เราก็เลยเห็นการเปลี่ยนแปลง เด็กๆ สามารถปรับกระบวนการเรียนรู้ของเขาร่วมไปกับคุณครู กับความรู้ในพื้นที่ ทำให้สุดท้ายนอกจากเขาจะได้ความรู้ทักษะต่างๆ แล้ว เขายังเปลี่ยนแปลงทัศนคติด้วย เขาเข้าใจชุมชน เห็นคุณค่า เกิดความรัก หวงแหน และอยากจะรักษาสิ่งดีๆ ในชุมชนของเขา


“วันนี้เด็กไม่ได้ตั้งรับอย่างเดียวแล้ว เขาสามารถผลิตสื่อที่เป็นมวลความรู้ของเขาเองแล้ว ที่สำคัญเขายังสามารถเอาสื่อที่เขาทำไปช่วยเปลี่ยนแปลงชุมชน มันอาจจะเป็นการผลิตสื่อง่ายๆ ตามวัยของเขา เช่น การวาดภาพ ถ่ายรูปลงกรุ๊ปไลน์ แต่มันแสดงให้เห็นถึงจินตนาการของเด็กที่ไปสัมพันธ์กับวิถีชีวิตประจำวัน การที่เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ทำให้เกิดภาพการเป็น Inclusive City ที่ชัดเจนขึ้นมา นั่นคือความเป็นเมืองที่เกิดจากพลังร่วมกันระหว่างเด็กและชุมชน”

ในส่วนของ นักเรียนโรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ (บ้านจ้อง) ด.ญ.สุธีรา ยกกรเลิศ และ ด.ญ. อชิรญาณ์ ยกกรเลิศ กล่าวสะท้อนความรู้สึกว่า รู้สึกมีความสุขที่ได้ไปคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ได้สัมภาษณ์เรื่องของวิธีการปลูกผัก ได้ลงมือปลูกผัก รดน้ำ เก็บเกี่ยว ทำให้รู้สึกมีความสุข ภูมิใจในตัวเอง
ขณะที่ ด.ช.ธนกฤติ ขันเขียว และ ด.ญ.ณัฏฐิชา ยอดแก้วเรือง กล่าวว่า ได้มีโอกาสทำคลิปตอนเพื่อนๆ ช่วยกันปลูกข้าว เอามาตัดต่อเองในโทรศัพท์มือถือ รู้สึกสนุก และภูมิใจที่ได้โชว์ฝีมือให้คนอื่นๆ ได้เห็นว่า เด็กๆ ที่นี่ก็ทำสื่อที่ดีมีประโยชน์ได้เหมือนกัน

กิจกรรม ‘ปลุกคนปลูกผัก – ตลาดนัดมีสุข’ ของโรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ (บ้านจ้อง) ได้ถูกบันทึกและถ่ายทอดในรูปแบบสารคดี ในกิจกรรมโครงการสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อเมืองของทุกคน ประจำปี 2563 MIDL for Inclusive Cities 2020 : “ละอ่อน ฮ่วมใจ๋ ตีฆ้อง แป๋งเมือง” ภายใต้นวัตกรรมแนวคิด MIDL โดย สสย. ร่วมกับ สสส. เปิดพื้นที่ให้เยาวชนพลเมืองดิจิทัลสื่อสารอย่างเท่าทันและสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสังคมไทยสุขภาพดีไปด้วยกัน
ผู้ที่สนใจต้องการรับชมสารคดี สามารถเข้าไปดูได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน Child and Youth Media Institute

Previous post DataOne Asia (Thailand) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Universal Payments เร่งพัฒนาบุคลากร เพิ่มขีดความสามารถ การให้บริการของ ITMX (Thailand)
Next post อว. เปิดโรงพยาบาลสนาม มทร. ธัญบุรี รองรับผู้ป่วยโควิด-19
Social profiles