ทีเอ็มบีธนชาต มุ่งพัฒนาโซลูชันผ่านแนวคิดสร้างพื้นฐานทางการเงินครบ 4 มิติสำคัญ ช่วยคนไทยก้าวข้ามโควิด-19

Read Time:8 Minute, 8 Second

ทีเอ็มบีธนชาต พร้อมเดินหน้ายกระดับการบริการและส่งมอบโซลูชันการเงินที่ตอบโจทย์ของลูกค้าแต่ละคน ตลอดทุกช่วงชีวิต สู่เป้าหมายการสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทย ทั้งวันนี้และอนาคต โดยมุ่งพัฒนาโซลูชันจากพื้นฐานการเงิน 4 มิติสำคัญ ได้แก่ รอบรู้เรื่องกู้ยืม, มีความคุ้มครองที่อุ่นใจ, ฉลาดออม ฉลาดใช้ และลงทุนเพื่ออนาคต พร้อมส่งต่อแนวคิดและโซลูชันสู่ลูกค้าเพื่อก้าวข้ามสถานการณ์โควิด-19 ไปด้วยกัน

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า “หลังการรวมกิจการของทีเอ็มบีและธนชาตเสร็จสมบูรณ์แล้ว ธนาคารพร้อมเดินหน้าสร้างชีวิตทางการเงิน (Financial Well-being) ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าและคนไทยทั้งประเทศ ตามเป้าหมายของธนาคาร โดยเฉพาะในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงที่เปราะบางจากสถานการณ์โควิด-19 คนไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหาทางการเงิน การสร้างพื้นฐานทางการเงินที่แข็งแรงในระดับบุคคลเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยธนาคารได้มุ่งพัฒนาโซลูชันผ่านแนวคิดพื้นฐานด้านการเงิน 4 มิติสำคัญ คือ 1. รอบรู้เรื่องกู้ยืม 2. มีความคุ้มครองที่อุ่นใจ 3. ฉลาดออม ฉลาดใช้ และ 4. ลงทุนเพื่ออนาคต ซึ่งธนาคารเชื่อมั่นว่าหากทุกคนนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้จะช่วยเสริมรากฐานทางการเงินที่แข็งแกร่ง และสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้”

พิษโควิด-19 ดันยอดหนี้ครัวเรือนพุ่ง แนะให้รอบรู้เรื่องกู้ยืม ใช้สินเชื่อถูกประเภท ปลดหนี้เร็วขึ้น

ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นความเปราะบางทางด้านการเงินของคนไทยได้อย่างชัดเจน โดยหลายคนขาดรายได้ มีความต้องการกู้ยืม เห็นได้จากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพีของไตรมาส 1 ปี 2564 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ที่มีหนี้สินเดิมอยู่แล้วต้องการเงินไปหมุนเพิ่มเติม หรือผู้ที่ขาดรายได้ก็ต้องการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนหรือธุรกิจ ในขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้เดิมลดลง ซึ่งจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปี 2563 พบว่า คนไทยมีสัดส่วนหนี้ที่เกิดจากการบริโภคและการใช้จ่าย (Consumption Debt) สูงถึง 34% และคนส่วนใหญ่เลือกใช้สินเชื่อบุคคล เห็นได้จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อบุคคลที่ 6.4% ซึ่งมียอดรวมสูงถึง 1.13 ล้านล้านบาท เนื่องจากสะดวกและสมัครง่าย ไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน แม้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ก็ตาม

ในสถานการณ์ที่คนไทยมีภาระผ่อนหนี้สินดอกเบี้ยสูงจากหลาย ๆ แหล่ง ทีเอ็มบีธนชาตแนะนำให้ลูกค้าที่มีสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือรถ หันมาพิจารณาโซลูชัน ttb debt consolidation หรือสินเชื่อที่ช่วยรวบหนี้ทุกทางเป็นก้อนเดียว เช่น รวบหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดดอกเบี้ยสูง มารวมไว้เป็นหนี้เดียว ผ่านสินเชื่อประเภทบ้านแลกเงินหรือรถแลกเงิน เพื่อรับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ช่วยเพิ่มสภาพคล่องและลดภาระหนี้ที่ต้องชำระในอนาคต กรณีตัวอย่าง ลูกค้ามีสินเชื่อบุคคล 450,000 บาท ผ่อนเดือนละ 12,500 บาทที่ดอกเบี้ย 22.00% ต่อปี และมีหนี้บัตรเครดิต 100,000 บาท ผ่อนเดือนละ 10,000 บาทที่ดอกเบี้ย 16.00% ต่อปี เมื่อมารวมหนี้เป็นก้อนเดียว ด้วยสินเชื่อบ้านแลกเงิน ทีทีบี และเลือกผ่อนระยะเวลา 15 ปี ยอดผ่อนจะลดลง เหลือเพียงเดือนละ 5,000 บาท ดอกเบี้ยลดลงเหลือ 6.65% ต่อปี (ดอกเบี้ย 3 ปีแรกเฉลี่ย 6.40% ต่อปี) ซึ่งสามารถนำเงินส่วนต่างถึงเดือนละ 17,500 บาท ไปใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็น ช่วยเสริมสภาพคล่องและลดภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโซลูชัน ttb cash2care สินเชื่อบุคคลที่ให้ดอกเบี้ยถูกลง เมื่อกู้ไปใช้กับเรื่องที่จำเป็น เช่น ค่าเทอมลูก และค่ารักษาพยาบาล เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสภาพคล่องอันเกิดจากภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็น

โควิด–19 เร่งคนไทยตื่นตัว เรื่อง การมีประกัน เพื่อรองรับความเสี่ยง เพิ่มความอุ่นใจ

จากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ปี 2563 พบว่าจากจำนวนประชากรไทย 100 คน มีการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตเพียง 39 ฉบับ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น และด้วยอัตราค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของการมีประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

ทีเอ็มบีธนชาต อยากให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยรองรับความเสี่ยง และอยากให้ทุกคนลองสำรวจความคุ้มครองจากประกันต่าง ๆ ที่ตนเองมีอยู่ ทั้งประกันสุขภาพที่เป็นสวัสดิการของที่ทำงาน ประกันสังคม และประกันอื่น ๆ ที่ท่านทำไว้เองแล้ว ว่าเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่ หากท่านเกิดเจ็บป่วยหนักหรือเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เพราะหากประกันที่มีอยู่ไม่เพียงพอดูแลค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการที่ท่านต้องพักงานและสูญเสียรายได้ จึงจำเป็นต้องนำเงินออมมาใช้ และอาจมีแนวโน้มต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบทั้งต่อตัวลูกค้าและครอบครัวด้วย

หนึ่งในโซลูชันความคุ้มครองขั้นพื้นฐานที่ทีเอ็มบีธนชาตมอบให้ลูกค้า คือ “ทีทีบี ออลล์ฟรี” (ttb all free) บัญชีที่มอบฟรีค่ารักษาพยาบาลและความคุ้มครองชีวิตจากประกันอุบัติเหตุสูงถึง 20 เท่า ซึ่งเราเชื่อว่านี่คือประกันขั้นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนควรมี โดยปัจจุบันมีลูกค้าของธนาคารได้รับความคุ้มครองรวมกว่า 1.5 ล้านราย

เงินที่ได้มา ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและเหลือเก็บออม ฉลาดออมฉลาดใช้ สร้างรากฐานการเงินที่ดี

ในสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ทุกคนควรคำนึงถึงความคุ้มค่าในทุกการใช้จ่ายหรือหาตัวช่วยทางการเงินที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้จริง ทางทีเอ็มบีธนชาต จึงได้นำแนวคิดเรื่อง “เปลี่ยนทุกการใช้จ่ายให้มีความหมายยิ่งกว่า” มาต่อยอดสิทธิประโยชน์ให้กับบัตรเครดิตทีทีบี ชูจุดเด่นด้านการซื้อสินค้าและบริการสั่งอาหารออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางการใช้จ่ายที่จำเป็นในสถานการณ์โควิด-19 นี้ และได้คะแนนสะสมที่เร็วเพื่อใช้แลกสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ เช่น เมื่อซื้อประกันชีวิตผ่านบัตรเครดิตสามารถแลกคะแนนสะสมเป็นเครดิตเงินคืนเข้าบัญชี และใช้คะแนนสะสมแลกชำระค่าหน่วยลงทุนในกองทุนต่าง ๆ เป็นต้น

เมื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นแล้ว ก็ควรเริ่มต้นสร้างวินัยในการออมต่อไป โดยจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ของคนไทยในปัจจุบันมีเพียง 12.5% ในขณะเดียวกัน ตัวช่วยสำหรับการเก็บออมก็ไม่ได้สร้างแรงจูงใจ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ที่ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่บัญชีฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่ามีข้อจำกัดเรื่องของระยะเวลาฝาก ทำให้ไม่ตอบโจทย์ผู้ออมที่ต้องการสภาพคล่องหรือความยืดหยุ่น ซึ่งทีเอ็มบีธนชาตขอแนะนำให้คนไทยใช้จ่ายอย่างมีวินัย ระมัดระวังไม่ให้เกินตัวและเริ่มเก็บออมให้มากขึ้น ผ่านโซลูชันการออม คือ “ทีทีบี โนฟิกซ์” (ttb no fixed) บัญชีเงินฝากไม่ประจำ ที่ให้ดอกสูงเหมือนบัญชีฝากประจำ แต่ถอนได้เหมือนบัญชีออมทรัพย์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวินัยในการออม

วางแผนการเงินเหมือนวางแผนชีวิต เริ่มต้นลงทุนเพื่ออนาคตตั้งแต่วันนี้

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ทั้งดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงตั้งแต่สิ้นปี 2562 จากค่าเฉลี่ยที่ระดับ 0.50% ลงมาอยู่ที่ 0.25% ต่อปี หรือ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีที่โดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากสิ้นปี 2562 ที่ระดับ 1.30% ลงมาอยู่ที่ระดับดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี จึงควรมองช่องทางการลงทุนอื่น ๆ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นหรือผ่านกองทุนรวม ซึ่งอาจทำให้ตัดสินใจลงทุนผิดพลาดได้ง่าย โดยเฉพาะในสภาวะที่ตลาดการลงทุนมีความผันผวน ทีเอ็มบีธนชาตได้พัฒนา “ทีทีบี สมาร์ทพอร์ต” (ttb smart port) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น มีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกช่วยดูแลและจัดพอร์ตการลงทุนที่ลูกค้าสามารถเลือกลงทุนผ่าน 5 กองทุนตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนตามต้องการได้อย่างสบายใจ และปรับพอร์ตให้โดยอัตโนมัติในทุกครั้งที่มีสภาวะเหตุการณ์สำคัญ ขายคืนได้เงินเร็วไม่ติดปัญหาเรื่องสภาพคล่อง นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถเลือกลงทุนใน ttb smart port อย่างสม่ำเสมอทุกเดือน (DCA: Dollar Cost Average) เพื่อช่วยสร้างวินัยในการลงทุนเพื่ออนาคตและกระจายความเสี่ยงจากภาวะผันผวนของตลาดผ่านกองทุนรวมได้อีกด้วย

นอกจากการนำเสนอ แนวคิดพื้นฐานด้านการเงิน 4 มิติ พร้อมโซลูชันทางการเงินที่พัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแล้ว ทีเอ็มบีธนชาตพร้อมส่งมอบแนวทางความรู้และประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น ผ่านผู้เชี่ยวชาญของธนาคาร (Trusted Advisor) ที่พร้อมให้คำแนะนำด้านการเงินต่าง ๆ เว็บไซต์ ttbbank.com ที่ออกแบบใหม่ เน้นให้ข้อมูลความรู้และโซลูชันด้านการเงินที่เข้าใจง่าย และบริการด้านดิจิทัลแบงกิ้งต่าง ๆ ที่ถูกพัฒนาภายใต้แนวคิด “Humanized Digital” เป็นมิตรและรู้ใจ ตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละคนในแต่ละช่วงชีวิต ซึ่งจะทยอยเปิดตัวและให้บริการในครึ่งหลังของปี 2564 นี้

“ทีเอ็มบีธนชาตเชื่อมั่นว่าการทำงานและนำเสนอโซลูชันทางการเงินภายใต้แนวคิดพื้นฐานการเงินทั้ง 4 มิติ จะช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้คนไทย ทั้งในวันนี้และอนาคตได้จริง และสามารถช่วยคนไทยก้าวข้ามสถานการณ์โควิด-19 นี้ไปด้วยกัน”

Previous post สองโปรสาว ‘โปรแพตตี้ -โปรเมียว’ เตรียมสู้ศึกรายการ “ทรัสต์กอล์ฟ วีเมนส์ สก็อตติชโอเพ่น 2021”
Next post NOSTRA LOGISTICS ยกระดับภาคการขนส่งด้วยเทคโนโลยี Cold Chain Logistics ช่วยปั้นธุรกิจดาวรุ่งแห่งปี เติบโตฝ่าโควิด-19
Social profiles