นายกฯ เป็นประธานเปิดหน้าดิน เดินหน้าโครงการก่อสร้างเมืองนวัตกรรม EECi

Read Time:2 Minute, 10 Second

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) จัดพิธีเปิดหน้าดินก่อสร้าง ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างอย่างเป็นทางการเดือนมีนาคมนี้ เป็นก้าวสำคัญในการผลักดันประเทศไทยขึ้นแท่น “ศูนย์กลางนวัตกรรมชั้นนำ” แห่งใหม่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมสมบูรณ์ ยกระดับงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมระดับประเทศ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน

พิธีเปิดหน้าดินก่อสร้างเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมงาน ณ พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ซึ่งมีกำหนดเริ่มต้นการก่อสร้างกลุ่มอาคารเมืองนวัตกรรมภาคตะวันออก ระยะที่ 1 ในเดือนมีนาคม 2562 นี้

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า EECi มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 ด้าน ได้แก่ 1. เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ 2. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 3. แบตเตอรีประสิทธิภาพสูงและขนส่งสมัยใหม่ 4. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5. เทคโนโลยีการบินและอวกาศ และ 6. เครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งจะร้อยเรียงร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) ของไทยให้มีความเข้มแข็งยั่งยืนต่อไป

การก่อสร้างในเฟสแรกในช่วงระยะเวลา 2 ปีต่อไปนี้ จะเป็นการก่อสร้างในส่วนของอาคารหลัก มูลค่าการลงทุนกว่า 1,100  ล้านบาท โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ EECi, โรงงานต้นแบบ และโรงเรือนอัจฉริยะของ BIOPOLIS (เมืองนวัตกรรมชีวภาพ) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ARIPOLIS (เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ), SPACE INNOPOLIS (เมืองนวัตกรรมด้านการบิน และอวกาศ) ระยะเริ่มต้น ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในต้นปี 2564 นอกจากนี้ ยังจะมีการลงทุนในส่วนของโรงงานต้นแบบ ไบโอรีไฟเนอรี มูลค่ากว่า 3,400 ล้านบาท ต่อเนื่องในปี 2563 – 2565 เพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพของไทยต่อไป

ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่ EECi วางสัดส่วนการลงทุนแบบ ~30:70 คือ มาจากภาครัฐไม่น้อยกว่า 33,170 ล้านบาท และเหนี่ยวนำการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นกว่า 110,000 ล้านบาท ภายในเวลา 20 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการลงทุนดังกล่าวได้กว่า 271,000 ล้านบาท  

Previous post ‘ดีป้า’ ร่วมมือ 6 บริษัทชั้นนำ ผลักดัน ‘ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์’ สานต่อนโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’
Next post งาน RICOH Digital Disruption 2019 ขานรับความก้าวไกลทางเทคโนโลยี
Social profiles