ICAO’s USOAP Auditor หญิง คนแรกของไทย กับบทบาท “ผู้ตรวจสอบความปลอดภัยด้านการบินสากล”
องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO เป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและวิธีปฏิบัติที่ใช้ในกิจการการบินพลเรือนเพื่อให้สมาชิกทั้ง 193 ประเทศทั่วโลก นำมาตรฐานและวิธีปฏิบัติดังกล่าวไปออกเป็นกฎหมายกำกับดูแลการบินพลเรือนในประเทศ นอกจากนี้ ICAO ยังทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศสมาชิกว่าได้นำมาตรฐานและวิธีปฏิบัติที่ ICAO ให้ไว้มาบังคับใช้อย่างไร โดยจะประเมินเป็นระดับประสิทธิผลหรือที่เรียกว่า Effective Implementation (EI) โดยปัจจุบันค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ร้อยละ 69.2% ในการตรวจสอบ หากตรวจพบประเทศใดยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐาน ICAO จะให้เป็นข้อบกพร่อง (Finding) และหากข้อบกพร่องที่ตรวจพบนั้นมีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบินและไม่สามารถแก้ไขได้ในกรอบเวลาที่กำหนด ICAO จะประกาศต่อสาธารณะว่าประเทศนั้นมีข้อบกพร่องที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยการบินอย่างมีนัยสำคัญ (Significant Safety Concern หรือ SSC) และ “ติดธงแดง” ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมการบินในประเทศนั้น ๆ อย่างที่ประเทศไทยเคย “ติดธงแดง” ในปี 2558 และต้องใช้เวลากว่า 4 ปี เพื่อปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่อง และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศให้ดีขึ้น จนสามารถปลดธงแดงจาก ICAO ได้สำเร็จในปี 2562 การประเมินมาตรฐานความปลอดภัยในการกำกับดูแลการบินพลเรือนโดย ICAO มีวัตถุประสงค์ที่ช่วยให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงและรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินให้ปลอดภัยสูงสุด โดยการประเมินของ ICAO จะดำเนินการโดย “คณะผู้ตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล” หรือ “USOAP Auditors” โดย “USOAP” (ยูโซพ) ย่อมาจาก The Universal Safety Oversight...