ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม รฟม. “ศราวุฒิ เอกสุวรรณ” ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต

Read Time:8 Minute, 27 Second

ครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตของใครหลายคน หนึ่งในนั้นคือศิษย์เก่ารุ่นที่ 6 ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต “ศราวุฒิ เอกสุวรรณ” ผู้เลือกเจริญรอยตามคุณพ่อ เป็นสถาปนิกมืออาชีพ ก่อนจะเติบโตในสายงานเฉพาะด้านที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งได้ควบรวมองค์ความรู้ 2 แขนงเข้าไว้ด้วยกัน วันนี้เขากลายเป็นสถาปนิกคนแรกที่ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” หน่วยงานที่ให้ความสำคัญและคำนึงถึงประโยชน์ของมวลชนเป็นที่ตั้ง

คุณศราวุฒิ ได้เล่าถึงภาระหน้าที่ในบทบาทของ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ให้ฟังว่า “ผมมีหน้าที่ควบคุมดูแลและให้คำปรึกษา งานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ทั้งในส่วนของงานด้านสถาปัตยกรรม และงานวิศวกรรมระบบไฟฟ้า-เครื่องกล โดยมีขอบเขตการทำงานที่ครอบคลุมงานออกแบบทั่วไปของ รฟม. ตลอดจนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยทำงานร่วมกับที่ปรึกษาภายนอก สำหรับการออกแบบเบื้องต้นเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด รวมไปถึงการประสานงานกับหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ในกรณีที่พื้นที่ของโครงการมีความเกี่ยวพันทับซ้อนกับหน่วยงานนั้นๆ อาทิ กรมศิลปากร กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ในส่วนของการประสานงานกับมวลชน กรณีมีการร้องเรียนจากการเวนคืนพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง เราจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย และหาทางออกผ่านการออกแบบ เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และสร้างผลประโยชน์มากที่สุดต่อประชาชน สำหรับการประกวดราคา เราให้ความสำคัญกับความเหมาะสมของเงื่อนไขและรายละเอียดในข้อสัญญา โดยต้องการงานที่มีมาตรฐาน ซึ่งผลิตจากวัสดุที่มีประสิทธิภาพ จากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งเป็นงานในส่วนที่ต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ในการตัดสินใจที่ถูกต้อง เรามีความเชี่ยวชาญและสามารถให้คำแนะนำกับที่ปรึกษา เพื่อการปรับปรุง พัฒนา หรือแก้ไขงานออกแบบให้สอดรับกับนโยบายและข้อกฎหมายต่างๆ จนสามารถนำไปใช้เพื่อการก่อสร้างได้ โดยใช้มาตรฐาน NFPA หรือ National Fire Protection Association ของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นบรรทัดฐาน เพื่ออ้างอิงข้อกฎหมายสากลในส่วนที่กฎหมายของประเทศไทยยังไม่สามารถครอบคลุมงานด้านรถไฟฟ้าได้ทั้งหมด ซึ่งมาตรฐานนี้ก็มีการใช้งานอยู่ภายในอาคารของ รฟม. ในปัจจุบันด้วย เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการออกแบบจนเข้าสู่กระบวนก่อสร้าง เราจะทำหน้าที่ในการควบคุมงาน ตรวจงานในระยะต่างๆ และตรวจรับงานในขั้นตอนสุดท้าย”

คุณศราวุฒิได้กล่าวต่อว่า “สำหรับงานก่อสร้างจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ 1. การก่อสร้างอาคารลงบนพื้นดิน ซึ่งสามารถควบคุมงานก่อสร้างได้สะดวก เพราะสามารถมองเห็น และตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างก่อนการก่อสร้างได้ งานออกแบบจึงเสร็จสมบูรณ์พร้อมสำหรับนำไปก่อสร้างได้ตั้งแต่ช่วงการทำสัญญา และ 2. การก่อสร้างสถานีใต้ดิน ซึ่งสามารถลงรายละเอียดของพื้นที่ได้เพียง 70% ในช่วงของการออกแบบ จึงต้องทำการสำรวจหน้างานไปพร้อมกับการก่อสร้าง และดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสมสำหรับ รฟม. เราให้ความสำคัญกับการออกแบบสถานีให้มีความกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม พร้อมทั้งการออกแบบทางขึ้น-ลงรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับแต่ละสถานีโดยเฉพาะ ตลอดจนการออกแบบสถานีพิเศษ ที่ได้ถ่ายทอดการผสมผสาน เรื่องราววิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในย่านนั้นๆ เอาไว้ในตัวสถานี อาทิ สถานีสามยอด สถานีสนามไชย และสถานีวัดมังกร”

“สำหรับในบางกรณี อาจมีการออกแบบอาคารส่วนบริการประชาชนเพิ่มเติมภายหลัง หรือการสร้างทางเชื่อมไปยังสถานที่ ซึ่งมีการขออนุญาตเพื่อต่อเชื่อมเข้ากับสถานีรถไฟฟ้า อาทิ ทางเชื่อมไปศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือทางเชื่อมไปสามย่านมิตรทาวน์ ตลอดจนการขออนุญาตก่อสร้างบริเวณโดยรอบเขตระบบรถไฟฟ้า ทั้งจากหน่วยงานราชการและเอกชน เราจะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับโครงสร้างสถานีเพื่ออนุมัติการก่อสร้าง โดยเราจะให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับแรก จึงมีการตรวจสอบทั้งรูปแบบ วัสดุ และเทคนิคการต่อเชื่อม ไปจนถึงการลงรายละเอียดของประตูและสิ่งกีดขวางที่อาจส่งผลต่อความรวดเร็วในการอพยพผู้ใช้บริการ และความสามารถในการรับมือเหตุการณ์เพลิงไหม้”

จุดเริ่มต้น และ การเดินทาง ในสายงานรถไฟฟ้า

การเรียนจบในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ทำให้การหางานในเวลานั้นเป็นเรื่องยาก ผมจึงตัดสินใจทำงานในบริษัทด้านการออกแบบของคุณพ่อ พร้อมกับมองหาลู่ทางอื่นๆ เมื่อทำงานครบ 1 ปี จึงได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย โดยเลือกเรียนเกี่ยวกับ Sustainable Development ซึ่งใช้เวลาเรียน 2 ปีก็สำเร็จการศึกษากลับมายังประเทศไทย บังเอิญตอนนั้นมีบริษัท Joint Venture จาก 3 บริษัทใหญ่ ชื่อ ION (อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์,โอบายาชิ,ไทยนิชิมัตสุก่อสร้าง) กำลังเปิดรับสมัครพนักงาน ผมจึงลองสมัครและได้งานเป็นสถาปนิก คอยตรวจรายละเอียดของการก่อสร้าง ซึ่งตอนนั้นเป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย หลังจากได้ลองทำงานที่มีความเฉพาะด้านมากขึ้นกว่าที่เคยเรียนมา ก็รู้สึกว่าเป็นงานน่าสนใจมาก หลังจากทำงานได้1 ปี เมื่อ รฟม. ต้องการคนไปร่วมทีมงานด้านสถาปัตยกรรม ผมจึงตัดสินใจสมัครทันที และสามารถสอบเข้าเป็นพนักงานทั่วไปได้ ก่อนจะได้รับการบรรจุในเวลา 10 เดือนต่อมา เริ่มแรกผมเป็นสถาปนิกในทีมที่มีเพียง 2-3 คน แต่เมื่อเวลาผ่านไป แผนกก็โตขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีสถาปนิกอยู่ถึง 20 คนแล้ว ด้วยความที่ตอนนั้นมีคนน้อยมากๆ ทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนรู้งานที่หลากหลาย ได้ทำงานแทบทุกอย่าง จนได้รับการโปรโมทเป็นหัวหน้าแผนกสถาปัตย์ หลังจากนั้นก็ได้รับโอกาสให้เป็นโปรเจคเมเนเจอร์ของงานสถาปัตย์ จนเลื่อนขึ้นมาเป็น ผู้อำนวยการกองสถาปัตยกรรม ทำงานในตำแหน่งนี้อยู่ 2-3 ปี ก็ได้รับการทาบทามให้เปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไปเป็น ผู้อำนวยการกองวิศวกรรม ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า “ผมเป็นสถาปนิก ที่สามารถก้าวขึ้นมาดูแลงานฝ่ายวิศวกรรมได้” หลังจากทำงานอีก 2-3 ปี เมื่อผนวกองค์ความรู้ของงานด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และความรู้ความสามารถด้านการบริหาร จัดการแก้ไขปัญหา ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ในสายงานรถไฟฟ้า ทำให้ผมได้รับการโปรโมทขึ้นเป็น “ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม” ในปัจจุบัน 

จากครอบครัวสถาปนิก สู่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต

“ผมเริ่มคิดที่จะเข้าคณะสถาปัตย์ตั้งแต่ช่วง ม.4 เพราะว่าครอบครัวเป็นสถาปนิกกันแทบทั้งหมด ทำให้ได้ซึมซับจากการเห็นคุณพ่อทำงานด้านนี้มาตั้งแต่ต้น จึงคิดว่าต้องเป็นงานด้านนี้แหละที่เราจะทำในอนาคต พอช่วง ม.6 ก็ต้องสอบเอ็นทรานซ์ รอบแรกผมเลือกมหาวิทยาลัยที่มีคณะสถาปัตย์ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพราะไม่อยากออกต่างจังหวัด แล้วผมก็สอบติดที่ ม.รังสิต ชีวิตตอนเรียนช่วงปีแรกต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ แต่ก็สนุกมากด้วยเช่นกัน ตอนนั้นพอเลิกเรียนก็จะยังไม่เริ่มทำงาน จะออกไปเที่ยวเล่นก่อน มาเริ่มทำงานจริงๆ ช่วงตี 3  ซึ่งมีงานเยอะมากทำให้แทบไม่ได้นอนเลย จนบางวันต้องแอบมานอนที่สตูดิโอในคณะ ซึ่งทำให้ผมได้ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับรุ่นพี่จนสนิทกันมาก จนมาถึงช่วงปี 4-5 เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น การทำงานก็เปลี่ยนเป็นโปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งความท้าทาย ความยากและหฤโหดในเวลาเดียวกัน ด้วยความที่คณะสถาปัตย์ ของ ม.รังสิต ก็ค่อนข้างเป็นน้องใหม่ในตอนนั้น บวกกับที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย และแม้ว่าความภาคภูมิใจในสถาบันที่เรามีจะมากแค่ไหน ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราพยายามอย่างมากที่จะพิสูจน์จุดยืนของตัวเองผ่านการประชันระหว่างสถาบัน การแข่งเชียร์ การแสดงผลงาน และการจัดนิทรรศการต่างๆ สำหรับผมเองก็ได้ไปจัดแสดงงานในงานสถาปนิกช่วงปีแรกๆ ที่มีการจัดขึ้นเช่นเดียวกัน จนถึงวันนี้ ม.รังสิต ก็ได้พิสูจน์ตัวเองผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ในฐานะของสถาบันที่ส่งออกบัณฑิตคุณภาพสู่สังคม”

ความสำเร็จ – คติประจำใจ 

ตัวตนของศราวุฒิ เอกสุวรรณ

“ตอนนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ ถือว่าเป็นช่วงกำไรชีวิตแล้ว เหลือเวลาอีก 12 ปี จะเกษียณ ตอนนี้ก็อยากจะพยายามให้เต็มที่ อยากรู้ว่าตัวเองจะสามารถไปได้ถึงจุดไหนของอาชีพ อยากลองทำงานใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยทำ งานที่มีความท้าทายต่อความสามารถของเรา โดยส่วนตัวผมเป็นคนเบื่อง่าย ไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ ผมมีคติประจำใจว่า “อย่ายึดติดใน Comfort Zone” ให้ออกไปหาอะไรใหม่ๆ ทำตลอด ไม่งั้นชีวิตจะไม่ไปไหน เมื่อมีโอกาสใหม่ๆ มา ให้รีบคว้าไว้ เพราะไม่มีอะไรที่คนเราพยายามแล้ว จะทำไม่ได้เลย เหมือนตอนเรียนสถาปัตย์วันแรกเราก็ไม่เคยเรียนมาก่อน ตอนข้ามจากงานสถาปัตย์ไปวิศวะก็ถือเป็นความท้าทายที่ไม่เคยทำมาก่อนเหมือนกัน แต่สุดท้ายเราก็ทำได้ เพราะไม่มีใครที่จะพังไปกับการทำงานจริงๆ ในการทำงานเราไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ยังมีคนที่พร้อมให้ความช่วยเหลือพร้อมที่จะช่วยให้เราได้เติบโตอยู่เสมอ ผมเชื่อว่าไม่มีใครที่สามารถล้มเหลวได้ 100% จากการลองทำอะไรใหม่ๆ ตัวผมเองเป็นสถาปนิกคนแรกที่ได้เป็นโปรเจกต์เมเนเจอร์ คุมงานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งพอเราทำสิ่งใหม่ๆ ได้สำเร็จ ก็ทำให้เราสนุกและอยากจะสร้าง Record ใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ โดยตอนนี้ผมมีโปรเจกต์ขนาดใหญ่ที่กำลังปั้นอยู่ ซึ่งคิดว่าอยากทำให้สำเร็จก่อนที่จะเกษียณ ส่วนชีวิตหลังจากนั้น ตอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่มีแผนเพียงคร่าวๆ เพราะผมอยากให้ความสำคัญกับวันนี้ ปัจจุบันนี้มากที่สุด”

ฝากถึงน้องๆ คนรุ่นใหม่

“ในสังคมไทยปัจจุบัน มีการเปิดกว้างในเรื่องต่างๆ กว่าสมัยก่อนมาก และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในเรื่องของสังคมLGBTQIA+ หรือแม้แต่โอกาสทางการศึกษาและการทำงาน ประเด็นเรื่องมหาวิทยาลัยรัฐบาลหรือมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ใช่จุดสำคัญในการเลือกจ้างงานอีกต่อไป แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การรู้จักตัวเอง รู้ทิศทางที่เหมาะสมกับการเติบโตของตัวเอง และการมีความสามารถในการสื่อสาร ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าความรู้ความสามารถในการทำงาน ที่สามารถฝึกฝนเพิ่มเติมกันได้ในภายหลัง รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมการทำงาน ที่มีคนหลากหลายเจนเนอเรชั่น ซึ่งมีธรรมชาติและความคาดหวังที่แตกต่างกัน สำหรับบางคน สังคมการทำงานในรูปแบบบริษัทอาจไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเรา ก็ขอให้ลองมองหาทางเลือก ผ่านอาชีพรูปแบบใหม่ๆ ที่มีหลากหลายเส้นทางให้เลือกเดิน พยายามหาตัวตนและให้ความสำคัญกับความต้องการของตัวเอง โดยที่ยังเผื่อพื้นที่ไว้สำหรับผสมกลมกลืนไปกับสังคมในแบบที่จะไม่เสียตัวตนของตัวเราไป”

Previous post งาน TravelTech Conference สุดยิ่งใหญ่ “Enhancing Thailand Tourism 2023”
Next post กรุงเทพประกันภัยจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต บริจาคอวัยวะ และบริจาคดวงตา ให้แก่สภากาชาดไทยอย่างต่อเนื่อง
Social profiles