เมื่อรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการทำงานของผู้คนทั่วโลก ได้ย้ายมาอยู่บนเครือข่ายดิจิทัล ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วินาที เป็นสิ่งล่อตาล่อใจจากความพยายามคุกคามและโจมตีของผู้ไม่หวังดี ที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลที่สำคัญเหล่านั้น อาชีพด้าน “Cyber Security” จึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างสูง “ศุภฤกษ์ อิทธิพลานุคุปต์” คือหนึ่งในผู้ที่กระโจนเข้ามาทำหน้าที่นี้ ตั้งแต่ในช่วงที่เทรนด์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก ศิษย์เก่าคนเก่งจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้ทำหน้าที่พิทักษ์ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ของหนึ่งในองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ กลุ่มบริษัท ปตท. ผู้ที่จะมาแลกเปลี่ยนมุมมองความสำเร็จ ในอาชีพที่หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ แต่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน
ศุภฤกษ์ อิทธิพลานุคุปต์ ดำรงตำแหน่ง Senior IT Security Engineer ของบริษัท PTT Digital ในกลุ่มบริษัท ปตท. ศิษย์เก่าจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ รหัส 49 คนนี้ ได้บอกเล่าถึงภารกิจของทีมงานด้าน Cyber Security ให้ฟังว่า “ปัจจุบันนี้ ต้องบอกว่าภารกิจหลักของทีมงานด้าน Cyber Security ก็คือการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูล ทั้งในกลุ่มบริษัท ปตท. และปัจจุบันเราก็ให้บริการนอกกลุ่มบริษัท ปตท. ด้วย เพื่อสร้างความมั่นคง ปลอดภัย และสามารถป้องกันไม่ให้มีผู้ไม่หวังดี หรือไม่มีสิทธิ์เข้าถึง สามารถบุกรุกมาทำลาย ปรับเปลี่ยน แก้ไข หรือขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของเรา ไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ได้ เรามีหน้าที่พิทักษ์รักษาข้อมูล รักษาความลับขององค์กร ให้อยู่เฉพาะภายในองค์กรเท่านั้น นี่คือภารกิจหลักของเรา”
แรงบันดาลใจในการเริ่มต้น
คุณศุภฤกษ์ ได้เล่าให้ฟังว่า “หนึ่งในแรงบันดาลที่ทำให้ผมเลือกเรียนเทคโนโลยีสารสนเทศมาจากพี่ชายที่ทำงานด้านไอที ทำให้ผมมีโอกาสได้จับคอมพิวเตอร์เร็วกว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน ได้ลองใช้เครื่องปริ้น ปริ้นเอกสาร ปริ้นรูปภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สนุกมาก ๆ ในตอนนั้น ทำให้ชอบเกี่ยวกับไอทีตั้งแต่เด็ก ๆ เกิดความอยากเรียนรู้ด้านไอที โดยที่ผมไม่ได้เน้นไปที่การเล่นเกมส์ แต่อยากใช้มันให้เกิดประโยชน์มากกว่า ผมรู้สึกว่า ถ้าผมเรียนด้านไอทีจะไม่ต้องเหนื่อยมาก และไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ เพราะเน้นไปที่ความเข้าใจและการปฏิบัติ ที่สำคัญคือผมสนุกไปกับมัน อย่างเช่นตอนสมัยเรียน ผมไม่เคยโดดเรียนเลย แล้วผมก็ไม่ค่อยชอบจด ไม่ค่อยอ่านหนังสือด้วย แต่ผมชอบฟังอาจารย์สอน เหมือนได้ฟังนิทาน ผมรู้สึกสนุกกับการเรียนในห้องมาก ๆ”
ชีวิตในวัยทำงาน
ผมเริ่มทำงานตั้งแต่สมัยเรียน โดยรับทำเว็บไซต์ เป็นโปรแกรมเมอร์ จนกลายเป็น IT Manager แบบฟรีแลนซ์ ผมใช้เวลา 3 ปีครึ่งในการเรียนจบปริญญาตรี และได้เริ่มทำงานด้าน Operation ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต(SBS) โดยเริ่มต้นจากการเป็นโปรแกรมเมอร์ ก่อนจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งมาดูแลงานบริหารจัดการมากขึ้น ผมคิดว่าที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้ดี ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง เพราะว่าได้ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ทำให้รู้จักหาทางแก้ไขปัญหา และรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ รวมไปถึงการบำรุงรักษาระบบต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยหลังจากทำงานที่นี่เป็นเวลา 6 ปี ผมก็รู้สึกว่าได้ใช้ความรู้ที่มีทั้งหมดแล้ว ผมอยากลองทำงานในองค์กรขนาดใหญ่ให้พ่อแม่ได้ภาคภูมิใจ อยากได้รับความรู้จากคนที่เก่งและมีประสบการณ์ในการดูแลระบบขนาดใหญ่ และอยากจะพัฒนาความรู้ความสามารถให้มากกว่านี้ ผมจึงได้เข้ามาทำงานที่ PTT Digital
นี่เป็นการเริ่มต้นงาน Operation ใหม่อีกครั้ง ในสเกลงานที่ใหญ่ขึ้นและท้าทายมากขึ้น ในช่วงแรกที่ผมเข้ามาทำงานมีทีมงานด้าน Cyber Security อยู่เพียง 3 คน ก่อนที่ผมจะได้ปรับเปลี่ยนมาดูแลงานบริหารศูนย์เฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (CSOC) ซึ่งปัจจุบันได้ขยับขยายจนกลายเป็นทีม Cyber Security ขนาดใหญ่ที่มีถึง 60 คน โดยปัจจุบันดูแล 2 ส่วน คือ 1. Solution Architect ทีมที่คอยศึกษาหาวิธีตรวจจับ ป้องกัน และการโจมตีรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับแฮ็กเกอร์ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริษัท และสามารถตอบโจทย์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยนำมาให้บริการลูกค้าในรูปแบบของ Service และ 2. Cyber Security Operations Center (CSOC) ซึ่งมีหน้าที่เฝ้าระวัง ป้องกัน ตรวจจับ ตรวจสอบ และยับยั้งภัยคุกคามทางไซเบอร์ตลอดเวลา ทั้งข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ภายในเครือข่ายของบริษัทและบนระบบ Cloud ซึ่งความกดดันและความท้าทายของการทำงานนี้อย่างหนึ่ง คือ นโยบาย “Zero Accident” ขององค์กรเรา ที่ต้องการไม่ให้เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เราให้ความสำคัญกับ People, Process และ Technology โดยก่อนหน้านี้เราพึ่งได้รางวัลองค์กรดีเด่นเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้าน Cyber Security ส่วนตัวผมเองก็ได้เป็นพนักงานดีเด่น 2 ปีซ้อนเลยทีเดียว สำหรับตอนนี้ผมอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อน ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้ประเทศไทยของเราเข้มแข็ง โดยเริ่มแรกผมอยากให้องค์กรของเราปลอดภัยมั่นคง เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง ถ้าเราดูแลไม่ดี และเมื่อย้อนกลับไปตอนทำงานที่โรงเรียนสาธิต ผมก็อยากให้บุคลากรและนักเรียนในประเทศมีสื่อการเรียนการสอนที่ดี จึงได้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน
ความสำเร็จที่มาจาก “การวางแผน” ที่ดี
ความสำเร็จของผมเป็นเพราะการวางแผน ผมมักมีการวางแผนชีวิตหรือว่าการลงทุนไปด้วย ซึ่งผมเป็นคนที่วางแผนชีวิตเร็วตั้งแต่สมัยเรียน พอผมเริ่มทำงาน ผมก็คำนวณวางแผนเงินเดือน คิดว่าตอนนี้ได้เท่านี้ ปีหน้าจะได้เท่าไร ทำเป็นแผนแบบทวีคูณ แล้วสุดท้ายผมก็สามารถทำได้แบบนั้นจริง ๆ ซึ่งสำหรับตอนนี้ก็เกินคาดไปจากแผนที่วางไว้พอสมควร แต่ที่ผมสามารถทำตามแผนที่วางไว้ได้ เกิดจากการที่ผมได้ทำงานที่รัก ทำให้ผมตั้งใจและทุ่มเทกับการทำงานมาก เพราะมันไม่เหมือนการทำงาน มันคือการที่ได้สนุกไปกับระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วัน มีปัญหาใหม่ ๆ ให้ได้ปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา ส่วนนอกเหนือไปจากเวลางานผมก็จะศึกษาด้านไอทีและการลงทุน ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ผมคิดว่าจากความสามารถในการวางแผน ความถนัดด้านไอที และการคิดวิเคราะห์มีส่วนช่วยให้ผมสามารถลงทุนได้ดี
ความประทับใจใน ม.รังสิต
“จริง ๆ ประทับใจหลายเรื่องนะ หนึ่งเลยคือความอบอุ่น ผมรู้สึกว่าการเรียนที่ ม.รังสิต อบอุ่น ผมเป็นคนหาดใหญ่ ได้ทุนประสิทธิ์-คุณหญิงพัฒนา อุไรรัตน์ (ทุน 50%) ก็เลยมาเรียนที่นี่ มาอยู่หอใน ไม่รู้ว่าเพราะผมอยู่หอในด้วยรึเปล่า มันก็เลยรู้สึกว่าผมใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยและอาจารย์ค่อนข้างมาก อาจารย์เอาใจใส่และเป็นที่ปรึกษาที่ดี สองคือหลักสูตรที่ทันสมัย และการเรียนรู้ที่เน้นลงมือปฏิบัติจริง ด้วยเทคโนโลยีและภาษาคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ทันโลก ทันต่อความต้องการของตลาดงานไอที ซึ่งสามารถตอบโจทย์ให้สามารถทำงานได้เลยตั้งแต่สมัยเรียน และสุดท้ายคือ ม.รังสิต เปิดโอกาสให้เป็นผมได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ University of Vaasa ประเทศฟินแลนด์ รู้สึกประทับใจมากว่า ถ้าผมไม่ได้ขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วไม่ได้เรียนที่ ม.รังสิต ผมจะมีโอกาสแบบนี้ไหม การที่ได้ไปเรียนที่ต่างประเทศ ทำให้ผมมีความกล้าคิด กล้าทำ สิ่งใหม่ ๆ นอกกรอบ หลังจากกลับมาผมไม่มีความกลัว นี่คือความประทับใจใน ม.รังสิต”
ฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย
“สำหรับน้องปี 1 ที่กำลังจะเริ่มเรียน ก่อนอื่นเลย ขอให้เรียนในสิ่งที่ชอบ ซึ่งต้องตัดสินใจให้เร็วว่าตัวเองชอบอะไร ถ้าตัดสินได้ช้าช่วงเวลาอาจจะกระชั้นชิดเกินไป จนไม่มีเวลาในการวางแผนและเตรียมตัว เพราะฉะนั้นขอให้ศึกษาความชอบของตัวเอง ว่าชอบงานประมาณไหน แม้ว่ามันจะเป็นคำถามที่ตอบได้ยากก็ตาม โดยสมัยนี้แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีสื่อโฆษณาหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสื่อวิดีโอ ที่สามารถถ่ายทอดให้เห็นว่า คณะและสาขาวิชาต่าง ๆ เรียนเกี่ยวกับอะไร ทำงานลักษณะไหน ในสภาพแวดล้อมแบบไหน และสุดท้ายจบมาทำอะไร ซึ่งอธิบายได้ชัดเจนกว่าตัวอักษรบนแผ่นพับแบบสมัยก่อนเยอะ ช่วยให้เด็กตัดสินใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงให้ลองไปปรึกษากับผู้ให้คำแนะนำในแต่ละมหาวิทยาลัย หรือการไปงาน Open House ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี”
ฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังจะเริ่มต้นการใช้ชีวิตวัยทำงาน
“สำหรับน้องปี 4 ที่กำลังจะเรียนจบ คิดว่าทุกคนคงหวังอยากทำงานที่ได้เงินเดือนสูง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของมนุษย์อยู่แล้ว แต่อยากให้น้องไม่ลืมที่จะเริ่มต้นจากการทำงานที่ตัวเองชอบ และเป็นงานที่ช่วยให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้และลงมือทำ เพื่อที่จะปูพื้นฐานความรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากชีวิตการทำงานจริง อาจจะไม่ได้เงินเดือนที่สูงมากแต่ก็ไม่ควรต่ำจนเกินไป ขอให้เป็นเงินเดือนที่มีความสมเหตุสมผลกับความรู้ ความสามารถ และหน้าที่ความรับผิดชอบที่บริษัทคาดหวังจากเรา แล้วจึงค่อยยื่นสมัครไป โดยก่อนที่จะสมัครงานที่ไหนก็อยากให้เตรียมตัว ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทที่จะไปสมัครเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อช่วยในการตอบคำถามสำหรับการสัมภาษณ์งาน เราควรจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลของบริษัทกับตำแหน่งงานที่เราสมัครได้ ให้พยายามคิดนำเสนอไอเดียที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาบริษัท สินค้า บริการ ตลอดจนกระบวนการทำงานให้ดียิ่งขึ้น และสุดท้ายภาษาเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องด้วยเราเองเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี เพราะฉะนั้นหลาย ๆ ครั้ง เราก็ต้องศึกษาจากผู้นำของโลก ซึ่งทุกวันนี้ทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษ เราจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องของการใช้ภาษา เราไม่จำเป็นต้องกลัว ค่อย ๆ ใช้ ค่อย ๆ ฝึก แล้วก็จะเก่งขึ้นได้เอง”