องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO เป็นหน่วยงานพิเศษของสหประชาชาติ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและวิธีปฏิบัติที่ใช้ในกิจการการบินพลเรือนเพื่อให้สมาชิกทั้ง 193 ประเทศทั่วโลก นำมาตรฐานและวิธีปฏิบัติดังกล่าวไปออกเป็นกฎหมายกำกับดูแลการบินพลเรือนในประเทศ นอกจากนี้ ICAO ยังทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศสมาชิกว่าได้นำมาตรฐานและวิธีปฏิบัติที่ ICAO ให้ไว้มาบังคับใช้อย่างไร โดยจะประเมินเป็นระดับประสิทธิผลหรือที่เรียกว่า Effective Implementation (EI) โดยปัจจุบันค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ร้อยละ 69.2% ในการตรวจสอบ หากตรวจพบประเทศใดยังไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรฐาน ICAO จะให้เป็นข้อบกพร่อง (Finding) และหากข้อบกพร่องที่ตรวจพบนั้นมีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบินและไม่สามารถแก้ไขได้ในกรอบเวลาที่กำหนด ICAO จะประกาศต่อสาธารณะว่าประเทศนั้นมีข้อบกพร่องที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยการบินอย่างมีนัยสำคัญ (Significant Safety Concern หรือ SSC) และ “ติดธงแดง” ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมการบินในประเทศนั้น ๆ อย่างที่ประเทศไทยเคย “ติดธงแดง” ในปี 2558 และต้องใช้เวลากว่า 4 ปี เพื่อปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่อง และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศให้ดีขึ้น จนสามารถปลดธงแดงจาก ICAO ได้สำเร็จในปี 2562
การประเมินมาตรฐานความปลอดภัยในการกำกับดูแลการบินพลเรือนโดย ICAO มีวัตถุประสงค์ที่ช่วยให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงและรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินให้ปลอดภัยสูงสุด โดยการประเมินของ ICAO จะดำเนินการโดย “คณะผู้ตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล” หรือ “USOAP Auditors” โดย “USOAP” (ยูโซพ) ย่อมาจาก The Universal Safety Oversight Audit Programmeซึ่ง ICAO มีขั้นตอนการคัดเลือก “USOAP Auditor” อย่างเข้มข้น ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเพียง 2 คนเท่านั้นที่เคยได้รับการคัดเลือก และในปี 2566 ICAO ได้แต่งตั้ง “USOAP Auditor” คนไทยอีก 1 คน ปัจจุบันเธอเป็นสุภาพสตรี 1 ใน 9 คนของโลก ที่ได้ก้าวเข้าสู่บทบาทการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินในระดับสากล
มติมา อริยะชัยพาณิชย์ (เมย์) พนักงานฝ่ายมาตรฐานปฏิบัติการบิน (OPS) ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านการกำกับดูแลความปลอดภัย จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่คุณพ่อและคุณแม่ของเธอบอกว่า “โชคชะตาทำให้เธอได้พบกับงานด้านการบิน”– “ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนแนะนำและชวนให้ไปสอบทุนรัฐบาล (ก.พ.) เพื่อนเลือกขอทุนด้านวิศวกรรมยานยนต์ตามสาขาที่จบมา ส่วนเราไม่อยากเลือกสาขาที่ซ้ำกับเพื่อน เลยฉีกแนวไปเลือกเรียน สาขาวิศวกรรมอากาศยานและอวกาศ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนที่ตัดสินใจเลือกสาขาวิชานี้ เพราะพ่อบอกว่าดูแล้วน่าจะเฉพาะทางมาก คู่แข่งน่าจะน้อย”
เธอได้รับทุนดังกล่าวและใช้เวลาเรียนปริญญาโท 1 ปี จากนั้นกลับมาปฏิบัติราชการที่กรมการบินพลเรือนเพื่อใช้ทุนในตำแหน่งนักตรวจสอบความปลอดภัยด้านการบิน “ฝ่ายสอบสวนอากาศยานเกิดอุบัติเหตุ” การเริ่มต้นทำงานที่กรมการบินพลเรือนได้ระยะเวลาหนึ่งทำให้เธอรู้สึกว่าความรู้งานด้านการสอบสวนอากาศยานประสบอุบัติเหตุต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการบินอย่างมาก ซึ่งความรู้และประสบการณ์ของเธอไม่เพียงพอ เธอจึงขอย้ายตำแหน่งมาทำหน้าที่ “ผู้ตรวจสอบมาตรฐานความสมควรเดินอากาศ” เวลาผ่านไป 6 ปี แม้จะมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว แต่เธอยังรู้สึกว่ามีอะไรหลายอย่างที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติม จึงขอทุนจากกรมการบินพลเรือนไปเรียนหลักสูตร “นักบินพาณิชย์ตรี” หลังจากเรียนจบ ก็ทำหน้าที่เป็น “ผู้ตรวจสอบมาตรฐานการปฏิบัติการบิน”
“งานการด้านการบินคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด จึงเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้อยู่ในองค์กรกำกับดูแลด้านการบินจนถึงทุกวันนี้”
ความท้าทายของ “ผู้ตรวจสอบด้านการบิน” (Aviation Safety Inspector)
ผู้ตรวจสอบด้านการบิน หรือ Aviation Safety Inspector มีหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม และส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจการการบินพลเรือนปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานสากลที่ ICAO กำหนด คุณมติมาบอกว่าอาชีพนี้ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอและต้องทำงานภายใต้แรงกดดันได้ –
การเป็น “ผู้ตรวจสอบด้านการบิน” อาจจะเจอบรรยากาศการทำงานที่ตึงเครียด มีการแลกเปลี่ยน โต้แย้ง เพราะฉะนั้นผู้ตรวจสอบด้านการบินจึงต้องสร้างบรรยากาศความร่วมมือให้ได้ ทำให้ผู้ถูกตรวจสอบเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการปฏิบัติตามมาตรฐาน และการตรวจสอบจะยึดหลักที่ว่า “Safety cannot be compromised” หมายถึง เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่อะลุ่มอล่วยไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันเราต้องไม่ตีความกฎระเบียบหรือมาตรฐานที่เคร่งครัดจนเกินไป จนทำให้ผู้ประกอบการหาทางออกไม่ได้ การตีความที่เหมาะสมจึงต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
เส้นทางสู่การทำงานในองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
คุณมติมาเล่าถึง 2 บทบาทที่เธอได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)– เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นวันที่เริ่มเข้าไปช่วยงาน ICAO สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ตั้งอยู่ใกล้สวนรถไฟ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครฯ การทำงานนี้เป็นความร่วมมือของประเทศไทยที่สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญให้กับ ICAO โดยเข้าไปทำงานในฐานะ Flight Safety Expert และได้นำเอาความรู้ ประสบการณ์ของประเทศไทยไปช่วยให้คำแนะนำประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อสนับสนุนด้านเทคนิคในการสร้างระบบการกำกับดูแลด้านการบินในด้านต่างๆ แนะนำการแก้ไขข้อบกพร่องหรือการเตรียมตัวรับการตรวจสอบจาก ICAO เช่น ประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกเช่น ฟิจิ คีริบาส เป็นต้น ซึ่งประสบการณ์ที่ประเทศไทยเคยผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินมาหลายครั้ง พบเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน เช่น เรื่องการขาดแคลนบุคลากร การขาดองค์ความรู้ การใช้ระยะเวลาปรับปรุงกฎระเบียบ เป็นต้น ทำให้เกิดความเข้าใจปัญหาของประเทศต่าง ๆ สามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์และช่วยแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ไม่ใช่มาไล่ทฤษฎีให้ฟัง หรือคอยแต่จ้องจับผิด และเมื่อเรารับรู้ว่าคำแนะนำของเราเป็นประโยชน์ หรือช่วยปลดล็อกปัญหาของเขาได้ ความรู้สึกดี ๆ ที่ได้กลับมามันเกินบรรยายจริง ๆ
ส่วนบทบาทที่ 2 เพิ่งได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ในตำแหน่ง “ผู้ตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล” หรือ USOAP Auditor กว่าจะได้ทำหน้าที่นี้ใช้เวลานานเกือบ 5 ปี เพราะเจอปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้องรอคิวตามลำดับความขาดแคลนของแต่ละสาขาของ USOAP Auditor ด้วย งานที่ทำมีหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานการบินพลเรือนของประเทศสมาชิกว่าเขามีระบบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลแค่ไหน เป็นไปตามมาตรฐานที่ ICAO กำหนดหรือไม่ ประเทศที่เดินทางไปตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (USOAP) จะเป็นประเทศทั่วโลกที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีทั้งในเอเชียกลาง ยุโรปและแอตแลนติกเหนือ อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกาตะวันออก และแอฟริกาตะวันตก
“Auditor มีรากศัพท์มาจากคำว่า Audit หมายถึงการฟังเราไม่ได้มีหน้าที่ไปโต้แย้งกับคนอื่น แต่เราต้องฟังเยอะ ๆ และฟังด้วยใจที่เป็นกลาง” ความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ ICAO’s USOAP Auditor
การทำงานเป็นผู้ตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (USOAP Auditor) ถ้าเราสามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ และสามารถอธิบายข้อทักท้วงหรือข้อสงสัยได้กระจ่าง มีใจที่เป็นกลางและเที่ยงธรรม สิ่งที่ได้กลับมาเมื่อทำงานเสร็จคือความประทับใจที่ผู้ถูกตรวจสอบจะเดินเข้ามาจับมือ ขอบคุณเราด้วยรอยยิ้มอย่างจริงใจที่การตรวจสอบของเรา คำแนะนำของเรา หรือแม้แต่ข้อบกพร่องที่เรารายงาน เป็นประโยชน์ต่อเขา เราจะกลับบ้านมาด้วยความรู้สึกดี ๆ เสมอและอยากทำให้ดีขึ้นต่อไปอีก นอกจากนี้ประสบการณ์ที่ได้เห็นอุตสาหกรรมการบินในประเทศอื่น ๆ เป็นข้อมูลที่นำมาแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารและพนักงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เพื่อพัฒนาการกำกับดูแลมาตรฐานการบินพลเรือนของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
หลักการทำงานของ USOAP Auditor หญิง 1 ใน 9 คนของ ICAO
การเดินทางไปตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก คุณมติมาบอกว่าได้นำเอา “ค่านิยมขององค์กร” ที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) กำหนดไว้ 3 ด้าน ได้แก่ Integrity (ความซื่อสัตย์), Accountability (ความรับผิดชอบ) และ Collaboration (ความร่วมมือ) มาใช้เป็นหลักในการทำงานอยู่เสมอ–ประสบการณ์ที่เคยงานด้านสอบสวนอากาศยานประสบอุบัติเหตุ มีคนเจ็บ คนเสียชีวิตเกิดขึ้นจริง มันสอนให้เราตระหนักว่าอะไรก็ตามที่มันอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เราจะมองข้ามไม่ได้เพราะ “อุบัติเหตุ” อาจจะเกิดจากสิ่งขึ้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่คนอาจจะพบเห็นได้ก่อนแต่ละเลยไป ไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน ตัวบุคคล การฝึกอบรม สภาพแวดล้อมในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กร หรือการไม่ทำตามมาตรฐาน เพราะฉะนั้นถ้าผู้ตรวจสอบเห็นได้ก่อนและสามารถให้คำแนะนำ ให้แก้ไขอาจจะป้องกันความสูญเสียได้ ซึ่งอาชีพของเรามีผลต่อชีวิตผู้คนมาก ๆ ซึ่งเราต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพต่อความรับผิดชอบหน้าที่ที่เราทำอยู่ ไม่ว่าจะมีคนมองเห็นหรือไม่ก็ตาม หลักการนี้จึงสอดคล้องกับคำว่า Integrity หรือ ความซื่อสัตย์
ส่วนหลักการทำงานต่อมาคือเรื่อง Accountability หรือ ความรับผิดชอบ ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ยิ่งเราทำงานที่ต้องรับผิดชอบกับความปลอดภัยของคนอื่น ยิ่งต้องยึดถือไว้เป็นสิ่งสูงสุด การไปตรวจสอบแต่ละครั้งต้องเตรียมตัวให้ดี เป็นสิ่งที่เราละเลยไม่ได้
และสุดท้ายคือการทำงานแบบมีส่วนร่วม หรือ Collaboration เราจะให้คุณค่ากับคนในทุกภาคส่วนของการบิน ถึงแม้เราจะมีความรู้ในสาขาของเรา แต่ยังมีอีกหลากหลายสาขา หลากหลายภาคส่วนที่เราไม่รู้ ไม่มีความเชี่ยวชาญ ถ้าเราไม่ร่วมมือกันก็ไม่สามารถบรรลุผลได้เลย เรื่องความปลอดภัยของอากาศยานต้องต่อจิ๊กซอว์ร่วมกัน นอกจากนี้ฝ่ายที่อื่น ๆ แม้จะไม่ได้กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยโดยตรง แต่ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ตัวอย่างเช่น การกำกับดูแลทางเศรษฐกิจและการพัฒนาส่งเสริมกิจการการบิน CAAT เราต้องร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่น เพราะถ้าสายการบินที่มาขอใบอนุญาตไม่แข็งแรงในด้านเศรษฐกิจ หรือไม่ได้รับการส่งเสริมให้เติบโตแข่งขันได้ แน่นอนว่าปัจจัยนี้จะส่งผลกระทบถึงขีดความสามารถในการรักษามาตรฐานความปลอดภัยไปด้วย เป็นต้น
และนี่คือเรื่องราวของผู้ที่อยู่เบื้องหลังความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทยและได้ก้าวสู่การทำงานในระดับสากล เพื่อยกระดับมาตรฐานการบินของประเทศสมาชิกของ ICAO ทั้ง 193 ประเทศทั่วโลกให้มีความปลอดภัยต่อไป