บันทึกการเดินทางของ “สุริยา สุริยาทิพย์” ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต

Read Time:11 Minute, 57 Second

สถาปนิกแบบไฮบริด คำนิยามที่อาจใกล้เคียงที่สุด ของสถาปนิกผู้ทำหน้าที่ผนวกการออกแบบ การก่อสร้าง และการดำเนินธุรกิจ มารวมไว้ในคนเดียว นี่คือเรื่องราวการผจญภัยในต่างแดนของ “สุริยา สุริยาทิพย์” ศิษย์เก่ารุ่นที่ 6 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สถาปนิกนักเดินทางผู้เริ่มต้นจากศูนย์ ผู้ไม่เคยย่อท้อ และพร้อมฟันฝ่าทุกบททดสอบในทุกด่านของชีวิต

จุดเริ่มต้นที่ จ. ชลบุรี ประเทศไทย

คุณสุริยา สุริยาทิพย์ หรือ ใหญ่ มีภูมิลำเนาอยู่ตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี เป็นลูกชายชาวประมงและช่างเย็บผ้า ที่มีฐานะทางบ้านไม่ค่อยดีนัก ในช่วงวัยเด็กใช้ชีวิตค่อนข้างแอดเวนเจอร์ ชื่นชอบการเล่นกีฬาหลายประเภทโดยเฉพาะฟุตบอล งานอดิเรก คือ การวาดรูป ในช่วงวัยประถมได้ศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักมหาราช ก่อนจะสอบเข้าโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดได้ที่โรงเรียนชลราษฎรอำรุง แม้ว่าในตอนแรกไม่ได้ตั้งใจเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยม เพราะค่านิยมของเด็กในรุ่นเดียวกัน คือ การลาออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานหารายได้

ในระดับชั้น ม.ต้น ใหญ่ได้ศึกษาในแผนการเรียนสายอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นเรื่องไฟฟ้าและเครื่องยนต์กลไก ด้วยการจับพลัดจับผลูมาเข้าเรียนสายนี้จากการจับสลาก ทำให้เรียนไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ แต่ก็ได้ค้นพบวิชาที่ชอบวิชาหนึ่งซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตในอนาคต นั่นก็คือ วิชาเขียนแบบอาคาร นี่เป็นวิชาที่ทำให้เขามีความสุขและสร้างวินัยเรื่องความรับผิดชอบให้มากขึ้น จากใจรักในวิชาที่เรียนส่งผลให้มีผลการเรียนที่ดี จนได้รับการชักชวนจากคุณครูให้เรียนต่อระดับชั้น ม.ปลาย แผนการเรียนวิทย์-คณิต ในห้องคิง จากความคิดเดิมที่ต้องการเรียนต่อในสายอาชีวศึกษา เขาหันมาตั้งใจเรียนอย่างหนักไปพร้อมกับการเป็นนักฟุตบอลโรงเรียน ซึ่งตระเวนแข่งไปหลายสนามจนได้รางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด การเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยสำหรับเขา ค่อนข้างเป็นเรื่องไกลตัวและเพ้อฝัน เพราะฐานะทางบ้านที่ไม่เอื้ออำนวยที่จะส่งเสีย แต่ด้วยคำชี้แนะของคุณครูทำให้เขาตัดสินใจสอบเพื่อเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นมีเพียง 5 สถาบันที่เปิดสอนภายในประเทศไทย “ผมติดแล้ว ผมสอบติดแล้ว!” มหาวิทยาลัยรังสิตที่เขาเลือกเป็นอันดับ 3 คือ สถานที่แห่งใหม่ที่กำลังรอเขาอยู่ แม้ว่าในวินาทีนั้นเขาจะยังไม่รู้เลยว่าตัวเองได้สอบติดมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งมีค่าเทอมแพงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต

ย้ายจากชลบุรีมาใช้ชีวิตอยู่ที่ปทุมธานี ด้วยความมุ่งมั่นและต้นทุนชีวิตที่ไม่ได้มีเหมือนคนอื่น สิ่งเดียวที่จะสู้ได้คือการพยายามให้มากกว่าคนอื่นเป็นสองเท่า ใหญ่เรียนจบเทอมแรก ด้วยคะแนนอันดับ 1 ของรุ่น จากทุนการศึกษาหนึ่งก้อนที่ได้มาอย่างโชคช่วย เมื่อคุณพ่อได้ค่านายหน้าจากการฝากขายที่ดินแถวบ้าน ซึ่งเพียงพอให้เข้าเรียนได้หนึ่งเทอม โดยหวังจะเตรียมพร้อมสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลในปีถัดไป ขณะที่เขากำลังเดินไปร่ำลาอาจารย์ผู้สอนสอน คุณใหญ่ได้เห็นใบประกาศสอบชิงทุนพระราชทานที่หน้าห้องธุรการ ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครอยู่ในขณะนั้น เขารีบลงสมัครสอบเพื่อคว้าโอกาสในการเล่าเรียน ในขั้นตอนการสอบ มีการสัมภาษณ์เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในอนาคต คำถามคือ หลังจากสำเร็จการศึกษาคิดว่าจะทำอะไรให้กับประเทศ และโลกใบนี้ได้บ้าง ?

“เมื่อเรียนจบแล้ว ผมอยากทำประโยชน์ให้กับประเทศ โดยผมอยากออกแบบอาคารที่สามารถกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงทำทุกอย่างเพื่อแผ่นดินไทย อยากจะเรียนจบไปช่วยพระองค์พัฒนาประเทศ พัฒนาพื้นที่ ด้วยศักยภาพที่ตัวเองมี อยากออกแบบอาคารให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่พระองค์ได้ทรงสร้าง” นี่คือคำตอบของ 1 ใน 5 นักศึกษาทุนพระราชทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ของนายสุริยา สุริยาทิพย์ ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นอันดับที่ 1 ของรุ่น

ความประทับใจในมหาวิทยาลัยรังสิต

“นักศึกษาในคณะสถาปัตย์จะออกแนวลุยๆ แบบถึงไหนถึงกัน ความประทับใจแรก คือ การที่ไม่มีใครสนใจว่าแต่ละคนมาจากไหน มีที่มายังไง ทุกคนที่เรียนที่นี่ คือ เพื่อนกัน มาเรียนและมาสนุกร่วมกัน ผ่านประสบการณ์ต่างๆ จนถูกหล่อหลอมให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ส่วนคณาจารย์ที่นี่ก็มีความรู้ที่ทันสมัยและมองการณ์ไกล อาจารย์จบจากสถาบันชั้นนำระดับโลกและสอนพวกเราด้วยหลักสูตรที่เป็นสากล ครอบคลุมเนื้อหาปริญญาตรีไปจนถึงปริญญาโทเบื้องต้น ซึ่งช่วยเป็นแต้มต่อให้เรามีความรู้มากกว่าคนอื่น ทั้งหมด คือ เหตุผลที่ทำให้ผมรักมหาวิทยาลัยรังสิตแห่งนี้ รักเพื่อนที่นี่ และอยากจะขอบคุณคณาจารย์ทุกท่านเสมอมา”

การผจญภัยในเมืองแห่งหมอก – กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ด้วยใจที่มุ่งหวังว่าการเรียนจบสถาปัตย์ในยุคที่มีการเปิดสอนเพียงไม่กี่สถาบัน จะทำให้สามารถหางานทำได้ง่าย แต่โชคก็ไม่เข้าข้าง เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งส่งผลให้มีการเลิกจ้างสถาปนิกเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่สามารถหางานทำได้เลยในช่วง 3 เดือนหลังเรียนจบ ใหญ่กลับได้รับคำชักชวนให้ไปต่างประเทศจากเพื่อนร่วมรุ่น ซึ่งมีคุณน้าเปิดร้านอาหารไทยอยู่ที่ประเทศอังกฤษ คำชักชวนที่เหมือนเรื่องล้อเล่นนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้ใหญ่ออกเดินทางสู่เมืองแห่งหมอก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยเงินทุนหนึ่งแสนบาทจากคุณลุง ซึ่งเพียงพอสำหรับการซื้อตั๋วเครื่องบินขาเดียว และค่าลงทะเบียนเรียนภาษาเพื่อยื่นขอวีซ่าเท่านั้น

“7 โมงเช้าของวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.1998 ผมเดินทางมาถึงลอนดอน นี่คือโลกใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ได้ชมหอบิ๊กเบน (Big Ben) สะพานลอนดอน (London Tower Bridge) เดินทางรอบแม่น้ำเทมส์ (Thames River) ก่อนจะเข้าที่พักแถบอีสลิงตัน (Islington) ชีวิตประจำวันในช่วงแรกที่มาถึงลอนดอน คือ การตื่น 7 โมงเช้า ไปเรียนภาษาที่ออกซฟอร์ดสตรีท 3 ชั่วโมง ตกบ่ายมาช่วยขายอาหารไทยในตลาดย่านแองเจล (Angel) และเสิร์ฟอาหารไทยที่ผับไอริชในช่วงเย็น สู้ชีวิตทำงานแบบนี้อยู่ 3 เดือนแลกกับการกินฟรี อยู่ฟรีที่บ้านน้า สุดท้ายเงินที่มีก็เริ่มร่อยหรอ ผมจึงตัดสินใจออกจากบ้านของคุณอา เพื่อมาเริ่มงานใหม่เป็นผู้ช่วยเชฟที่ร้านอาหารไทยใต้โรงละครแห่งหนึ่ง หลังจากทำงานจนเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายค่าเรียนภาษาเทอมต่อไป ร้านอาหารก็ปิดตัวลงชั่วคราวเนื่องจากโรงละครปิดปรับปรุง จุดเปลี่ยนในครั้งนี้ทำให้ผมต้องย้ายไปทำงานที่ร้านอาหารไทย แถว Crystal Palace เจ้าของร้านผู้ใจดีอนุญาตให้ผมอาศัยอยู่ชั้นบนของร้านด้วยค่าเช่าเพียงวันละ 15 ปอนด์ คืนแรกที่ไปถึงในห้องที่มีเพียงเตียงผ้าใบกับหน้าต่างบานใหญ่ ซึ่งกำลังสะท้อนวิวกรุงลอนดอนยามค่ำคืน วินาทีที่ผมมองออกไปก็ได้ย้ำกับตัวเองในใจว่า “เราต้องสู้” ความตั้งมั่นในตอนนั้นทำให้ตลอดระยะเวลา 4 ปี ผมไม่เคยหยุดทำงานเลย จากตำแหน่งเด็กล้างจานในครัวจนเลื่อนขั้นมาเป็นคนออกอาหารที่ลิฟต์ และพนักงานเสิร์ฟที่สามารถดูแลเรื่องทุกอย่างของร้านได้ ทั้งยังรับสอนภาษาไทยในวันหยุด รวมถึงรับจ้างออกแบบ รับเหมาทาสีและงานซ่อมแซมทุกชนิด ทำงานทุกอย่างที่ได้เงินจนเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ส่วนเรื่องของการเรียนภาษาก็เรียนจนจบระดับ Advance เป็นที่เรียบร้อย ตอนนี้ถึงเวลาเดินตามความฝันที่เป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ผมอดทนต่อสู้มาตลอด นั่นก็คือ อยากเรียนจบปริญญาโทจากประเทศแห่งนี้”

“ด้วยคำแนะนำจากเจ้าของร้านอาหารไทย ทำให้ได้ไปฝึกงานในบริษัทของสถาปนิกชาวอินเดียคนหนึ่ง เขาเป็นผู้จุดประกายให้ผมเริ่มสนใจเกี่ยวกับการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Architecture) และการลดใช้พลังงาน (Energy Efficient Building) ซึ่งเป็นเทรนด์การออกแบบแห่งอนาคต ทำให้ผมได้เลือกเข้าเรียนที่ Oxford Brookes University ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยน้องใหม่ที่สอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยได้ย้ายออกจากร้านไปอยู่หอพักของมหาวิทยาลัย ผมไปเรียนในตอนกลางวันและทำงานที่ร้านอาหารในตอนกลางคืนใช้เวลา 1 ปีก็เรียนจบปริญญาโท โดยผมทำปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับ Sick Building Syndrome ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ของตึกป่วยกับการใช้พลังงานในอาคาร รวมถึงผลกระทบต่อผู้คนตลอดจนถึงสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจาก “อาคารที่ป่วย” เพราะอาคาร คือ เปลือกที่เปรียบเสมือนเสื้อผ้า ทำหน้าที่สร้างสภาวะที่อยู่สบายให้ผู้อยู่อาศัย โดยจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละชนชาติ สถานที่ และวัฒนธรรม ซึ่งผมเป็นคนไทยเพียงคนเดียวของรุ่นที่เรียนคอร์สนี้และเป็น 1 ใน 5 ที่จบก่อนในปีแรก”

Chapter ใหม่ เริ่มที่ “กัวลาลัมเปอร์” ประเทศมาเลเซีย

“การเรียนจบจากหลักสูตรที่เป็นเทรนด์ของอนาคตทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก ซึ่งโปรเฟสเซอร์ได้เน้นย้ำถึงความต้องการที่จะกระจายองค์ความรู้ให้กว้างไกลไปเกินประเทศอังกฤษ จึงได้แนะนำงานในบริษัทแห่งหนึ่งที่กัวลาลัมเปอร์ให้ แต่ผมได้พบกับประสบการณ์การทำงานครั้งแรกที่เลวร้ายมากในชีวิต เพราะที่นี่เป็นบริษัทที่ไม่ค่อยดีนัก มีพนักงานลาออกอยู่ตลอด ซึ่งเวลา 6 เดือนในบริษัทนี้ ผมต้องเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์ไปสิงคโปร์ เพื่อนั่งรถทัวร์ไปต่อวีซ่าทุกเดือน จนถึงวันสุดท้ายที่วีซ่าจะขาด ผมจึงตัดสินใจนั่งรถทัวร์กลับเข้ามาทางหาดใหญ่ เพื่อมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่กรุงเทพฯ”

ไทย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ปากีสถาน และนครดูไบ

“งานแรกของการใช้ชีวิตสถาปนิกเต็มตัวในประเทศไทย คือ การทำงานในบริษัทของชาวออสเตรเลียที่มีสำนักงานอยู่แถวสีลม ชื่อ Design Worldwide Partnership (dwp) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ทำอยู่เป็นเวลา 1 ปี จึงอาสาย้ายไปอยู่ที่ dwp สาขาสิงคโปร์ ซึ่งกำลังมีโปรเจกต์ใหญ่ในการาจี ต้องเดินทางไปเจรจาธุรกิจกับลูกค้าในค่ายทหารที่การาจี ในช่วงที่กำลังมีสงครามกลางเมือง จากความตึงเครียดของสถานการณ์ทำให้ผมไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ในบางครั้ง ต้องอยู่ทำงานที่นี่จนกระทั่งโปรเจกต์เข้าสู่ช่วงดำเนินการก่อสร้าง ด้วยความเหนื่อยล้าที่สะสมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผมจึงได้ถือโอกาสหลังกลับมาออกบวชเป็นเวลา 1 เดือน โดยทันทีที่ลาสิกขา ผมก็ถูกส่งตัวไปทำงานที่ดูไบต่อทันที ช่วงเวลาที่ทำงานในดูไบเป็นช่วงชีวิตที่ดีมาก ผมมีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยว เรียนรู้วิถีชีวิต และใช้ชีวิตในแบบที่ผมต้องการ แม้ว่าช่วง 3 เดือนแรกที่มาถึงจะมีความขรุขระเล็กน้อย เพราะต้องโหมงานต่อเนื่องตลอด 7 วัน เนื่องจากพนักงานที่มีไม่เพียงพอ แต่ความสุขที่มีนั้นก็อยู่ได้เพียงไม่นาน เมื่อเกิด “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” (Hamburger Crisis ค.ศ. 2007 – ค.ศ. 2010) ดูไบเข้าสู่สภาวะย่ำแย่ ทุกอย่างหยุดชะงัก ผู้คนเป็นหนี้และไม่มีงานทำ นี่จึงถึงเวลาที่ผมต้องลาออกจาก dwp และย้ายกลับมาที่ประเทศไทย”

จากสถาปนิกสู่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

“หลังจากกลับมาประเทศไทยก็ได้เริ่มทำงานที่ MQDC ซึ่งกำลังหาคนที่มีประสบการณ์ไปดูแลตลาดเมืองจีน หน้าที่ของผม คือ คอยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของการออกแบบ และการหาทีมซัพพอร์ตให้กับลูกค้า ทำอยู่ประมาณ 2 ปี รู้สึกว่าเราไม่ค่อยได้ออกแบบก่อสร้างอะไรจริงจังมาก พอดีเจอรุ่นพี่สถาปัตย์ ม.รังสิต เขาทำงานอยู่เซ็นทรัลพัฒนา กำลังหาคนดูแลงานช้อปปิ้งมอลล์ที่จะขยายไปต่างประเทศ ผมได้รับตำแหน่งเป็นผู้จัดการอาวุโส ดูแลโครงการต่างประเทศทั้งหมดในเครือเซ็นทรัล ทั้งเวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน และอินเดีย จากความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากประสบการณ์ที่มี ได้ช่วยเรื่องการทำงานของผมเป็นอย่างมาก ผมคิดว่าเซ็นทรัลเป็นเหมือนโรงเรียนแห่งหนึ่ง เป็นโรงเรียนที่สอนเรื่องรีเทลได้ดีมาก   ทำให้ผมมีองค์ความรู้และยังได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ หลังทำงานไปได้ประมาณ 2 ปี ก็ได้รับหน้าที่ดูแลโปรเจกต์เซ็นทรัลนครราชสีมา ซึ่งผมดูแลตั้งแต่เป็นที่ดินเปล่าๆ เป็นการพัฒนาบทบาทจากสถาปนิกสู่บทบาทนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว ผมเป็นแกนหลักที่คอยดูแลทีมย่อยอีกหลายๆ ทีม เสมือนว่าผมเป็น “คอนดักเตอร์” ในวงออร์เคสตรา ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทำงานให้เซ็นทรัลพัฒนา ผมสามารถทำโปรเจกต์เซ็นทรัลนครราชสีมาและเซ็นทรัลศรีราชาตั้งแต่ต้นจนจบได้สำเร็จ และได้ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารคอยดูแลภาคใต้และภาคตะวันออก จนกระทั่งความท้าทายและความแปลกใหม่ในการทำงานมาถึงจุดที่อิ่มตัว”

การผจญภัยที่ยังไม่มีบทสรุป

“ปัจจุบันผมดำรงตำแหน่ง General Manager (GM) ของบริษัท BDMS Silver ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับผิดชอบโครงการ World Class Wellness Destination โครงการ Mixed Use สำหรับ Holistic Wellness แห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเปิดทำการในปี ค.ศ. 2029ผมมีหน้าที่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับโครงการ เพื่อให้ได้รับการรับรอง Certificates ด้านพลังงาน และ Well Being ในทุกๆ ด้าน ซึ่งโปรเจกต์นี้มีความท้าทายอย่างมาก ในเรื่องของเวลาดำเนินการที่สั้นเพียงแค่ 6 ปี กับพื้นที่ขนาด 200,000 ตารางเมตร โดยผมมีความตั้งใจที่จะทุ่มเทให้กับงานนี้เป็นอย่างมาก เพราะโอกาสที่ได้รับจากการทำงานในครั้งนี้ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆ ในประเทศไทย และไม่ใช่เพียงเรื่องของเงินทองหรือตำแหน่ง แต่เป็นเรื่องที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ที่เป็นที่สุดของประเทศ ได้ทำเพื่อประเทศไทย เหมือนกับที่เคยพูดไว้ในตอนที่ได้รับทุนพระราชทานของสมเด็จพระพี่นางฯทุกสิ่งที่ผมทำในวันนี้ ไม่ใช่การประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว แต่คือความพยายามและความตั้งใจในทุกๆ ช่วงเวลาที่ผ่านมา ความทุ่มเทแบบมืออาชีพ และความพร้อมที่จะต่อสู้กับโชคชะตาที่เข้ามาหาผม เป็นความกล้าที่จะท้าทายกับโชคชะตาใหม่ๆ อย่างไม่ย่อท้อ รวมถึงความต้องการที่จะทำตัวเองให้คู่ควรกับสิ่งต่างๆ ที่ได้รับมา”

“ความฝันเป็นสิ่งที่ดี จงมีความฝันแล้วหาวิธีไปให้ถึง”

ฝากถึงน้อง ๆ คนรุ่นใหม่

“การศึกษาไม่มีที่ไหนที่ดีที่สุด น้องต้องหาจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองให้เจอ เพราะสิ่งที่จะพาน้องเดินไปข้างหน้าก็คือการพัฒนาจุดแข็งของตัวเองให้เป็นที่ยอมรับ และนอกจากความรู้ความสามารถ สิ่งที่จะปกป้องน้องได้ดีที่สุดเมื่อออกไปสู่สังคมก็คือการ “Respect” การให้เกียรติและให้ความเคารพกับทุกคนที่เจอ โดยไม่แบ่งชนชั้น เชื้อชาติ ฐานะ หรืออาชีพ พยายามเข้าสังคม รู้จักคนให้เยอะๆ ศึกษาวิธีคิดของเขา มองข้อดีของเขาที่นอกเหนือไปจากรูปลักษณ์ภายนอก นับถือในเรื่องราวของเขา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และให้ความช่วยเหลือในตอนที่ทำได้ สังคมโลก คือ การพึ่งพาอาศัยกัน เราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเองเพียงคนเดียว ทำตัวเองให้ดี แคร์คนรอบข้าง ไม่ยึดเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง และทำวันนี้ให้ดีที่สุด สิ่งเหล่านี้จะช่วยพาน้องไปสู่โลกกว้างที่น้องไม่เคยได้รู้จัก”

Previous post สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ เปิดให้บริการเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ(ดอนเมือง)  สู่ ประเทศจีนอีกครั้ง เริ่มบิน 15 สิงหาคม นี้
Next post KUMA ตอบแทนลูกค้าคนพิเศษ
Social profiles