Jinpao Automation Contest 2019” เวทีศักยภาพเยาวชนประกวดควบคุมระบบอัตมัติแทนมนุษย์สั่งงานผ่าน IoT มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีคว้าแชมป์

Read Time:2 Minute, 39 Second

ทีมนักเรียนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวด Jinpao Automation Contest 2019”ร่วมมือโดยบริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด เพื่อเฟ้นหากลุ่มเยาวชนนักควบคุมระบบเครื่องจักรอัตโนมัติสั่งงานผ่านระบบเครือข่ายและระบบ internet of thing (IoT) ทดแทนแรงงานคนสอดคล้องกระบวนการผลิตขั้นสูงของไทยในยุค 4.0 โดยมีนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมเป็นประธานการประกวด

นายธาดา สุนทรพันธุ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในยุค อุตสากรรม 4.0 เทคโนโลยี IoT ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก อุตสาหกรรมจำเป็นต้องพึ่งการวิเคราะห์การผลิตที่แม่นยำ และรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์ในด้านต่าง ๆ ทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้พัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งอาศัยการเชื่อมต่อที่ไร้พรมแดนอย่างอินเตอร์เน็ตและระบบเครือข่าย โดยแนวโน้มในขณะนี้ ผู้คนกำลังหันมาใช้คำศัพท์ อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) ที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ ไอโอที (Internet of Things : IoT) หรือแม้แต่อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์สำหรับอุตสาหกรรม หรือ ไอไอโอที (Industrial Internet of Things : IIoT) มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างระบบอัจฉริยะที่รวมส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงกระบวนการผลิตที่มีการผสานรวมระบบอัตโนมัติที่ทันสมัย ซึ่งการประกวดครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเยาวชนไทย ที่ได้ก้าวล้ำมากกว่าเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี แต่เป็นผู้คิดค้นและควบคุมนวัตกรรมซึ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรมขั้นสูงทั้งในประเทศและทั่วโลก

ด้านนาย จง กั๋ว โซง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด กล่าวว่า การประกวด Jinpao Automation Contest 2019ครั้งนี้ มีทีมที่เข้าประกวดทั้งสิ้น 8 ทีมจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ทั้งระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษาจนถึงระดับปริญญาโท โดยในการแข่งขันรอบตัดสินซึ่งจัดขึ้น ณ ค่ายริมขอบฟ้า เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ ทั้ง 8 ทีมได้นำเสนอผลงานของตนเอง พร้อมทั้งสาธิตและตอบคำถามจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จนได้มาซึ่งผู้ชนะเลิศการประกวดควบคุมระบบอัตโนมัติ JinpaoAutomation Contest 2019” ในที่สุด และถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการนี้เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้มีการนำระบบ Automation เข้ามาช่วยในการคิดค้นเทคนิค วิธีการแก้ไขปัญหา เพิ่มโอกาสในการพัฒนาระบบ Automation ในประเทศไทย ให้ก้าวไปสู่การวิจัยและพัฒนาในอนาคตด้วยตนเอง นำไปสู่การพัฒนาสังคม และประเทศชาติต่อไป

ทั้งนี้ ทีมที่ชนะเลิศการประกวดซึ่งได้รับทุนการศึกษา 300,000 บาท พร้อมโล่เกียรติคุณ เป็นทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ส่งผลงานประกวดในชื่อโครงการ Smart Factory: Tranfarmer โดยผู้แทนจากทีมเผยว่า ผลงานที่ส่งเข้าประกวด เป็นระบบการจัดการเกษตรกรรมในรูปแบบของ Solutions ที่สามารถเข้าถึงโดยบุคคลทั่วไป เพื่อลดปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น อาทิ สภาพแวดล้อมที่ไม่อำนวย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตรโดยการผนวก Automation, Cyber Networking และ IoT เข้าไปในระบบ โดยทางทีมรู้สึกดีใจมาก และรขอบคุณจินป่าวที่ทำให้มีเวทีที่พวกตนได้มีโอกาสโชว์ศักยภาพอย่างเต็มที่

Previous post สสว. จัดงานฉลองครบรอบ 10 ปี SME National Awards หวังต่อยอด สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ สู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ
Next post บราเดอร์ ตั้ง ‘ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ’ นั่งเอ็มดีเมืองไทย เดินหน้าแผน ‘Towards the next level’
Social profiles