แถลงวิเคราะห์ผลการสำรวจรังสิตโพลล์ ครั้งที่ 1 – 6

Read Time:7 Minute, 32 Second

ผลของรังสิตโพลล์  ตั้งแต่ครั้งที่ 1 (1 พฤษภาคม 2561) จนถึงครั้งที่ 6 (5 มีนาคม 2562) จำนวน 6 ครั้ง ในช่วงเวลากว่า 10 เดือน โดยการทำโพลล์ตามหลักวิชาการคือ เป็นไปตามโครงสร้างประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยมีการจำแนกตามรายภาค จังหวัด เพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ฯลฯ นอกจากนี้  การสำรวจ 350 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ยังเป็นไปตามเขตพื้นที่ที่ กกต.กำหนดเอาไว้อีกด้วย ผู้วิจัยใช้ความเชื่อมั่นที่ 93% จำนวน 8,000 ตัวอย่าง ในการสำรวจครั้งที่ 1-5 และเพิ่มความเชื่อมั่นเป็น 95% จำนวน 16,000 ตัวอย่างในการสำรวจครั้งที่ 6

จากการสำรวจ 5 มีนาคม 2562 พบว่า มีผู้ตั้งใจจะไปเลือกตั้ง 81.95% ไม่ไปเลือกตั้ง 3.53% ยังไม่ตัดสินใจ 9.15% และไม่ออกความเห็น 5.37% และจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จำนวน 51.52 ล้านคน ผู้วิจัยใช้ตัวเลขประมาณการขั้นต่ำของผู้ออกมาใช้สิทธิ์อยู่ที่ 75% หรือ 38.65 ล้านคน อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิ์อาจอยู่ระหว่าง 75 – 80% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือระหว่าง 38.65 – 41.22 ล้านคน นักวิจัยได้สรุปและวิเคราะห์รังสิตโพลล์ทั้งหมดได้โดยสังเขปดังต่อไปนี้คือ :

1.จากการสำรวจคะแนนนิยมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของทุกพรรคการเมืองมาโดยตลอด พบว่า มีเพียงบุคคล 3 คนเท่านั้นที่มีคะแนนนิยมสูงสุดทั่วประเทศคือ 1) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2) คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ และ 3) คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากผลโพลล์พบว่า คะแนนนิยมส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ฯ  สูงกว่าคู่แข่งขันทุกคนทั้งก่อนและหลังการประกาศตัวเป็นผู้สมัครนายกรัฐมนตรีตลอด 10 เดือนเศษที่ผ่านมาคะแนนนิยมของทั้ง 3 คน ดีที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมและธันวาคม 2561 แต่เมื่อถึงเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งเป็นเดือนที่จะมีการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนแปลงคะแนนนิยมเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญคือ คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ฯ เริ่มนำห่างคู่แข่งขันคือคุณอภิสิทธิ์ฯ 4.32% และนำคุณหญิงสุดารัตน์ฯ 5.52% ความแตกต่างนี้เกิดขึ้นมากในช่วงเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม 2562 หรือก่อนการเลือกตั้งประมาณ 2 เดือน

คะแนนนิยมของคุณอภิสิทธิ์ฯ กับคุณหญิงสุดารัตน์ฯ ผลัดกันแพ้ – ชนะตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา ที่น่าสนใจคือผลโพลล์ในเดือนมีนาคม คุณอภิสิทธิ์ฯ กลับมานำคุณหญิงสุดารัตน์ฯ ราว 3% ได้สำเร็จ ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาสำคัญก่อนการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับคุณอนุทินฯ (ภท.) ที่เคยมีคะแนนนำคุณธนาธรฯ (อนค.) ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2561 แต่กลับมาแพ้ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2561 โพลล์ล่าสุดเดือนมีนาคม 2562 คุณอนุทินฯ กลับมาชนะคุณธนาธรฯ ได้ก่อนปิดหีบเลือกตั้ง

ตารางที่ 1 แสดงรายผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี 5 อันดับแรกที่มีคะแนนนิยมสูงสุด

2.ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง มีสัญญาณแสดงให้เห็นว่าผลการเลือกตั้งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ จากปัจจัยและสาเหตุดังต่อไปนี้คือ

     1) ท่าทีทางการเมืองของคุณอภิสิทธิ์ฯ คุณธนาธรฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ ตั้งแต่คุณอภิสิทธิ์ฯ ประกาศเป็นทางเลือกที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ฯ และไม่เอาเพื่อไทย ทำให้แฟนพันธุ์แท้ของ ปชป. ที่จำนวนมากเคยสนับสนุน พธม.และ กปปส. ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. ปริมณฑล และภาคใต้ รู้สึกผิดหวังอย่างแรง และอาจตัดสินใจทิ้ง ปชป. โดยหันไปเลือก พปชร. และ รปช.แทน เช่นเดียวกับท่าทีที่ชัดเจนของคุณธนาธรฯ   ที่ต้องการพาคุณทักษิณฯ กลับบ้าน และรื้อฟื้นคดีให้ใหม่ ทำให้คนชั้นกลางจำนวนมากที่เคยสนับสนุนคุณธนาธรฯ ตระหนักถึงความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ พวกเขาน่าจะถูกบีบบังคับให้ต้องหันกลับไปเลือกนายกรัฐมนตรีที่สามารถรักษาความสงบทางการเมืองได้แทน ท่าทีใหม่ของคุณอภิสิทธิ์ฯ และคุณธนาธรฯ ที่ส่งผลลบกับตัวเอง ประกอบกับการปรับท่าทีใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ฯ ให้ดูสุขุมเยือกเย็น และระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลให้คะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ฯ และ พปชร. ดีขึ้นตามไปด้วย

     2) คะแนนเสียงในระดับเขตเลือกตั้ง 92% หรือราว 320 เขต ยังมีโอกาสพลิกผันได้โดยตลอด   ทุกเขตเหมือนกันตั้งแต่ในช่วงก่อนจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง เพราะผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 ในการสำรวจโพลล์  ครั้งที่ 7 มีคะแนนเหนือผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 2 ไม่เกิน 5% ของคะแนนรวมในแต่ละเขตคือแพ้ชนะกันยังไม่เกิน 5,500 คะแนน มีจำนวนสูงถึงราว 320 เขตทั่วประเทศ สำหรับผู้ที่น่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมีคะแนนนำคู่แข่งระหว่าง 5,500 ถึงเกิน 15,500 คะแนนขึ้นไป หรือนำ 5% ของคะแนนรวมในแต่ละเขตมีเพียง 5% หรือประมาณ 30 เขตทั่วประเทศเท่านั้น กล่าวได้ว่าจนกระทั่งถึงวันนี้ยังไม่สามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่าพรรคไหนจะชนะการเลือกตั้ง และพรรคไหนจะได้กี่ที่นั่ง สิ่งที่อาจเป็นไปได้คือมีการเปลี่ยนแปลงผู้ชนะเลือกตั้งราว 50 – 100  ซึ่งจะทำให้ผลการเลือกตั้งพลิกโฉมหน้าไป

      3) ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าการขับเคลื่อนของพรรค พท. และ ปชป. เบาบางลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นมา เพราะในขณะนี้จำนวน ส.ส. เขตทั่วประเทศของทั้งสองพรรคที่คาดว่าจะได้รับจากการเลือกตั้ง มีมากกว่าจำนวนคะแนนที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสองพรรคน่าจะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว ดูจากคะแนนรวมทั่วประเทศในขณะนี้ พท. มีความเสี่ยงสูงกว่า ปชป. ที่จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

สิ่งที่พรรค พท. และ ปชป. ไม่ได้คาดคิดไว้ก็คือวิธีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อตามกฎหมายปัจจุบัน ที่ พท.ได้คะแนนรวม 5.87 ล้านเสียง หากคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อคนที่ 77,000 คะแนน พท.จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 76 คน แต่เนื่องจาก ส.ส.เขตของ พท.ที่คาดว่าจะได้ในขณะนี้คือ 128 เขต ดังนั้น พท.จึงจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว

สถานการณ์ของ ปชป. ใกล้เคียง พท. เพราะผลโพลล์ล่าสุด ปชป.ได้คะแนนรวมทั่วประเทศ 6.64 ล้านเสียง หากคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อคนที่ 77,000 คะแนน ปชป.ควรจะมี ส.ส.ได้จำนวน 86 คน แต่ในขณะนี้ ปชป.ได้ ส.ส.เขตแล้ว 86 คน ดังนั้น หากไม่มีสถานการณ์ใดที่เปลี่ยนแปลงไปจากในขณะนี้ ปชป. มีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียวเช่นเดียวกัน

สถานการณ์ของ พท. และ ปชป. ในขณะนี้คล้ายคลึงกัน เพราะถ้าหากรณรงค์หา ส.ส.เขตมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก็จะยิ่งลดน้อยลงตามไปด้วย

3.การรณรงค์หาเสียงในช่วง 10 วันสุดท้าย พปชร.จะกุมความได้เปรียบเหนือทุกพรรค เพราะผลโพลล์ล่าสุดพบว่า 1) ในเขต กทม. พปชร.ได้คะแนนนำอันดับ 1 อยู่ 5 เขต และอันดับ 2 อีก 18 เขต 2) ในภาคกลาง พปชร.ได้คะแนนอันดับ 1 อยู่ 36 เขต และอันดับ 2 อีก 40 เขต 3) ในภาคเหนือ พปชร.ได้คะแนนอันดับ 1 อยู่ 20 เขต และอันดับ 2 อยู่ 29 เขต 4) ภาคอีสาน พปชร.มีคะแนนอันดับ 1 อยู่ 27 เขต และอันดับ 2 อยู่ 75 เขต 5) ภาคใต้ พปชร.มีคะแนนอันดับ 1 อยู่ 6 เขต และอันดับที่ 2 อีก 38 เขต รวม พปชร.ได้คะแนนอันดับที่ 2 ทั่วประเทศ อยู่ประมาณ 200 เขต

ส่วน พท. มีคะแนนอันดับที่ 2 อยู่ที่ภาคกลาง 24 เขต เหนือ 14 เขต อีสาน 25 เขต รวม 63 เขต ปชป. มีคะแนนอันดับที่ 2 อยู่ที่ กทม. 7 เขต ภาคกลาง 12 เขต เหนือ 8 เขต อีสาน 8 เขต และใต้ 9 เขต  รวมเป็น 44 เขต  ประมาณการว่า พปชร.จะสามารถกลับมามี ส.ส.เขตมากที่สุดจากภาคกลางที่น่าจะได้เพิ่มขึ้นอีก 3 – 4 เขต ภาคเหนือเพิ่มขึ้นอีก 5 – 10 เขต และภาคอีสานจะเพิ่มขึ้นอีกราว 10 – 15 เขต ทำให้ ส.ส. เขตของ พปชร.จะอยู่ราว 110 – 130 ที่นั่ง เขตที่ได้เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่มาจากเขตของ พท. ซึ่งคาดว่า พท.จะมี ส.ส.เขตลดลงจาก 128 เขต เหลือระหว่าง 100 – 110 ที่นั่ง

จากการประเมินข้างต้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีและ   เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนจาก พปชร.ระหว่าง 110 – 130 ที่นั่ง และเป็นรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนจาก  พรรคพันธมิตรระหว่าง +-280 – 300 เสียง ในขณะที่ พท. และพันธมิตรที่เป็นฝ่ายค้านจะมีเสียงในสภาฯ +-180 -190 ที่นั่ง

Previous post เชอร์วู้ด” เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “ทีโพล์ เพียว
Next post กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญผู้ประกอบการส่งออก ชิงรางวัล PM Export Award 2019
Social profiles