โครงการ CHAMP Engineering ครั้งแรก เสริมทักษะด้านความคิด เพื่อความพร้อมด้านบุคลากร

Read Time:3 Minute, 11 Second

สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการจัดโครงการ CHAMP Engineering ครั้งแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร ด้านวิศวกรรม ให้สามารถเข้าสู่ระบบได้ทันที มีความรู้ในด้านอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมที่จบออกมา ซึ่งเป็นแรงงานที่มีทักษะ และตรงความต้องการของตลาด การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรที่ต้อง Reskill สู่แรงงานที่มีคุณภาพ  คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ จึงน่าจะเป็นต้นแบบที่ดี ของสถาบันอื่น ๆ โดยเริ่ม Mentor Ship ตั้งแต่ปี 3-4 ซึ่ง Mentor จะทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำเส้นทางการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต เป็นแบบอย่างของการถ่ายทอดประสบการณ์สู่นักศึกษา โดยดึงผู้บริหารระดับสูงรุ่นพี่วิศวฯ แนะแนวทาง เสริมทักษะด้านความคิด แลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินชีวิตในการทำงาน หลังเรียนจบ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานในปัจจุบัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการ CHAMP Engineering ของคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ได้เปิดโครงการและประสบความสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งโครงการนี้ได้นำรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่า คณะวิศวฯ จุฬาฯ และประสบความสำเร็จเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรระดับประเทศ หลายหลากสาขาอาชีพ อาทิ ด้านอุตสาหกรรม การเงิน อสังหาริมทรัพย์ ไลฟ์สไตล์ เป็นต้น มาให้คำปรึกษา แนะแนวทางในการทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม ให้กับนิสิต นักศึกษา ในระดับชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 72 คนเป็นระยะเวลา 6 เดือน(ตุลาคม 2561-มีนาคม 2562)

“การจัดโครงการในครั้งนี้ เป็นนำประสบการณ์การทำงานในอาชีพต่างของรุ่นพี่ถ่ายทอดสู่รุ่นน้องที่กำลังจะจบการศึกษา เพื่อน้องๆ มีข้อมูลและแนวทางประกอบการตัดสินใจประกอบอาชีพของตนเองในอนาคต ว่าในการทำงานจริงเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้น้องๆสามารถลดระยะเวลาในการเรียนรู้งานจริงได้ พร้อมกับการตัดสินในการประกอบอาชีพของตนเอง รวมทั้งการทำโครงการดังกล่าว ยังทำให้ทราบว่า เด็กรุ่นใหม่ที่กำลังจะจบการศึกษามีความคิดที่เปิดกว้างมากกว่าในอดีต และการใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไป น้องๆมีความสนใจในการทำงานที่หลากหลายมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็น ในระบบอุตสาหกรรม การทำธุรกิจส่วนตัวและการทำงานเพื่อสังคม ซึ่งเป็นการสะท้อนความคิดให้กับรุ่นพี่ได้นำไปปรับใช้ในการบริหารงานได้ด้วยเช่นกัน”

รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันความต้องบุคลากรเพื่อทำงานในระบบได้เปลี่ยนแปลงอย่างมาก นอกจากตลาดแรงงานต้องการบุคลากรที่มีทักษะในวิชาชีพแล้ว ยังต้องการบุคลากรที่มีความพร้อมในด้านอื่นๆ ทั้งการสื่อสาร การมีความคิดสร้างสรรค์ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อในการทำงาน จึงทำให้คณะวิศวฯ จุฬาฯ ต้องมีการปรับแผนการเรียนการสอนจากเดิมที่เน้นเนื้อหาด้านทฤษฎี หรือวิชาการ มาเป็นการเรียนการสอนที่นิสิต นักศึกษาสามารถแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น มีความคิดนอกกรอบในการทำงาน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการทำงานให้มีประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ และกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานโครงการ CHAMP Engineering กล่าวว่า โครงการนี้มีส่วนสำคัญต่อการแนวทางการดำเนินชีวิตหลังจากจบมหาวิทยาลัย ในการเลือกอาชีพได้ที่จะตรงกับความต้องการของตนเอง ซึ่งขณะนี้ แนวคิดการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม ที่เคยจบสาขาใด มุ่งไปประกอบอาชีพให้ตรงกับสิ่งที่เรียนมา แต่ปัจจุบัน ความหลากหลาย และความต้องการและแนวคิดของคนรุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไป เปิดกว้างในการประกอบอาชีพมากขึ้น ดังนั้นการสร้างมุมมอง และอาชีพที่หลากหลายโดยศิษย์รุ่นพี่ เป็นการเปิดประสบการณ์โดยตรงให้กับนิสิตได้รู้ ว่าสิ่งที่คิดสอดคล้องกับการทำงานในยุคปัจจุบันหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เสียโอกาสและเวลาการทำงานของนิสิตมากเกินไปสามารถประกอบอาชีพที่ตนเองถนัดได้

Previous post BSC นำสินค้าคุณภาพจากประเทศไทยให้ชาวจีนได้สัมผัส ในงาน CBE 2019
Next post SKECHERS Friendship Walk 2019 พร้อมเปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย
Social profiles