ขนมทานเล่น ผลงาน นศ.ฟู้ดเทค กวาดรางวัลเวที “Food Innopolis Innovation Contest 2020”

Read Time:2 Minute, 26 Second

ผลิตภัณฑ์ขนมทานเล่น “บก บก บาร์” ผลงานนักศึกษาคณะเทคโนโลยีอาหาร คว้ารางวัลชนะเลิศและรางวัลความเป็นไปได้สูงสุดเชิงธุรกิจ ประเภท Local Ingredient จากเวที “Food Innopolis Innovation Contest 2019/20”

นางสาวกฤษณา หางนาค นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร คณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนเพื่อนๆ เล่าว่า พวกเราส่งผลงานเข้าประกวดในเวที “Food Innopolis Innovation Contest 2019/20” ซึ่งแบ่งหัวข้อการส่งผลงานเข้าประกวดเป็น 2 หัวข้อ คือ 1. Future Protein Innovation (โปรตีนทางเลือก)  และ 2. Local Ingredient (วัตถุดิบพื้นถิ่น) โดยเราส่งผลงานเข้าประกวดในหัวข้อ  Local ingredient โดยนำ กระบก พืชพื้นถิ่นของภาคอีสานพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า กระบกมีคุณค่าทางโภชนาการสูง  ประกอบไปด้วยไขมันดีที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสมองและบำรุงหัวใจ รูปร่างของกระบกจะคล้ายอัลมอนด์สไลด์ แต่รสชาติจะออกมันเหมือนแมคคาเดเมีย ซึ่งหลังจากที่เราได้วัตถุดิบแล้วจึงทำแบบสำรวจความต้อการของผู้บริโภคว่าอยากรับประทานผลิตภัณฑ์ใดจากกระบก เช่น ผงโรยข้าว คุกกี้  สเปรด นมกระบก และขนมทานเล่น ผลโหวตออกมาเป็นขนมทานเล่น เราจึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขนมทานเล่น “บก บก บาร์”

การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นวิชาเรียนของคณะเทคโนโลยีอาหารอยู่แล้ว ซึ่งการที่เราส่งผลงานเข้าประกวดจะทำให้เราได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม Workshop ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ต่างสถาบัน มีโค้ชคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อธุรกิจในอนาคต การคำนวณต้นทุน การทำการตลาด แนะนำวิธีการนำเสนอ ฯลฯ หลังจากนั้นให้เรากลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ วันประกวดจึงนำผลงานไปจัดแสดงโดยเปิดให้ผู้ที่สนใจ นักธุรกิจ เข้ามาชมและชิมผลิตภัณฑ์ นำเสนอผงลานบนเวทีให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งทีมของเราได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภท Local Ingredient และรางวัลความเป็นไปได้สูงสุดเชิงธุรกิจ จากโครงการประกวด “Food Innopolis Innovation Contest 2019/20”

“การส่งผลงานเข้าประกวดถือเป็นความท้าทายและเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเรา ผลิตภัณฑ์จากโรงงานต้นแบบของคณะเทคโนโลยีอาหาร สู่การประกวดในเวทีระดับชาติ พวกเราภาคภูมิใจมากๆ ที่สามารถนำกระบก พืชพื้นถิ่นที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักมาทำเป็นขนมทานเล่นให้คนรู้จักมากขึ้น ซึ่งภายในงานทั้งคณะกรรมการและผู้ร่วมงานที่ได้ชิมผลิตภัณฑ์ของเราต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อย” แค่นี้พวกเราก็ดีใจมากๆ แล้ว ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์และประสบการณ์ใหม่ๆ ให้พวกเราเป็นอย่างมาก เราสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนี้มาใช้ได้จริงในเรื่องเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคต”

เทคโนโลยีอาหาร เป็นวิชาชีพที่มีประโยชน์และเป็นความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศของเรามีอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ที่ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายภายในประเทศและส่งไปขายยังต่างประเทศ เพราะอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิต เพราะฉะนั้นสาขานี้จึงเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

เจ้าของผลงาน

นางสาวโรสมาเรีย ฮูลูสา นางสาวนางสาวลลิตา แซ่เหยา นางสาวกฤษณา หางนาค นางสาวกุลธิดา เกษศิริ และนางสาวนัสรีญย์ ซาเฮะเด็ง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร และสาขาวิชาธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร คณะเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต

Previous post Google แนะนำช่วยธุรกิจขนาดเล็ก เตรียมรับมือ กับ COVID-19
Next post ธอส.เปิดบริการ 17 สาขาในห้างสรรพสินค้า ในกรุงเทพมหานครและ 5 จังหวัดปริมณฑล ตั้งแต่วันพรุ่งนี้(24 มีนาคม 2563)
Social profiles