นวัตกรรม ชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” คว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 65

Read Time:2 Minute, 59 Second


สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ก็คงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ยอดผู้ป่วยโดยรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลายประเทศทั่วโลก ขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ แต่ท่ามกลางวิกฤติ ก็มีนวัตกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เกิดขึ้นเช่นกัน รองศาสตราจารย์ ดร. สัญชัย พยุงภร และคณะ ได้คิดค้น ชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” โดยใช้เทคนิค RT-RPA และ CRISPR-Cas12a ในการตรวจ หากพบสารพันธุกรรมที่จำเพาะต่อเชื้อ SARS-CoV2 จะเกิดการเรืองแสง ก็จะสามารถตรวจวัดได้ด้วยโทรศัพท์มือถือที่มีโปรแกรมในการประมวลผลอย่างรวดเร็วด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประสิทธิภาพในการตรวจเทียบเท่าวิธีมาตรฐานสากล


รองศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย พยุงภร อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” มีราคาไม่แพง เครื่องมือไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย สามารถตรวจคัดกรองนอกสถานที่ อีกทั้งได้รับการประเมินรับรองและอนุญาตให้ผลิต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เลขที่ T6400049 จึงมีประโยชน์ในการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างแพร่หลายทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งส่งผลให้สามารถควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนประกอบของนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน”ประกอบด้วย ชุดน้ำยาโควิด-19 สแกนที่มีประสิทธิภาพ (ความแม่นยำ 98.78%) ใกล้เคียงกับ Real-time PCR ที่เป็นเทคนิคมาตรฐาน และโทรศัพท์มือถือที่มีโปรแกรมประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว ส่วนวิธีการใช้ เริ่มจากเก็บตัวอย่างน้ำลาย แล้วสกัด RNA ด้วยวิธีที่เหมาะสม ต่อมาแปลงสารพันธุกรรมจาก RNA เป็น cDNA ด้วยวิธี Reverse transcription และเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมแบบ isothermal amplification ด้วยวิธี recombinase polymerase amplification (RPA) จากนั้นตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส SARS-CoV-2 ได้อย่างจำเพาะด้วยระบบ CRISPR-Cas12a หากตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 จะเกิดการเรืองแสง (fluorescence) ซึ่งสามารถตรวจวัดได้โดยการใช้โทรศัพท์มือถือ ที่ติดตั้งระบบให้สัญญาณแสง จากนั้นถ่ายรูปการเรืองแสงด้วยโทรศัพท์มือถือที่มีโปรแกรม ในการส่งรูปไปประมวลผลในระบบฐานข้อมูล แล้วสรุปผลการตรวจกลับมาแสดงผลในหน้าจอของโทรศัพท์มือถือ และส่งผลไปยัง E-mail ของผู้ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว

รองศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย พยุงภร อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” ได้นำไปทดลองใช้งานจริง ในรถพระราชทาน (รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ) สำหรับการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนจุฬาฯ นอกจากนี้ มีหน่วยงานอื่นๆ เช่น ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และ หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยทันตกรรม โรงพยาบาลสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ได้นำไปใช้เพื่อตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ผลปรากฏว่าชุดตรวจ “โควิด-19 สแกน” สามารถช่วยในการตรวจคัดกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตอนนี้ความพร้อมของนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” อยู่ในระดับ TRL-9 โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ บริษัทไมโคร อินเจคชั่น จำกัด เป็นผู้ผลิตชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ต่อไป ทั้งนี้โรงพยาบาล หน่วยงานทางการแพทย์ หรือบริษัทที่สนใจชุดตรวจคัดกรอง “COVID-19 SCAN” โปรดสอบถามรายละเอียดได้ที่ http://www.covidscan.tech/ หรือติดต่อ บริษัท ไมโคร อินเจคชั่น จำกัด อีเมล covid19scan@bkf.co.th


สำหรับ นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรอง “โควิด-19 สแกน” ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก ประจำปี 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2565

Previous post หัวเว่ย ผนึก ช้อปปี้ ส่งโปรปังสมาร์ทโฟนเรือธงแห่งปี HUAWEI P50 Pro และ HUAWEI P50 Pocket ได้ในแคมเปญ Shopee 2.2 Cashback Sale
Next post ห้างโรบินสัน และศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ต้อนรับตรุษจีนปีขาล ในงาน “ROBINSON / ROBINSON LIFESTYLE THE GREAT CHINESE NEW YEAR”
Social profiles