กิจกรรมเฉลิมฉลอง ครบรอบ ๑๕๐ ปี การสถาปนาเมืองมหาสารคาม

Read Time:2 Minute, 24 Second

จังหวัดมหาสารคาม ตอนกลางของภาคอีสาน จังหวัดที่มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันยาวนาน ดั่งหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีชุมชนโบราณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนบ้านเชียงเหียน หมู่บ้านปั้นหม้อ ของชาวบ้านหม้อ ตำบลเขวา และสถานที่สำคัญทางศาสนา พระธาตุนาดูน กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน กู่บ้านแดง อำเภอวาปีปทุม ปรางค์กู่ ตำบลเขวา อำเภอเมืองมหาสารคาม

ณ วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๐๘ ท้าวมหาชัย (กวด) พาผู้คนออกจากเมืองร้อยเอ็ดมาทางทิศตะวันตก ประมาณ ๑,๐๐๐ เส้น หยุดตั้งอยู่บริเวณที่ดอน แต่ราษฎรนิยมเรียกว่า “วัดข้าวฮ้าว” อยู่ได้ประมาณ ๖ เดือน เห็นว่าขาดแคลนแหล่งนำ้ จึงย้ายมาตั้้งอยู่ระหว่างกุดยางใหญ่ กับหนองทุ่ม ซึ่งเป็นชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่บ้างแล้ว  คือ บ้านจาน ประกอบกับห่างออกไปเล็กน้อย ก็เป็นห้วยตะคาง จึงนับเป็นชัยภูมิที่มีแหล่งนำสมบูรณ์ เมืองสารคามเมืองแรกตั้งอยู่ในความดูแลบังคับบัญชาของ “พระขัติยวงษา(จัน)” เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นผู้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอรับพระราชทาน “บ้านลาด กุดยางใหญ่” เป็นเมืองของท้าวมหาชัย (กวด) ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระเจริญราชเดช” ที่คือ ปฐมบทของการก่อตั้งเมืองสารคาม ซึ่งสืบสานคุณค่าอันงดงามของแผ่นดินสู่ปัจจุบัน ณ วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ เป็นเวลา ๑๕๐ ปี

จังหวัดมหาสารคาม ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน จัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง “โรจน์ฟ้า ๑๕๐ ปี มหาสารคาม แผ่นดินเรืองงามใต้ร่มพระบารมี” ในวันที่ ๒๑ – ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘

วันศุกร์ที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

พิธีบวงสรวงมเหศักดิ์หลักเมือง ณ บริเวณศาลหลักเมือง

การประกวด “หนุ่มเมืองมหา” ณ เวทีพิธีการและการแสดง (บริเวณลานหน้าที่ว่าการ อำเภอเมืองมหาสารคาม)

พิธีมอบรางวัล “คนดีศรีมหาสารคาม” จำนวน ๑๕๐ คน ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

วันเสาร์ที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

พิธีวางพวงมาลาสักการะพระเจริญราชเดช (ท้าวกวด) และพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศแด่บรรพบุรุษผู้สร้างเมืองมหาสารคาม ณ บริเวณสวนหนองข่า

พิธีเปิดงานเฉลิมฉลอง ๑๕๐ ปี มหาสารคาม ณ บริเวณหอนาฬิกา ซึ่งเป็นไฮไลท์ของงาน นั่นคือ การฟ้อนเฉลิมฉลองของชุมชน ๑๓ อำเภอ กว่า ๔๐,๐๐๐ คน บนถนน ๔ เส้น จาก ๔ ทิศ (เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก) ที่มุ่งหน้าเข้าสู่ใจกลางเมืองมหาสารคาม

พิธีจุด “โคมดอกจำปาขาว” (ดอกลีลาวดีสีขาว) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำเมืองมหาสารคาม ณ บริเวณหน้าอุทยานการเรียนรู้มหาสารคาม

การแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไหมอีสาน ชุด “เส้นสายลายศิลป์ ภูมิแผ่นดิน ๑๕๐ ปีมหาสารคาม”

วันอาทิตย์ที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

การประกวด “ธิดาสร้อยดอกหมาก” ณ เวทีพิธีการและการแสดง (บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองมหาสารคาม)

Previous post ไมตรี ลิมปิชาติ หนึ่งในนักเขียนชื่อดังกับความมุ่งมั่น… สู่ความสำเร็จ
Next post เปิดวิสัยทัศน์ อธิบดีสมชาย เจริญอำนวยสุข กับภารกิจในกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
Social profiles