ไทยขึ้นทะเบียน “ยาทาเฟโนควิน” รักษาโรคมาลาเรียชนิดเชื้อไวแว็กซ์ แบบหายขาด

Read Time:3 Minute, 43 Second

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ทุกวันที่ 25 เมษายนของทุกปีเป็นวันมาลาเรียโลก สำหรับประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการป้องกัน ควบคุม รักษา และกําจัดโรคมาลาเรียอย่างเข้มแข็ง ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติการจดทะเบียนยาทาเฟโนควิน (Tafenoquine) ยาเม็ดขนาด 150 มก. เพื่อใช้รักษาโรคมาลาเรียจากเชื้อพลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ แบบหายขาด โดยสามารถป้องกันไข้กลับในผู้ป่วยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป

แพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการรับมือกับโรคมาลาเรียตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ จากรายงานในปี 2561 พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียประมาณ 5,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปี 2559 อย่างไรก็ตาม เชื้อมาลาเรียชนิดพลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ (P. vivax) ได้กลายเป็นสาเหตุหลักของผู้ป่วยโรคมาลาเรียในไทยในปัจจุบันแทนเชื้อพลาสโมเดียม ฟาลซิพารัม (P. falciparum) ซึ่งเคยเป็นสาเหตุหลักมาก่อน โดยผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ร้อยละ 85 เป็นผู้ติดเชื้อ P. vivax ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามที่จะกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทย ดังนั้น เราจึงต้องหาหนทางใหม่ ๆ เพื่อจัดการกับปรสิตชนิดนี้ และกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การใช้ยาทาเฟโนควินควบคู่กับการทดสอบเอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต-ดีไฮโดรจีเนส (G6PD) จะเป็นแนวทางที่ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายที่วางไว้”

การอนุญาตการใช้ยาทาเฟโนควินในประเทศไทยครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่สนับสนุนให้ยาทาเฟโนควินสามารถเข้าถึงผู้ป่วยครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากยิ่งขึ้น เนื่องจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่พบเชื้อมาลาเรียชนิด P. vivax ในอัตราส่วนสูงสุด โดยยาทาเฟโนควินเป็นยาที่ได้รับการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาโดยบริษัท  แกล็กโซสมิทไคล์น หรือ GSK และ Medicines for Malaria Venture หรือ MMV และได้รับการอนุญาตให้ใช้เป็นครั้งแรกโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US Food and Drug Administration) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 และสำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์รักษาโรคแห่งออสเตรเลีย (Australian Therapeutic Goods Administration) ในเดือนกันยายน 2560

ยาทาเฟโนควิน เป็นยาแบบรักษาหายขาดและสามารถป้องกันไข้กลับจากเชื้อมาลาเรียชนิด P. vivax นับเป็นจุดเด่นที่เหนือกว่ายาพรีมาควิน (Primaquine) ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยผู้ป่วยในไทยได้รับคำแนะนำให้ทานยาพรีมาควินติดต่อกันนาน 14 วัน สำหรับยาทาเฟโนควินเป็นยาที่ใช้ครั้งเดียว แต่ก่อนการรับประทานยา ผู้ป่วยต้องผ่านการตรวจภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่ในการปกป้องเซลล์เม็ดเลือดแดง เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะขาดเอนไซม์ G6PD อาจแสดงอาการที่ไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรงจากการใช้ยา อาทิ ภาวะซีดหรือโลหิตจางเฉียบพลันจากเม็ดเลือดแดงแตกในระหว่างการรักษา

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีแผนจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการตรวจภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ณ จุดดูแลผู้ป่วยในการรักษาโรคมาลาเรียด้วยยาทาเฟโนควิน ภายใต้ระบบบริการสาธารณสุขไทยในเร็ว ๆ นี้ โดยการสนับสนุนจาก MMV ซึ่งผลการศึกษาจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการขยายการใช้วิธีใหม่ ๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียในประเทศไทย

ดร. เดวิด เรดดีย์ ซีอีโอของ MMV กล่าวว่า “การรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียที่มีการกลับมาเป็นไข้ซ้ำ (relapse) เป็นปัญหาทั่วโลก มีค่าใช้จ่ายในระดับสูง และแม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จจากการจัดการเชื้อมาลาเรียชนิด P. falciparum ในเอเชียแปซิฟิก แต่กลับพบผู้ป่วยโรคมาลาเรียจากการติดเชื้อ P. vivax ในอัตราเพิ่มขึ้น ดังนั้น การอนุญาตให้ใช้ยาทาเฟโนควินเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นไข้ซ้ำจากเชื้อ P. vivax ในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และเนื่องจากเป็นยารักษาโรคที่ใช้เพียงครั้งเดียว จึงเพิ่มโอกาสที่ผู้ป่วยจะรับยาอย่างครบถ้วนมากกว่าต้องทานยาพรีมาควิน 14 วัน  ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิกประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดสิ้นได้ในเร็ววัน”

“GSK มีความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับโรคมาลาเรีย โดยการศึกษาวิจัยและค้นคว้ายาและวัคซีนใหม่ ๆ ในห้องปฏิบัติการของบริษัท เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายด้านสาธารณสุขในระดับโลก ด้วยข้อได้เปรียบของความร่วมมือจากพันธมิตรที่แข็งแกร่งในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข MMV และ GSK การอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนยาทาเฟโนควินในประเทศไทย นับเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งในการต่อสู้กับโรคติดเชื้อต่าง ๆ ในโลกที่กำลังพัฒนา ซึ่ง GSK จะมุ่งมั่นในการหาแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาดังกล่าวนี้อย่างทั่วถึงในประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในระดับโลกที่จะกำจัดโรคมาลาเรียให้สูญสิ้น”

Previous post M-150 ส่งมอบเงิน 2 ล้านบาทจากไลน์แต้มเอ็ม ให้ 4 โรงพยาบาลสู้ภัยโควิด
Next post KTB เปิดตัวแคมเปญ #ร้านข้างทางต้องอยู่ข้างกัน
Social profiles